เอเจนซี่ - แม่น้ำจินซา ซึ่งอยู่ที่ตอนใต้ของจีนถูกปิดกั้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 ธ.ค.) เพื่อเปิดทางสำหรับการก่อสร้างโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งล่าสุดบนลุ่มน้ำแยงซีเกียง ซึ่งถือเป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่อันดับที่ 3 ของจีน
โครงการเขื่อนเซี่ยงเจียป้า มูลค่า 43,400 ล้านหยวน (6,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2015 โดยจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 30,700 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง
“ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะขายให้กับพื้นที่บริเวณตะวันออก,ใต้ และกลางของจีน โดยมณฑลยูนานและซื่อชวน(เสฉวน)ก็จะได้รับประโยชน์ด้วย” หลี หย่งอัน ผู้จัดการของบริษัทพัฒนาโครงการเขื่อนสามโตรก ลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Three Gorges Project Development Corporation) ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้ด้วยกล่าว
โครงการเซียงเจียป้า เป็นหนึ่งในโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลายแห่ง ที่ทางการจีนวางแผนจะสร้างในลำน้ำจินซา เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ป้อนให้เขตเศรษฐกิจพื้นที่มณฑลริมชายฝั่งทะเล โดยแม่น้ำจินซา ซึ่งมีความยาว 2,290 กม. เป็นสาขาที่ยาวที่สุด ของแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ที่ทิวเขาทังกูลา และไหลผ่านมณฑลชิงไห่, ทิเบต,ยูนนาน และซื่อชวน โดยบริเวณกลางน้ำและปลายน้ำที่มีปริมาณน้ำสูงสุด จะเป็นพื้นที่ที่ทางการจีนวางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 12 โรง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 59.08 ล้านกิโลวัตต์
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องสร้างเขื่อนเซี่ยงเจียป้า ก็คือ เขื่อนสามโตรกกำลังเผชิญกับปัญหาตะกอนที่ไหลลงเขื่อนจำนวนมากถึง 330 ล้านตันต่อปี ซึ่งตะกอนกว่าครึ่งหนึ่งมาจากแม่น้ำจินซา และวิธีที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหานี้ คือ การสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำเพื่อดักตะกอนเอาไว้ โดยเขื่อนเซี่ยงเจียป้า นอกจากจะใช้ผลิตไฟฟ้าได้แล้ว ก็ยังใช้เพื่อการชลประทาน และป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโครงการนี้ ก็คือ ผู้คนประมาณ 125,100 ที่อาศัยในมณฑลยูนนานและซื่อชวน (เสฉวน) จะถูกอพยพเพื่อเปิดทางสำหรับโครงการสร้างเขื่อนนี้ แต่ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ที่ตั้งของตัวเขื่อนที่อยู่ในแนวเขตแผ่นดินไหว ตั้งแต่ทางตะวันตกของมณฑลซื่อชวน ไปถึงทางตะวันออกของยูนนาน
“แม่น้ำจินซา มีภูมิศาสตร์ที่ไม่ดี โดยมีแนวแผ่นดินไหวรุนแรงอยู่บริเวณต้นน้ำของเขื่อนเซี่ยงเจียป้า ซึ่งในบริเวณนี้ไม่ควรมีเขื่อนใดๆทั้งสิ้น” นักธรณีวิทยาชาวจีนในซื่อชวนคนหนึ่ง กล่าว
นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจมีต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะ แพนด้ายักษ์ ที่มีแหล่งที่อยู่ที่มณฑลซื่อชวน แต่ ยู่ เจียนฉิว รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์แพนด้ายักษ์แห่งเมืองเฉิงตู บอกว่า ไม่พบผลกระทบใดๆ เพราะโครงการเขื่อนทั้งหมดตั้งอยู่ที่ลำน้ำแยงซี ซึ่งไกลจากที่อยู่ของแพนด้ายักษ์
ทั้งนี้ โครงการเขื่อนขนาดใหญ่ของจีน โดยเฉพาะเขื่อนสามโตรก ได้รับการวิจารณ์อย่างมาก ว่าเกิดจากแรงผลักดันทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านต่างๆมากเพียงพอ
“โครงการเขื่อนสามโตรกเป็นโอกาสทองของบริษัทผู้พัฒนาโครงการ ที่จะก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในจีน โดยบริษัทดังกล่าวมีอดีตผู้นำระดับสูง เช่น อดีตนายกรัฐมนตรีหลี่เผิง มีส่วนร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คณะรัฐมนตรีจะอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อน โดยพูดถึงแต่เฉพาะด้านที่ดี และละเลยด้านมืดของมัน” มู่ หลาน บรรณาธิการโครงการวิจัยปัญหาจากเขื่อนสามโตรก ที่มีฐานอยู่ที่เมืองโตรอนโต กล่าว