xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แผ่นดินไหวเสฉวน เพิ่มโอกาสอีกเท่าตัวในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายมุมสูงเหนือเมืองเวิ่นชวน ในมณฑลเสฉวน หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงเมื่อเดือนพฤษภาคม - รอยเตอร์
เอเจนซี - นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ชี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในมณฑลซื่อชวน หรือเสฉวนเพิ่มแรงกดดันแนวรอยเลื่อนใหญ่ 3 แนวบริเวณที่ราบสูงทิเบต และเพิ่มความเป็นไปได้อีกเท่าตัวในการเกิดแผ่นดินไหวครั้งมหากาฬในบริเวณดังกล่าว

นักสำรวจธรณีวิทยาแห่งสำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐฯระบุ เหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรงขนาด 7.9 ริกเตอร์ ที่มีจุดศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือนที่เวิ่นชวนเมื่อ 12 พฤษภาคม ซึ่งทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 70,000 คนนั้น  ได้ส่งผลกระทบต่อแนวรอยเลื่อนหลัก ในบริเวณใกล้เคียงได้แก่ ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต 

ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนักธรณีวิทยากล่าวว่า ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับปรากฏการณ์โดมิโนเอฟเฟค เมื่อการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกสองแผ่นเข้าชนกัน จึงทำให้แผ่นเปลือกโลกอีกแผ่นยกตัวหรือขยับตัว ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันแผ่นดินไหว

แผ่นดินไหวที่เสฉวนเกิดขึ้นตามรอยเลื่อนหลงเมินซัน และจากการชนกันของแนวรอยเลื่อนนี้ได้ไปเพิ่มแรงดันแก่รอยเลื่อนใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปในระยะ 150 – 450 กิโลเมตรได้แก่ เซียนสุ่ยเหอ รอยเลื่อนคุนหลุน และรอยเลื่อนหมิ่นเจียง  โดยนักธรณีวิทยาคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า รอยเลื่อนเหล่านี้ มีโอกาส 57- 71 %ที่จะเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงอย่างน้อย 6 ริกเตอร์

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ในอีก 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นจาก 8 % เป็น 12 % และในอีก 30 ปีข้างหน้า โอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงเดียวกันนี้ เพิ่มขึ้นจาก 23 % เป็น 30 %

ทั้งนี้ แผ่นเปลือกโลกในที่ราบสูงของทิเบตเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อการเกิดแผ่นดินไหวสูงแห่งหนึ่งในโลก และเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อคหลายครั้งที่ต่อเนื่องกันในมณฑลเสฉวนเมื่อวันที่ 1 และ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นไปตามการพยากรณ์ของกลุ่มนักธรณีวิทยา ที่ทำการวิจัยร่วมระหว่างประเทศชิ้นนี้ ซึ่งนำทีมโดย ชินจิ โทะดะ แห่งการสำรวจทางธรณีวิทยาญี่ปุ่น สำหรับผู้วิจัยร่วมอื่นๆได้แก่ นักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์ Woods Hole Oceanographic Institution (WHOI) แห่งสหรัฐอเมริกา, สถาบันธรณีฟิสิกส์ ในสตราบูร์จ ฝรั่งเศส, การสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐฯ การสำรวจชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ในเวอร์ชั่นออนไลน์ของ Geophysical Research Letters.
กำลังโหลดความคิดเห็น