เติ้ง เสี่ยวผิงสถาปนิกการปฏิรูป เปิดประเทศจีน ผู้พลิกสังคมจีนจากชาติแดนสนธยา ที่ถูกปิดสนิทด้วยม่านไม้ไผ่เหล็กอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมใหญ่ ของ“แก๊ง 4 คน” ระหว่างปีค.ศ. 1967-1976 ที่ปฏิเสธและโจมตีวิถีของลัทธิที่แตกต่างออกไปอย่างระบบทุนโดยสิ้นเชิง ยามนั้นแผ่นดินใหญ่อุปมาดั่งยืนอยู่บนปากเหวแห่งความหายนะ การพัฒนาด้านต่างๆหยุดนิ่ง ตกอยู่ในทางตัน
เติ้ง เสี่ยวผิงได้ประกาศแนวคิดการปฏิรูปในเดือนธันวาคม ปี 1978 บุกเบิกเส้นทาง ที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดินใหญ่ สู่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ และเป็นที่กล่าวขวัญของโลก กระทั่งมาถึงจุดที่จีนกำลังทะยานสู่ชาติอำนาจใหญ่บนเวทีโลก ณ วันนี้
คงไม่มีคำพูดที่สะท้อนจิตวิญญาณและความคิดในการปฏิรูปเปิดประเทศของจีน ได้ดีกว่า คำกล่าวของเติ้ง เสี่ยวผิง ระหว่างเยี่ยมเยือนเขตเศรษฐกิจภาคใต้ ในปี 1992 หรือปี พ.ศ. 2535
ณ วันที่ 1 มกราคม ถึง 21 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1992 เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจภาคใต้จีน ได้แก่ อู่ชาง เซินเจิ้น จูไห่ เซี่ยงไฮ้ และได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญ อันนับเป็นใจกลางของกระบวนการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าทางสังคม
นำเติ้งย้ำว่า การปฏิรูป เปิดประเทศ จะต้องมีความกล้าหาญมากขึ้น โดยเมื่อใคร่ครวญอย่างดีแล้ว ก็กล้าที่จะทดลอง กล้าเสี่ยงที่จะบุกทะลวงไปข้างหน้า หากไร้ซึ่งจิตวิญญาณในการบุกทะลวงไปข้างหน้า ไร้ซึ่งจิตวิญญาณในการ “เสี่ยง” ก็มิอาจบรรลุถึงเส้นทางใหม่ที่ดี มิอาจบุกเบิกกิจการใหม่ๆ เกรงว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ระบบต่างๆที่วางไว้ ณ วันนี้ ก็เพิ่งจะปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง เพิ่งจะบรรลุวุฒิภาวะขึ้นมาหน่อย นโยบาย และทิศทางของระบบที่วางไว้ในวันนี้ ก็จะเริ่มเข้าที่เข้าทางที่จะพัฒนาต่อไป
เติ้งกล่าวว่า การปฏิรูป เปิดประเทศ ที่มิอาจก้าวเดินออกไป มิกล้าเสี่ยงบุกทะลวงไปนั้น ก็เพราะมัวคิดมากเรื่องลัทธิทุนนิยม เมื่อเดินไปบนเส้นทางของลัทธิทุนนิยมแล้ว ก็จะทำลายนามสกุล “ทุน” หรือนามสกุล “สังคม” กระนั้นหรือ มาตรฐานการตัดสินควรที่จะอยู่ที่เส้นทางที่ดำเนินไปนั้น จะเป็นคูณูปการแก่การพัฒนาพลังการผลิตของสังคมนิยมหรือไม่ จะเสริมสร้างพลังทั้งมวลของชาติลัทธิสังคมนิยมหรือไม่ จะช่วยยกระดับมาตรฐานชีวิตของประชาชนหรือไม่
เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวว่า มีคนบางกลุ่มคิดว่า เมื่อนำทุนนิยมเข้ามา ก็จะแปรไปสู่ลัทธิทุนนิยมมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นแนวการพัฒนาอย่างทุนนิยม คนเหล่านี้ แม้ความรู้ทั่วไปก็ไม่มี เติ้งยังกล่าวต่อไปว่า การวางแผนมากขึ้น หรือว่าการใช้ระบบตลาดมากขึ้นนั้น มิใช่ความแตกต่างโดยรากฐานของลัทธิทุนนิยม และลัทธิสังคมนิยม การวางแผนเศรษฐกิจไม่ใช่ลัทธิสังคมนิยม ในทุนนิยมก็ต้องมีการวางแผน ขณะที่ลัทธิสังคมนิยมก็มีตลาด การวางแผนและตลาด ต่างก็เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ.