โปสเตอร์รณรงค์ ซึ่งหน่วยราชการจีน พิมพ์เผยแพร่ ถือเป็นสื่อที่มีเอกลักษณ์ และสะท้อนสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในยุคต่างๆได้เป็นอย่างดี
การย้อนมอง 30 ปีแห่งการปฏิรูปและเปิดประเทศผ่านภาพเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่มีสีสันอย่างหนึ่ง
การปฏิรูปและเปิดประเทศ เกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาสิบปีของการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966 – 1976) ซึ่งถือเป็น “ยุคมืด” ของจีน ไม่เพียงแต่ประชาชนทั่วไปและปัญญาชนถูกกระแสปฏิวัติปั่นหัวจนมีแต่ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน แม้แต่ผู้นำสายปฏิรูป อย่าง เติ้ง เสี่ยวผิง และหลิว เส้าฉี ก็ถูก “วิพากษ์” อย่างหนักว่า มีแนวคิดเอียงขวา ฝักใฝ่ลัทธิทุนนิยม และเป็นปฏิกิริยาต่อการปฏิวัติ
หลังจากโค่นล้มกลุ่มผู้นำการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่ได้รับสมญาว่า "แก๊งค์สี่คน" อันลือลั่นนั้น การปฏิวัติวัฒนธรรมก็ปิดฉากลง เติ้ง เสี่ยวผิง เดินหน้านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเต็มที่ แต่ก็ยังมีผู้คนจำนวนมากสงสัยในความถูกต้องของแนวคิดของเติ้ง จนเติ้งเองต้องออกมายืนยันหลายครั้งว่า ไม่ได้ถอยห่างจากแนวทางสังคมนิยม เพียงแต่ต้องการให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
หลังจากใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศมาไม่ถึงสิบปี ประชาชนจีนก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นการพิสูจน์ว่า แนวคิดของเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นสิ่งถูกต้อง
ปี ค.ศ. 1999 จีนเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมกับยกย่องนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เป็น “ทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง” และใช้เป็นหลักในการปกครองจีนควบคู่กับ “ทฤษฎีเหมา เจ๋อตง”
ภาพส่วนหนึ่งจากเว็ปไซต์ของคุณ Stefan Landsberger http://www.iisg.nl/exhibitions/chairman/cards.php