xs
xsm
sm
md
lg

จีนขึ้นเป็น “เจ้าหนี้” เบอร์หนึ่งของสหรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หู จิ่นเทา พบกับ จอร์ช ดับเบิลยู บุช พบกันในการประชุม จี-20 ที่วอชิงตัน ดีซี เมื่อ 15 พ.ย. (ภาพ-เอเอฟพี)
เอเจนซี่ – จีน ขึ้นแท่นถือครองพันธบัตรสหรัฐมากที่สุด ถึง 585,000 ล้านเหรียญ ทำให้อิทธิพลของจีนต่อเศรษฐกิจสหรัฐมีมากขึ้น นักวิเคราะห์ชี้เจ้าหนี้จีนกำหนดทิศทางในอเมริกาได้ทั้งดอกเบี้ย การจำนองบ้าน การค้า และนโยบายกู้วิกฤต ข้างจีนลงดาบสอง เตรียมหันไปตุนทองคำเพิ่ม 7 เท่า แทนดอลลาห์

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่า นับถึงเดือนกันยายนปีนี้ จีนถือครองพันธบัตรสหรัฐมากเป็นอันดับที่หนึ่ง มูลค่าสูงถึง 585,000 ล้านเหรียญ ขณะที่ญี่ปุ่น เป็นเจ้าหนี้เบอร์สอง ถือพันธบัตรสหรัฐมูลค่า 573,200 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยอังกฤษที่มีพันธบัตรสหรัฐในครอบครอง 338,400 ล้านเหรียญ

สถานภาพความเป็นเจ้าหนี้ของจีน พูดง่ายๆ คือ หนี้สาธารณะของสหรัฐทุกๆ 10 เหรียญจะมีสัดส่วนที่เป็นของจีน 1 เหรียญ ซึ่งทำให้จีนมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจต่อสหรัฐสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยามที่รัฐบาลอเมริกันยังต้องเร่งหาเงินมาใช้กับภาระก้อนใหญ่ 700,000 ล้านเหรียญที่เพิ่งใช้ไปอุ้มสถาบันการเงิน ทั้งนี้ความจริงแล้วจีนอาจยังถือครองทรัพย์สินของสหรัฐมากกว่านี้ เพราะยังมีการถือครองโดยผ่านกองทุนต่างๆอีกส่วนหนึ่ง โดยประมาณการณ์ว่าจีนอาจถือพันธบัตรสหรัฐมากถึง 800,000 ล้านเหรียญ

นักวิเคราะห์ บอกว่า ไม่ว่าจีนจะซื้อพันธบัตรสหรัฐด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือการเมือง แต่มีผลต่อต้นทุนการกู้ยืมในสหรัฐอย่างมาก เพราะเพียงแค่จีนหยุดซื้อพันธบัตร หรือแม้กระทั่งเทขายออก ก็จะทำให้ดอกเบี้ยในสหรัฐขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ จีนยังมีบทบาทต่อดอกเบี้ยจำนองบ้านในสหรัฐฯอีกด้วย เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯได้เข้าไปซื้อกิจการของ แฟนนี่ เมย์ และ เฟร็ดดี้ แม็ค บริษัทรับจำนองบ้านยักษ์ใหญ่ของสหรัฐเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อมูลว่า จีนก็ได้ร่วมลงทุนในบริษัททั้งสองด้วยมูลค่า 50,000 ล้านเหรียญ และจีนก็ปฏิเสธที่จะลงทุนเพิ่มในบริษัททั้งสอง ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องแบกรับภาระอยู่ฝ่ายเดียว และส่งผลให้ดอกเบี้ยกู้บ้านในสหรัฐสูงขึ้น

ความเป็นเจ้าหนี้ของจีน ยังทำให้บริษััทสหรัฐขายสินค้าในต่างแดนได้ยากลำบากขึ้น เพราะเมื่อจีนซื้อพันธบัตรสหรัฐจำนวนมากย่อมทำให้เงินดอลลาห์แข็งกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินหยวน ยิ่งเมื่อผสมโรงกับนโยบายกดค่าเงินหยวนให้อ่อนของจีนเพื่อส่งเสริมการส่งออกด้วยแล้ว ผู้ส่งออกอเมริกันย่อมพบกับอุปสรรคใหญ่ในการบุกตลาดจีน ทั้งนี้รัฐบาลจีนเพิ่งประกาศอัดฉีดงบประมาณ 586,000 ล้านเหรียญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยแล้ว พูดได้ว่า เกมนี้ไพ่หน้าดีๆล้วนแต่อยู่ในมือฝ่ายจีนทั้งสิ้น แต่หากพูดให้ดูน่ากลัวกว่านั้นคือ หากจีนขายพันธบัตรสหรัฐทิ้ง อเมริกาจะกลายเป็นประเทศที่ล้มละลายทันที

“นี่เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐต้องพึ่งพิงจีนมากขึ้น แต่ปัญหาคือ ทั้งสองประเทศมีนโยบายที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง ทั้งความมั่นคงในเขตแปซิฟิค เรื่องค่าเงินหยวน และการได้ดุลการค้ามหาศาลของจีน ซึ่งทำให้สหรัฐต้องรับบทหนัก” เอสวาร์ ปราซาร์ด ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าว

จีนเตรียมตุนทองคำ แทนดอลลาห์

ทางการจีนก็กำลังเล็งที่จะเพิ่มทุนสำรองในรูปของ ทองคำ ให้มากขึ้นอีก 7 เท่า เพื่อกระจายความเสี่ยงที่มีในเงินดอลลาห์

หนังสือพิมพ์กว่างโจวรึเป้า อ้างแหล่งข่าวในฮ่องกงว่า จีนจะซื้อทองคำสำรองเพิ่มจาก 600 ตัน เป็น 4,000 ตัน แต่ธนาคารกลางจีนยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้

นักวิเคราะห์ บอกว่า หากจีนซึ่งมีเงินทุนสำรองมากที่สุดในโลกถึง 1.9 ล้านล้านเหรียญจะผันเงินไปซื้อทองคำมากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐตกที่นั่งลำบาก เพราะรัฐบาลสหรัฐต้องการหาเงินมากู้เศรษฐกิจในบ้านตัวเอง และหากเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างจีน ไม่ซื้อพันธบัตรเพิ่ม สหรัฐก็จะต้องวิ่งไปหาผู้ให้กู้รายอื่นๆหลายๆรายมาช่วยลงขัน

จีน-สหรัฐขยับเข้าใกล้กันทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจที่เกี่ยวดองกันมากขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดี คือบริษัทสหรัฐได้อาศัยจีนเป็นฐานการผลิตต้นทุนต่ำ ช่วยให้คนจีนจำนวนมากมีงานทำ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนชาวอเมริกันจะได้ซื้อสินค้าราคาถูกลง ตั้งแต่โทรทัศน์ เตาไมโครเวฟ จนถึงเสื้อผ้าและของใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ในหลายปีมานี้เงินทุนจากจีนก็ไหลไปสู่สหรัฐ ทำให้ดอกเบี้ยในสหรัฐต่ำลง เงื่อนไขการกู้ยืมก็ง่ายขึ้น

ส่วนข้อเสีย ก็คือ จีนต้องแลกด้วยทรัพยากรมหาศาลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เกิดมลภาวะมากมาย ส่วนเงินทุนจากจีนที่ไหลไปลงทุนในสหรัฐนั้น แท้จริงส่วนหนึ่งก็เป็นผลกำไรจากการค้าขายกับสหรัฐนั่นเอง โดยปีที่แล้ว สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีน มากกว่าที่ส่งออกไปจีนถึง 5 เท่า
พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้จีนเป็นผู้ซื้ออันดับหนึ่ง
แฟนนี่ เมย์ บริษัทรับจำนองบ้านยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งจีนก็มีส่วนลงทุนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น