ไชน่าเดลี่ – ชาวทิเบตเริ่มเรียนรู้เทคนิกการผลิตกระดาษเมื่อครั้งองค์หญิงเหวินเฉิงแห่งราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) เดินทางมาเพื่ออภิเษกสมรสกับซงจั้นกันปู้แห่งทิเบตเมื่อกว่า 1,300 ปีก่อน และได้ทรงนำเทคโนโลยีการผลิตกระดาษจากแดนจงหยวนมาเผยแพร่ยังดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้ด้วย
หลังจากนั้นก็ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงมาผสมผสานกับวัตถุดิบท้องถิ่นของชาวทิเบตเอง แล้วค่อยๆ พัฒนาจนได้เป็นวิธีการทำกระดาษเฉพาะของทิเบตเอง
โดยกระดาษของทิเบตนั้นทำมาจากพืชจีน ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นพิษแรงพอที่จะป้องกันไม่ให้แมลงกินผ้าและหนูมารังควานได้ นอกจากนี้กระดาษทิเบตยังมีความเหนียวทนทานอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้นมันจึงยังคงอยู่ในสภาพดีแม้เวลาจะผ่านเนิ่นนานมาแล้วก็ตาม นั่นคือเหตุผลว่าทำไมกระดาษทิเบตจึงถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับทำคัมภีร์พุทธ และความต้องการในการพิมพ์คัมภีร์บทสวดก็ได้ผลักดันให้มีการพัฒนาวิธีการทำกระดาษของทิเบต
การผลิตกระดาษของทิเบตแบบดั้งเดิมจะใช้พืชท้องถิ่นเช่น ไม้กฤษณาจีน (Stellera chamaejasme) และ Cornus controversa โดยขั้นตอนการเตรียมเปลือกไม้เพื่อทำกระดาษทิเบตก็ได้แก่ การนำเปลือกมาต้ม เคี่ยว ล้าง บด และตาก
โดยเทคนิกในการทำกระดาษทิเบตนั้นค่อนข้างพิเศษ เริ่มแรกช่างทำจะทำความสะอาดรากไม้ แล้วฉีกเปลือกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เปลือก เปลือกด้านใน และแกนไม้เนื้ออ่อน โดยทั้ง 3 ส่วนล้วนเป็นวัตถุดิบในการทำกระดาษทั้งสิ้น แต่เปลือกด้านใน ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงเป็นส่วนที่นำมาใช้ทำกระดาษสำหรับทำคัมภีร์พุทธ
หลังจากนั้นช่างจะฉีกเปลือกในให้เป็นชิ้นเล็ก และผสมสารที่เป็นด่างลงไปเพื่อทำให้เป็นการเตรียมเยื่อกระดาษ ซึ่งจะนำไปทำกระดาษขาว
หลังจากผ่านการใส่สารเตรียมเยื่อกระดาษแล้วก็ใช้ความร้อนกลั่นสารผสมออก จากนั้นนำกระดาษที่ได้ใส่ลงไปในตะแกรง และนำไปตากแดดให้แห้ง เป็นอันเสร็จพิธี
เทคนิกการทำกระดาษของทิเบตนั้นไม่เพียงแพร่หลายในทิเบตเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ไปยังประเทศที่อยู่ใกล้เคียง อย่าง เนปาล และภูฏานด้วย
ปัจจุบันเนื่องจากสังคมพัฒนาก้าวหน้าไปมาก การผลิตกระดาษจึงมีให้เห็นมากมายในทิเบต และมีเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้น แม้แต่กระดาษที่ใช้ผลิตธนบัตรและแสตมป์ด้วย
ด้วยอากาศของที่ราบสูงทิเบตที่ค่อนข้างแห้ง และวัตถุดิบพิเศษที่ใช้ผลิต ทำให้กระดาษที่ผลิตในทิเบตนั้นไม่ค่อยเป็นเชื้อรา และไม่ถูกแมลงกัดกิน จึงทำให้อายุการใช้งานยาวนาน