ก่อนยุคของการปฏิรูปและเปิดประเทศ จีนตกอยู่ภายใต้สิบปีของการปฏิวัฒนธรรมวัฒนธรรม ที่ครอบงำชีวิตชาวจีนทั้งมวล ทั้งในแง่ของความเป็นอยู่ แนวคิด หรือแม้แต่การหาความบันเทิงในชีวิต โดยยุคนั้นภาพยนต์และเพลงล้วนแต่ต้องอิงกรอบการปฏิวัติและรับใช้มวลชน เพลงรักแบบหนุ่มสาวจึงเป็นเรื่องต้องห้าม แต่หลังจากหน้าต่างแห่งการปฏิรูปถูกเปิดขึ้น ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่เข้าสู่ประเทศจีนเท่านั้น แต่วัฒนธรรมใหม่ก็พัดเข้ามาด้วย
สื่อมวลชนหลายแขนงในจีน ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนรุ่นปฏิรูป ว่าในแง่ของความบันเทิงแล้ว ศิลปินคนใดเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของยุคเปิดประเทศ โดยหนึ่งในศิลปินอยู่ในดวงใจของพวกเขา คือ “เติ้ง ลี่จวิน” นักร้องสาวจากไต้หวัน
“กลางวันเติ้งเสี่ยวผิงปกครองจีน ยามราตรีคนจีนอยู่ใต้มนต์เพลงของเติ้งลี่จวิน”
ชาวไต้หวันและผู้คนทั่วเอเชียต่างหลงใหลกับเสียงเพลงของเติ้งลี่จวินตั้งแต่ปี1970 แต่ประชาชนในจีนแผ่นดินใหญ่กลับไม่มีโอกาสชื่นชมผลงานของเธอ เนื่องจากจีนในช่วงนั้นอยู่ภายใต้การปฏิวัติวัฒนธรรม เพลงในจีนล้วนเป็นเพลงปฏิวัติที่ส่งสารในเรื่องการเมือง ดังนั้นเพลงของสาวน้อยจากไต้หวันซึ่งมีเนื้อหาเรื่องความรักหนุ่มสาวจึงถูกตีตราว่าเป็นวัฒนธรรมทุนนิยม ถึงขนาดที่เพลง “เมื่อไรคุณจะกลับมาอีกครั้ง” หนึ่งในเพลงฮิตของเธอ ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ตั้งคำถามว่า “กลับมาหมายถึงอะไร” และ “ใครจะกลับมา”
เหยิน จิ่งเหวิน เล่าบรรยากาศในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงนั้นว่า “ เมื่อสมัย 20 ปีก่อนนั้น จีนแผ่นดินใหญ่ปิดกั้นวัฒนธรรมทุกชนิดจากไต้หวัน การเมืองเข้าไปเกี่ยวพันในทุกเรื่องแม้แต่เรื่องความรัก รัฐบาลคอมมิวนิสต์มองว่าเพลงรักของเติ้งลี่จวินทำให้วัฒนธรรมเสื่อมโทรม เช่น เพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาพูดถึงหญิงสาวชวนผู้ชายดื่มเหล้าอำลา เพราะหลังคืนนี้ไปแล้วไม่รู้ว่าจะได้พบหน้ากันเมื่อไร เพลงนี้ถูกรัฐบาลวิจารณ์ว่า วิถีชีวิตแบบนี้ขัดขวางอุดมการณ์ปฏิวัติ”
อย่างไรก็ตาม เพลงของเติ้งลี่จวินได้เริ่มแทรกซึมเข้าไปอยู่ในใจของคนจีนแผ่นดินใหญ่ แรกเริ่มด้วยเพลงที่กล่าวชมความงามของธรรมชาติและชีวิตในชนบท จนกระทั่งเติ้ง เสี่ยวเผิงขึ้นเป็นผู้นำ รัฐบาลจีนจึงอนุญาตให้เพลงจากฮ่องกงและไต้หวันเข้ามายังแผ่นดินใหญ่ได้ เพลงของเติ้ง ลี่จวินได้เข้าไปเติมความชุ่มชื่นในใจของชาวจีนในแผ่นดินใหญ่ ที่ขาดความหวานจากบรรยากาศของการปฏิวัติ เนื้อหาของเพลงที่พูดถึงความจริงใจ มิตรภาพ ความรักกลายเป็นเครื่องบำบัดจิตใจจากความเคร่งเครียดในการทำงาน
เหยิน จิ่งเหวิน เล่าต่อว่า เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ส่งอิทธิพลต่อสังคมจีนช่วงนั้นอย่างมาก เพราะ หลังจากถูกหล่อหลอมให้ฟังแต่เรื่องความรักที่ผูกกับอุดมการณ์ทางการเมือง พอเพลงของเติ้งลี่จวินเข้ามา คนจีนถึงได้รู้ว่า ความรักแบบหวานซึ้งเป็นอย่างไร
“ช่วงนั้นผมเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ จำได้ว่าเพียงแค่ 2-3 ปี หลังเติ้ง เสี่ยวเผิง เปิดประเทศ เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ไหลทะลักเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ ทุกบ้านเปิดเพลงของเติ้ง ลี่จวิน ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่าเพลงแบบนี้ไม่เหมาะสมแต่ก็ไม่ถึงกับห้าม เพราะชาวบ้านได้ซึมซับความรักแบบใหม่ ที่ปลอดพันธะทางการเมืองเข้าไปเต็มหัวใจแล้ว”
อันที่จริงแล้วบุคลิกของเติ้ง ลี่จวิน เป็นสาวจีนที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม และอยู่ในกรอบประเพณี หากแต่สารที่เธอส่งผ่านเนื้อเพลงกลับเปิดโลกทัศน์ของชาวจีนยุคปฏิรูป จน “เติ้งน้อย” เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนจีนแผ่นดินใหญ่ จนมีคำพูดว่า “เวลากลางวันเติ้ง เสี่ยวผิงปกครองแผ่นดินจีน แต่ยามราตรีคนจีนตกอยู่ใต้มนต์เพลงของเติ้ง ลี่จวิน”
จากศิลปินน้อยสู่คนของโลก
8 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เติ้ง ลี่จวิน หรือ Teresa Teng นักร้องผู้สร้างตำนานราชินีแห่งเพลงจีน ได้จากโลกนี้ไปด้วยโรคหอบหืด ในวัยเพียง 45ปี แต่เสียงเพลงของเธอยังคงอยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลก
เติ้ง ลี่จวิน เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1953 ในหมู่บ้านเล็กๆ เขตเมืองหยุนหลิน เกาะไต้หวัน เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวที่มีพี่ชาย 3 คนและน้องชาย 1คน และด้วยความที่พ่อของเธอชื่นชอบการชมงิ้วปักกิ่ง เติ้ง ลี่จวิน ในวัยเยาว์จึงมีโอกาสติดตามพ่อไปชมการแสดงงิ้วอยู่เสมอ ซึ่งนี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เธอชื่นชอบการร้องเพลง
ชีวิตในวัยเด็กของเติ้ง ลี่จวิน ถูกเติมเต็มด้วยครอบครัวที่อบอุ่น ประกายความสามารถในการร้องเพลงและการแสดงของเธอได้ปรากฏจากการเป็นตัวแทนของโรงเรียนในการร้องเพลงตามงานต่างๆ และในที่สุดเด็กหญิงเติ้ง ลี่จวิน ในวัยเพียง 10 ปี ก็ได้แจ้งเกิดครั้งแรกบนถนนมายา ด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดร้องเพลงของสถานีวิทยุแห่งชาติไต้หวัน ในปีค.ศ. 1963
4 ปีให้หลัง เติ้ง ลี่จวิน ได้เลือกทางเดินชีวิตให้กับตัวเองด้วยการลาออกจากการเรียนในชั้นมัธยม 3 เพื่อก้าวสู่การเป็นนักร้องอาชีพ โดยเธอได้บันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกภายใต้สังกัด Universal Records
จากนั้นในปี 1969 ชาวไต้หวันก็พร้อมใจกันปรบมือต้อนรับเติ้ง ลี่จวิน ในฐานะดาวดวงใหม่ ด้วยวัยแรกรุ่นเพียง 16 ปี เติ้ง ลี่จวิน มีทั้งผลงานเพลง ภาพยนตร์และพิธีกร และในปีเดียวกันเธอยังได้รับคำเชิญจากภรรยาของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ให้ไปร้องเพลงในงานการกุศลของสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกของเธอ หลังจากนั้น ชื่อของเติ้ง ลี่จวิน ก็กลายเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในปี ค.ศ. 1973 เติ้ง ลี่จวิน เซ็นสัญญากับค่ายแผ่นเสียงในญี่ปุ่น เพลงจำนวนมากของเธอถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น และที่ญี่ปุ่นนี่เอง เติ้ง ลี่จวินได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการแสดงบนเวทีควบคู่ไปด้วย เธอยอมรับว่า “แต่ก่อนเมื่ออยู่บนเวที ฉันได้แต่ร้องเพลงไปตามทำนอง โดยไม่รู้ว่าจะทำอารมณ์หรือสีหน้าอย่างไร จนเมื่อได้มาที่ญี่ปุ่น ฉันจึงได้เรียนรู้ว่าการแสดงที่แท้จริงคืออะไร “ ซึ่งเธอก็ไม่ทำให้แฟนเพลงแดนอาทิตย์อุทัยผิดหวังด้วยการคว้ารางวัลมากมาย และทุกวันนี้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังคงไม่ลืมบทเพลงแสนหวานจากสาวชาวจีนคนนี้
หลังจาก 6 ปีที่ เติ้ง ลี่จวิน ใช้ชีวิตในญี่ปุ่น เธอเลือกที่จะสานต่อชีวิตในสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งผู้คนยังไม่รู้จักเธอมากนัก ทำให้เธอได้มีชีวิตที่เสรีและกลับไปใช้เวลาในชั้นเรียนอีกครั้ง
ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 เติ้ง ลี่จวิน ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายในสหรัฐอเมริกา และเดินทางไปเปิดการแสดงในแคนาดา ฮ่องกง และไต้หวันบ้านเกิดของเธอเป็นครั้งคราว โดยในปี 1983 เติ้ง ลี่จวิน เป็นนักร้องจีนคนแรกที่มีโอกาสเปิดการแสดงที่ซีซาร์พาเลส ในวาสเวกัส และรัฐบาลไต้หวันได้ยกย่องให้เธอเป็นหนึ่งในสิบผู้หญิงแถวหน้า จากนั้นในปี 1984 เติ้งลี่จวินได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วเอเชีย ในโอกาสครบรอบ 15 ปีบนถนนมายาของเธอ
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 เติ้ง ลี่จวิน ได้ลดบทบาทในอาชีพการร้องเพลงลง โดยเธอเลือกใช้เวลาพักผ่อนส่วนใหญ่ในประเทศไทยและฝรั่งเศส ผู้คนเริ่มมีโอกาสฟังเสียงเพลงของเธอเฉพาะในงานกุศลและจากผลงานเก่าๆที่เธอได้บันทึกทิ้งไว้ จนกระทั่งดาวจรัสแสงดวงนี้ได้จากโลกไปในปี 1995
หน้าตาของไต้หวัน
เติ้ง ลี่จวิน โด่งดังขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 70 ซึ่งไต้หวันเต็มไปด้วยบรรยากาศการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ยิ่งเมื่อไต้หวันต้องสูญเสียที่นั่งในสหประชาชาติ และถูกสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยแล้ว เกาะแห่งนี้จึงเสมือนถูกปกคลุมด้วยเมฆหมองของความไม่แน่นอน การที่ไต้หวันมีศิลปินที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจึงช่วยกู้หน้าชาวไต้หวันได้ไม่น้อย โดยเติ้ง ลี่จวิน ได้ไปร่วมงานวันชาติไต้หวันแทบทุกปี จนรัฐบาลไต้หวันเห็นเธอเป็น ”คนวงใน”
อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดกับรัฐบาลไต้หวันทำให้หลายคนมองว่า ศิลปินสาวผู้นี้ได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาล แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความโด่งดังของเติ้งลี่จวินอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง
จากเพลงรักสู่เพลงอมตะ
หลังการจากไป เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ได้ถูกยกระดับขึ้นจากเพลงป็อปธรรมดา กลายเป็นเพลงคลาสสิกระดับแม่แบบเพลงจีนสมัยใหม่ เพลงสุดฮิตอย่าง “เถียนมี่มี่” ถูกบรรเลงในงานเลี้ยงรับรองผู้แทนการประชุมนานาชาติในประเทศไทย เช่นเดียวกับเพลง “อารีดัง”ของเกาหลี และ “ซูบารุ” ของญี่ปุ่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ให้ความเห็นว่า เสน่ห์ของเพลงเติ้ง ลี่จวิน อยู่ที่มนต์เสียงของเธอ เสียงของเติ้ง ลี่จวิน ประกอบด้วยความหวาน 7ส่วนและน้ำตาอีก 3ส่วน
“เพลงเติ้ง ลี่จวิน เป็นเพลงป็อปธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้เธอโดดเด่น คือ เทคนิคการร้องและเอื้อนเสียง ซึ่งเธอจะไม่ใช้เสียงดังแต่ร้องได้ชัดเจนเหมือนกระซิบข้างหู เทคนิคการร้องของเธอมีต้นแบบมาจากเหยาซูหยง นักร้องอมตะอีกคนหนึ่งของไต้หวัน หรือเทียบได้กับพุ่มพวง ดวงจันทร์ของบ้านเรา ทุกวันนี้มีนักร้องนำเพลงเติ้งลี่จวินมาร้องใหม่มากมาย แต่ผมยังไม่เห็นใครร้องได้เทียบเท่าต้นฉบับเลย” ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีคนหนึ่ง กล่าว
“เพลงของเติ้ง ลี่จวิน เล่นง่าย เพราะใช้คอร์ดพื้นฐานไม่กี่คอร์ด ซ้ำไปซ้ำมา แต่การเรียบเรียงเพลงโดยเฉพาะโดยฝีมือของarranger ชาวญี่ปุ่น ทำให้เพลงเติ้ง ลี่จวินหวานและรื่นหู นอกจากนั้นผู้เรียบเรียงเพลงยังฉลาดที่จะนำเครื่องดนตรีสมัยใหม่มาเล่นกับทำนองพื้นเมือง แถมในบางเพลงยังใช้ขิมจีน และซอ มาเล่นในท่อนอินโทร และโซโลอีกด้วย”
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เพลงของเติ้ง ลี่จวิน กลายเป็นตำนาน คือ เพลงของเติ้ง ลี่จวินมีเนื้อหาที่ง่าย พูดถึงความรัก ธรรมชาติ และเรื่องราวในชีวิตประจำวันทำให้คนฟัง เข้าถึงได้ง่าย ส่วนเนื้อร้องที่สั้นและทำนองเพลงที่ซ้ำไปซ้ำมาก็ยิ่งทำให้ติดหูง่าย คนที่ไม่เข้าใจภาษาจีนก็สามารถฮัมเพลงตามได้ ยิ่งเมื่อตัวเติ้ง ลี่จวิน เองเป็นคนน่ารัก สวย อัธยาศัยดีก็ยิ่งช่วยให้เพลงของเธอติดอยู่ในความทรงจำของคนฟัง
วันนี้หากลองสอบถามเด็กที่อายุต่ำกว่า 20 ปี วัยรุ่นจำนวนมากอาจไม่รู้จักว่า เติ้งลี่จวิน คือใคร แต่เชื่อว่า เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ตกตะกอนอยู่ในความทรงจำวัยเยาว์ของเด็กหลายคน เพราะท่ามกลางอุตสาหกรรมดนตรีที่เป็นเหมือนโรงงานผลิตนักร้อง แต่เติ้ง ลี่จวิน เป็นสัญลักษณ์ของสาวจีนที่เติบโตและยืนหยัดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรม
ถึงแม้ปีนี้จะเข้าสู่ปีที่ 14 ที่เติ้ง ลี่จวิน ได้จากไป แต่เสียงของเธอยังคงวนเวียนอยู่ท่ามกลางงานเลี้ยงที่มีแขกจากจีน ภัตตาคาร ชุมชนคนจีน และในทุกเทศกาลที่เกี่ยวกับจีน เรียกได้ว่า ที่ไหนมีคนเชื้อสายจีน ที่นั่นมี เติ้งลี่จวิน