เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล – ปิดฉากชีวิตเจ้าสัวหวัง หย่งชิ่ง มหาเศรษฐี เจ้าของฟอร์โมซา พลาสติกส์ กรุ๊ป กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งไต้หวัน ผู้สร้างตำนานการต่อสู้ชีวิตอันยิ่งใหญ่ จารึกในใจอนุชนรุ่นหลัง ให้ได้จดจำศึกษา
เจ้าสัวหวังสิ้นลมหายใจเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ขณะอายุได้ 91 ปี เขาเป็นชาวไต้หวันผู้หนึ่ง ซึ่งร่ำรวยที่สุดในประเทศ โดยคาดกันว่าเขามีทรัพย์สมบัติมากมายเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
จากบุตรชายครอบครัวชาวนาด้อยการศึกษา หวังเริ่มต้นธุรกิจในช่วงทศวรรษ1920 ซึ่งขณะนั้นเกาะไต้หวันยังเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ด้วยการเปิดร้านขายข้าวสารร่วมกับพี่ชาย 2 คน
ร้านข้าวสารแห่งนี้มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือส่งข้าวให้ลูกค้าโดยไม่คิดค่าบริการ
กระทั่งต่อมา หวังได้ก่อตั้งฟอร์โมซา พลาสติกส์ กรุ๊ป จนผงาดขึ้นเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ที่สุดและทำกำไรมากที่สุดของแดนมังกรน้อย
ฟอร์โมซา พลาสติกส์ สยายปีกธุรกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปจนถึงเมืองพอยต์ คอมฟอร์ต, รัฐเท็กซัส, ประเทศสหรัฐฯ โดยเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตสารโพลีวินิล คลอไรด์ ชั้นนำของโลก นอกจากนั้น ยังผลิตเคมีภัณฑ์, เครื่องสำอาง, อาหาร และรถยนต์ ตลอดจนดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลหลายแห่ง กลุ่มบริษัทมียอดขายสินค้าในตลาดทั่วโลกเป็นมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีพนักงานลูกจ้างจำนวน 94,000 คน
ในปี 2492 ฝ่ายชาตินิยมพ่ายแพ้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในสงครามกลางเมืองบนแผ่นดินใหญ่ จึงถอยร่นมาตั้งหลักบนเกาะไต้หวัน ทำให้เกาะแห่งนี้ตกเป็นเป้าสนใจของโลก และอีก 5 ปีต่อมา โครงการความช่วยเหลือของสหรัฐฯ จึงปล่อยเงินกู้ให้แก่หวังสำหรับก่อสร้างโรงงานพีวีซีเล็ก ๆ ขึ้นมา
ด้วยฝีมือการบริหารจัดการ ที่เลื่องลือกระฉ่อนว่า สูงส่งระดับเทพ หวังลดต้นทุนค่าใช้จ่าย จนแทบเหลือแต่กระดูก ทว่าปฏิบัติกับลูกจ้างเหมือนคนในครอบครัวตนเอง และในช่วงทศวรรษ 1980 หวังยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ช่วยผลักดันให้ไต้หวันเลิกตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตพลาสติกที่นั่น
หลังจากเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 ผ่านพ้นไปไม่กี่เดือน หวังก็ได้รับการต้อนรับขับสู้จากเติ้ง เสี่ยวผิง ท่านผู้นำจีนในสมัยนั้น
แม้ปลดเกษียณตัวเองอย่างเป็นทางการมาได้ 2 ปีแล้ว แต่ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้าจะจากโลกนี้ไป หวังยังคงทุ่มเททำงาน เพื่อสร้างการขนส่ง เชื่อมโดยตรงระหว่างไต้หวันกับจีน
“ชาวไต้หวันก็คือชาวจีนนั่นเอง” ครั้งหนึ่ง ท่านเจ้าสัวเคยกล่าวไว้เช่นนี้
เมื่อเดือนมิถุนายนฟอร์โมซา พลาสติกส์ กรุ๊ปประกาศโครงการมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และแนฟทา
แคร็กเกอร์ ในมณฑลเจ้อเจียง นอกจากนั้น ยังมีกิจการปิโตรเคมีขนาดใหญ่อยู่นอกเมืองฮูสตันแดนลุงแซมอีกด้วย
“ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คุณหวังเป็นนายทุนผู้ประกอบการชาวไต้หวันเพียงคนเดียว ที่เริ่มต้นจากปากกัดตีนถีบอย่างแท้จริง และถือหางเสืออาณาจักรธุรกิจ ผ่านวงจรเศรษฐกิจหลายยุคหลายสมัย จนมาสู่จุดอย่างที่เป็นทุกวันนี้” ไล่ จงชวน อาจารย์แผนกบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยไต้หวันแห่งชาติกล่าวยกย่อง
“ เรียกว่า ไร้ผู้เทียมทาน”
สำหรับตัวตนที่แท้จริงของหวัง เขาเป็นบุคคล ที่มีชีวิตอยู่อย่างสันโดษ และกล่าวกันว่า เขายึดถือหลักสุภาษิต ที่ว่า “จงมีชีวิตอยู่ในวันหนึ่ง, จงทำงานไปในวันหนึ่ง”
ตัวเขาเองนั้น อาศัยอยู่ในห้องชุดภายในสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในย่านธุรกิจของกรุงไทเป
ความตระหนี่ถี่ถ้วนของท่านเจ้าสัว เล่าขานกันเป็นตำนานเลยทีเดียว
เวลาเขาเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัท เขาจะจ่ายค่าอาหารกลางวันแก่เจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มาประชุม คนละ 2 ดอลลาร์ ไม่เคยมีโต๊ะบุฟเฟ่ต์ ไม่มีอาหารฟุ่มเฟือยให้เห็นสักครั้ง
ท่านเจ้าสัวจะค่อย ๆ รินกาแฟร้อน ลงในเหยือกใส่ครีม เพื่อล้างให้หมดจด เพราะเสียดายของ และสมัยที่ยังเป็นชายหนุ่ม ทำงานในร้านข้าวสารนั้น ผู้จะได้เป็นเจ้าสัวในอนาคตอาบน้ำ โดยสาดน้ำเย็นรดกาย เพราะต้องการประหยัดเงิน ไม่ให้สิ้นเปลืองสักแดงเดียว
ในช่วงปลายทศวรรษ1990 เมื่อเจ้าสัวหวังเข้าสู่วัยบั้นปลายชีวิต ที่คนรุ่นเดียวกันวางมือจากอาชีพการงาน หันมาพักผ่อนอย่างสงบ ทว่าความใฝ่ฝันแรงกล้าของเจ้าสัวหวังไม่เคยมอดไหม้ เขายังทำงานควบคุมดูแลโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ และต้องการผลิตรถยนต์ ที่มีเทคโนโลยี่สูงกว่ารถทั่วไป เช่น รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel-cell car)
ทว่าทศวรรษแห่งความพยายามนั้น กลับกลายเป็นศูนย์ ในที่สุดบริษัทฟอร์โมซา ออโตโมบิล ก็ต้องเลิกกิจการไปในปี 2550 อันนับเป็นความปราชัยยับเยินที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของนักสู้ผู้นี้
ด้านชีวิตสมรสนั้น เจ้าสัวหวังมีภรรยา 3 คน และบุตรธิดาเข้าสานต่อธุรกิจของบิดาอย่างใกล้ชิด แต่พวกเขาก็มีกิจการของตนเองด้วยเช่นกัน
หวัง เสี่ยว์หง บุตรสาวคนหนึ่งจับงานในตำแหน่งประธานบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟน HTC Corp. ส่วนวินส์ตัน หวัง บุตรชาย ที่ครั้งหนึ่ง มองกันว่า เขาถูกวางตัวเป็นทายาท เกิดแตกหักกับบิดา จึงย้ายไปเซี่ยงไฮ้ โดยลงทุนร่วมกับเจียง เหมี่ยนเหิง บุตรชายของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมินแห่งแดนมังกร