กลางเดือนที่แล้ว อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งเดินลัดเลาะหุบเขา ไปตามทางแคบๆ ที่คดเคี้ยว ทางสายนี้บางช่วงชันถึง 90 องศา ช่วงที่แคบที่สุดกว้างเพียง 40 ซม. พวกเขาใช้เวลา 5 ชั่วโมง ผ่านร้อยแปดพันโค้ง ด้วยจุดมุ่งหมายคือ นำเสื้อกันหนาวและอุปกรณ์การเรียนไปให้กับเด็กๆ ที่ “หมู่บ้านกู่ลู่”
หมู่บ้านกู่ลู่ ถ้าคิดตามเขตการปกครองแล้วจะอยู่ใน มณฑลเสฉวน เมืองหยาอัน อำเภอฮั่นหยวน ตำบลหย่งลี่ เขตปกครองชนเผ่าอี๋ แต่ถ้าดูตามสภาพแล้ว หมู่บ้านที่แฝงตัวอยู่กลางม่านเมฆแห่งนี้ น่าจะเรียกว่า หมู่บ้านสุดขอบฟ้า มากกว่า
ชาวบ้านที่นำทางบอกว่า ทางรถไฟสายเฉิงตู –คุนหมิง เป็นเหมือนเส้นขอบฟ้าของหมู่บ้านกู่ลู่ โดยเส้นทางเข้าหมู่บ้านนั้นต้องลัดเลาะไปตามหน้าผา จนกระทั่งเมื่อปี 2003 ที่สร้าง “ทางล่อเดิน” เสร็จ หมู่บ้านกู่ลู่จึงเริ่มติดต่อกับโลกภายนอกได้ และ ทางล่อเดินนี้เองที่นำพาคุณครูหนึ่งเดียวตลอด 26 ปีของโรงเรียนประถมกู่ลู่มาที่นี่ ผู้คนในหมู่บ้าน 500 กว่าคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างเรียกเขาว่า “คุณครูเซิน”
คุณครูเซินฉีจวิน วัย 45ปี ผิวคล้ำกร้าน สวมรองเท้าบูททหาร กับเสื้อเชิ๊ตที่เปื่อยจนแขนเสื้อขาดกำลังนั่งงลับมีดอยู่ ชาวบ้านที่ช่วยงานอยู่ใกล้ๆเมื่อเห็นผู้มาเยือนก็รีบเอ่ยปากบอกว่า “คุณครูเซินได้ข่าวว่าจะมีคนมามอบเสื้อกันหนาวให้กับเด็กๆ เลยเอาเงินเดือนทั้งเดือนไปซื้อแพะมาตัวหนึ่ง” คุณครูเซินได้แต่ยิ้มและบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอก บนเขาบนดอยไม่มีอะไรกิน”
โรงเรียนประถมหมู่บ้านกู่ลู่ ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ดีที่สุดในหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว โดยมีห้องเรียนห้าห้องและหนึ่งห้องน้ำที่สร้างขึ้นด้วยปูนซีเมนต์ ห้องเรียนอยู่ชั้นบน ห้องน้ำอยู่ใต้ถุน ผนังไม้เก่าๆ ติดคำขวัญที่ว่า “เสียงท่องอ่านหนังสือสะเทือนถึงหมู่เมฆ ต้นกล้าเติบโตหยั่งราก” คำขวัญนี้ดูเหมือนจะบ่งบอกถึงปณิธาณของโรงเรียนแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี พื้นที่ว่างเล็กๆหน้าห้องน้ำถูกดัดแปลงเป็นสนามบาสเก็ตตบอล โดยใช้แผ่นไม้กระดานดำผุๆประกอบเข้าด้วยกัน นักเรียนชายสองคนกำลังใจจดใจจ่ออยู่กับการเดาะบอล แต่พวกเขาไม่กล้าจะโยนลูกออกไป เพราะว่าถ้าลูกบอลกลิ้งตกเขาไปแล้ว อาจต้องใช้เวลาครึ่งค่อนวันกว่าจะไปเก็บกลับมา
เซินฉีจวินมาอยู่ที่โรงเรียนประถมหมู่บ้านกู่ลู่ ตั้งแต่อายุ 18 ตอนนั้นห้องเรียนสร้างด้วยดินเหนียว หลังคาก็รั่ว ผนังก็ลมพัดโกรก ห้องน้ำไม่มี นักเรียนหลายคนวิ่งไปเข้าห้องน้ำหกล้มหกคว่ำเจ็บตัวกันไป คุณครูเซินต้องเรียกรวมคนทั้งหมู่บ้านมาช่วยกันซ่อมโรงเรียน และสร้างห้องน้ำแบบง่ายๆขึ้น
“หมู่บ้านกู่ลู่ห่างไกลมาก เราใช้ทุกวิถีทางหาครูมา แต่ทุกคนก็อยู่ได้ไม่นาน คุณครูเซินอดทนอยู่มานานขนาดนี้ เราซาบซึ้งและขอบคุณอย่างมาก” หลี่ ชิงหลง ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอฮั่นหยวน บอก
ทางศึกษาธิการอำเภอเคยจะเพิ่มคุณวุฒิให้กับครูเซิน แต่ติดที่วุฒิการศึกษาของครูเซินไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เลยไม่รู้จะช่วยอย่างไร ได้แต่ช่วยเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้ได้นิดหน่อย
ครูเซินเองก็เคยจะถอดใจกลับไปรับจ้างทำงานที่อื่น แต่คนทั้งหมู่บ้านวิงวอนให้เขาอยู่ต่อ “คุณครูเซินไปแล้ว โรงเรียนก็ไม่มีครู ไม่มีใครอยากมาสอนหนังสือบนดอย ถึงมาแล้วก็อยู่ได้ไม่นาน” ชาวบ้านบอก
ลูกศิษย์ของครูเซินมีโอกาสเรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัยสองคน แต่เมื่อเอ่ยถึงเรื่องนี้ครูเซินก็บอกว่า “พวกเขามีครูอื่นๆอีกหลายคน” ดูเหมือนว่า ครูเซินที่มีคุณวุฒิแค่มัธยมต้น ไม่กล้าที่จะอวดอ้างว่าสอนเด็กจนเข้ามหาวิทยาลัยได้
ครูเซินบอกว่า “สอนหนังสือมาหลายปี เรื่องที่ละลายใจมีเยอะ เรื่องที่อวดอ้างได้แทบจะไม่มี” ความละอายใจที่ครูเซินพูดถึง ก็คือ เขารู้ดีว่าความรู้ของตัวเองตามไม่ทันโลกภายนอกแล้ว กลัวว่าเด็กๆที่หมู่บ้านกู่ลู่ นับวันจะห่างไกลจากโลกออกไปไกลทุกทีๆ
จนกระทั่ง เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีเด็กหนุ่มอายุราวๆ 20 มาถึงหมู่บ้านกู่ลู่ เด็กหนุ่มบอกครูเซินว่า เขาชื่อ “เปา ถังเทา” อยากจะมาเป็นอาสามัครที่นี่ เปา ถังเทาจบจากวิทยาลัยครูที่สองแห่งมณฑลหูเป่ย จากวันนั้นเขาก็อาศัยห้องทำงานของครูเซินเป็นที่พัก เริ่มต้นประสบการณ์เป็นครูใหม่ที่โรงเรียนประถมหมู่บ้านกู่ลู่
ทุกวัน เปาถังเทา ตื่นนอนเจ็ดโมงเช้า ผ่าฟืนหุงข้าวเสร็จ ก็หอบหนังสือนั่งไปนั่งบนหลังคาบ้าน หน้าบ้านเป็นหน้าผา ถัดจากหน้าผาเป็นหุบเขา ระหว่างหุบเขามีลำน้ำไหลผ่าน 40นาทีผ่านไปถึงเห็นครูเซินเดินกลับจากนา มาถึงโรงเรียน แต่คนทั้งสองต้องรอจนถึงประมาณสิบโมงเช้า เด็กที่เดินลัดเลาะภูเขามาหนึ่งถึงสองชั่วโมงจึงจะมาถึงโรงเรียน
มาอยู่บนดอยได้ไม่ถึงสองวัน เปาถังเทาก็พบกับปัญหาใหญ่ โรงเรียนไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือของเขาแบ็ตหมดแล้ว ไม่สามารถติดต่อกับโรงภายนอกได้ อันที่จริงแล้วหมู่บ้านกู่ลู่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ข้าราชการในหมู่บ้านหลายคนก็มีโทรศัพท์มือถือ แต่เพราะว่าที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ชาวบ้านเลยต้องซื้อแบตเตอรี่ไว้หลายๆก้อน พอใช้หมดแล้วต้องลงจากเขาหลายชั่วโมงไปชาร์ทแบ็ตที่สถานีรถไฟ
เปาถังเทาคิดว่าอย่างนี้ไม่ได้การ ทำไมไม่คิดหาวิธีการนะ? ถ้ามีไฟฟ้า ต่อไปอาจสอนเด็กๆให้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ เขาจึงตัดสินใจลงเขาไปขอความช่วยเหลือ ในที่สุดนักเขียนจากหูเป่ยคนหนึ่งบริจาคเงินให้หมู่บ้านกู่ลู่ 4000 หยวนซื้อเครื่องปั่นไฟขนาดเล็ก ใช้น้ำจากลำธารในหุบเขาปั่นไฟ แต่เครื่องปั่นไฟ ขนาดนี้ก็ทำได้แค่ ทำให้หลอดไฟหนึ่งในห้องเรียนติดบ้างดับบ้าง และชาร์ทแบตเตอรี่ให้โทรศัพท์มือถือ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ทำให้ชาวบ้านค้นพบว่านอกจากครูเซินแล้ว เด็กหนุ่มเปาถังเทาก็ใช้ได้ทีเดียว
ครูเซินสอนเด็กๆได้แค่ภาษาจีนกับเลขคณิต แต่เปาถังเทาเสนอว่าเขาจะสอนภูมิศาสตร์ กับวิทยาศาสตร์พื้นฐานให้กับเด็กๆเพิ่มด้วย นอกจากนี้เขายังให้เด็กๆท่อง “กลอนซันจึจิง”(กลอนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เมื่อเจ็ดร้อยปีก่อน เป็นแบบเรียนสำหรับเด็ก) และกวีนิพนธ์ขงจื๊อ ด้วย
แต่เด็กนักเรียนวัยสิบสองคนหนึ่งแอบกระซิบว่า “ให้ท่องกลอนกับกวีนิพนธ์ขงจื๊อ หนูชอบให้ครูเซินสอนท่องศัพท์ภาษาจีนมากกว่า”
ครูจากโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่นบอกกับเปาถังเทาว่า เด็กที่จบมาจากโรงเรียนประถมกู่ลู่ขึ้นชื่อเรื่องความมุมานะ แต่ต่อให้เด็กพวกนี้ขยันอีกห้าเท่ากับสู้เด็กคนอื่นๆไม่ได้ เมื่อเด็กๆจากโรงเรียนประถมกู่ลู่ถูกเปรียบว่าเป็น “ไม้ผุเอามาแกะสลักไม่ได้” เปาถังเทาได้แต่กลั้นความโกรธไว้ แล้วบอกกลับไปว่า “แม้แต่ส้วมชักโครก คอมพิวเตอร์ หรือรถยนต์ เด็กน้อยเหล่านี้ก็ไม่เคยเห็น” เขารู้ดีว่าอุปกรณ์การสอนของโรงเรียนแทบจะไม่มีอะไรเลย สภาพเช่นนี้เด็กจะเรียนรู้ได้อย่างไร
หลี่ ฮวาน นักเรียนหญิงอายุ 12 คนหนึ่ง บอกว่า เรื่องที่เธอภูมิใจที่สุด คือได้ออกไปที่ตัวตำบล และเห็นรถยนต์จริงๆ ทำให้เด็กน้อยตั้งความหวังว่า การได้ขับรถ คือความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอ
บนดอยไม่มีโรงเรียนมัธยม ต้องลงมาจากภูเขาจึงมีโรงเรียนมัธยมสองแห่ง แต่สภาพก็แออัดมาก แทบจะรับนักเรียนเพิ่มไม่ไหว ปีนี้มีเด็ก 12 คนจบจากโรงเรียนประถมกู่ลู่ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนต่อมัธยมต้น ครูเซินกับเปาถังเทาขึ้นๆลงๆเขานับครั้งไม่ถ้วน จนในที่สุดก็ส่งเด็กๆเข้าเรียนได้
เดือนกันยายนที่แล้ว “หยางเฟย” รุ่นน้องของเปาถังเทาก็มาเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนกู่ลู่อีกแรงหนึ่ง เธอยังสอนวิชาดนตรีให้เด็กๆด้วย แต่เธอพบว่า เด็กทั้งชั้นร้องเพลงได้เพลงเดียว เป็นเพลงที่ครูเซินสอนร้องด้วยทำนองแปล่งๆ ที่ชื่อว่า “พรุ่งนี้ต้องดีกว่า” หวังเฟยจึงสอนเด็กร้องเพลงชื่อว่า “เสียงเพลงและรอยยิ้ม” ถือว่าเป็นเพลงเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน
ครูเซินบอกว่า เขารู้สึกซาบซึ้งกับเด็กหนุ่มสาวสองคนนี้มาก ที่มาช่วยเขาแบ่งเบาภาระ
กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาสาสมัครและนักข่าวนำเสื้อกันหนาวมาให้กับเด็กๆ ต่อหน้ากล้องถ่ายรูปเด็กมีท่าทีตื่นเต้น เก้ๆกังๆ แต่พอได้สวมเสื้อกันหนาวตัวใหม่ ใบหน้าของเด็กๆก็มีรอยยิ้มเปื้อนอยู่ แต่ หยางเฟย กลับรู้สึกกังวลอยู่ลึกๆ คนใจบุญเอาของมาแจกมากมาย แต่ไม่เคยมีใครเอาใจมาแจก ทุกครั้งที่มีคนแปลกหน้ามาเยือน แววตาของเด็กๆต่างเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง แต่คนเหล่านั้นมาแล้วก็จากไป ทิ้งไว้ก็เพียง แววตาที่หมดหวังของเด็กๆ หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เป็นไปได้ไหมเด็กๆเหล่านี้จะเคยชินกับการคอยแต่พึ่ง “น้ำใจ” จากคนอื่น
หยางเฟยยังไม่คุ้นเคยกับชีวิตที่หมู่บ้านกู่ลู่มากนัก โดยเฉพาะยามค่ำคืนอันมือสนิทที่เธอต้องเเอบอยู่ที่มมุมหนึ่ง ของห้องเรียนเพื่ออาบน้ำ ค่ำคืนบนเขาอันหนาวเหน็บ ทำให้เธอต้องแอบร้องไห้อยู่หลายครั้ง
เด็กๆตื่นเต้นกับดินสอสีที่ได้รับแจกเป็นครั้งแรก จนเอามาขีดๆเขียนๆบนผนังเล่น จนครูเซินต้องเอ็ดเป็นภาษาถิ่น “คงมีแต่ครูเซิน ที่เอาเด็กๆพวกนี้อยู่” ชาวบ้านคนหนึ่งพูดออกมา
“วันหนึ่งครูเปากับครูหยางก็ต้องจากไป ผมรู้ดี ผมก็ได้แต่หวังว่าจะมีอาสาสมัครดีๆอย่างทั้งคู่ มาช่วยเหลือเด็กๆเหล่านี้อีก” ครูเซินพูดพร้อมรอยยิ้มอย่างจริงใจ
“เด็กๆชอบครูคนไหนมากที่สุด” ใครคนหนึ่งถามขึ้นมา
“ครูเซิน เพราะครูอยู่กับพวกเราตลอดมา” เด็กคนหนึ่งตอบอย่างพาซื่อ