ลิ้นจี่ ผลไม้เปลือกสีแดงผิวขรุขระ แต่เนื้อในหวานฉ่ำ เป็นผลไม้ที่ได้รับความชื่นชอบจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศจีน
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย แต่น่าเสียดายที่เน่าเร็ว ปัจจุบันต้องขอบคุณการคมนาคมขนส่งที่รวดเร็วทันสมัย จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยที่ชาวปักกิ่ง ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ จะได้ลิ้มชิมรสลิ้นจี่ราคาถูกและสุกงอม ซึ่งปลูกเจริญงอกงามดีทางแดนใต้ของจีน
ย้อนไปเมื่อพันกว่าปีก่อน ในเมืองฉางอัน (หรือก็คือซีอัน เมืองเอกของมณฑลส่านซี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีนในปัจจุบัน) มีสาวงามนางหนึ่งโปรดปรานลิ้นจี่เป็นที่สุด นางก็คือ “หยาง อี้ว์หวน” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หยางกุ้ยเฟย” นั่นเอง
หยาง กุ้ยเฟย เป็นสนมเอกของฮ่องเต้ถังเสวียนจง (ค.ศ.685-762) และเป็น 1 ใน 4 ยอดหญิงงามในประวัติศาสตร์จีนด้วย
ลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่ปลูกมากทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะที่หลิ่งหนัน ในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง เนื่องจากระยะทางห่างไกลจากเมืองหลวงนับพันลี้ อีกทั้งการคมนาคมขนส่งสมัยนั้นก็อืดอาดเหลือเกิน แต่เพื่อสนมเอกที่ทรงรักแล้วฮ่องเต้จึงทรงมีพระบัญชาให้ม้าเร็วเร่งขนส่งลิ้นจี่สดๆ มายังเมืองหลวงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในบันทึกประจำวันของลิ้นจี่ 《荔枝日序》 ของไป๋จวีอี้ระบุไว้ว่า ลิ้นจี่นั้นผ่านไป 1 วันสีจะเปลี่ยน ผ่านไป 2 วันกลิ่นเปลี่ยน ผ่านไป 3 วันรสชาติเปลี่ยน หลังจากวันที่ 4-5 ไปก็จะไม่อร่อยและไม่หอมหวานอีกแล้ว
ดังนั้นม้าเร็วที่ทำหน้าที่ขนส่งลิ้นจี่นั้นจำเป็นต้องวิ่งต่อเนื่องตลอด โดยจะมาผัดเปลี่ยนม้าที่จุดพัก/เปลี่ยนม้าที่มีเป็นระยะๆ ตลอดเส้นทางมายังเมืองหลวง เมื่อสนมหยางเห็นฝุ่นควันตลบของม้าเร็ว ก็จะทรงแย้มสรวลออกมาทันที ด้วยรู้ว่านั่นหมายถึงลิ้นจี่ได้ส่งมาถึงแล้ว
ตู้มู่ กวีชื่อดังสมัยถัง (618-907) ก็เคยพาดพิงถึงในบทกลอนเสียดสีความฟุ้งเฟ้อในพระราชสำนักที่ว่า “เห็นม้าเร็วสนมเอกพลันแย้มสรวล ใครบ้างรู้เหตุเพราะลิ้นจี่มา”
นับตั้งแต่นั้นมาลิ้นจี่ก็ยกให้เป็นผลไม้ล้ำเลิศของจีน นอกจากนี้ลิ้นจี่ยังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “สนมยิ้ม” (妃子笑) และด้วยความรักระหว่างถังเสวียนจงและหยางกุ้ยเฟย จึงทำให้ลิ้นจี่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักโรแมนติกด้วย
กล่าวถึงระบบการขนส่งในสมัยก่อนกันบ้าง เป็นที่ทราบกันว่าระบบการขนส่งของจีนนั้นมีขึ้นครั้งแรกในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อนประวัติศาสตร์) จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมอำนาจของพระองค์ในการควบคุมประเทศที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลนี้ กระทั่งมาในสมัยราชวงศ์ถังระบบขนส่งของจีนก็พัฒนาและมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก
ราชสำนักได้ว่าจ้างเจ้าหน้าที่ขนส่งนับพันคนซึ่งมีตำแหน่งและความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน เพื่อให้บริการงานขนส่ง และมีการขยายขนาดที่ว่าการจุดรับส่งให้มากขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งจุดรับส่งจดหมายและสินค้าทุกๆ 30 ลี้บนถนนสายสำคัญของประเทศ (1 ลี้ในสมัยถังเท่ากับ 450 เมตร)
ตามตัวเลขในประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า ในช่วงที่ฮ่องเต้ถังเสวียนจงขึ้นครองราชย์นั้นมีจุดรับส่งจดหมายทั้งสิ้น 1,639 จุดทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีจุดรับส่งทางน้ำ 260 จุด บนดิน 1,297 จุด และให้บริการทั้งสองทาง 86 จุด
ส่วนความรวดเร็วในการขนส่งจดหมายและสินค้านั้นก็ถูกบัญญัติไว้ชัดเจนตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนของพัสดุนั้นๆ ถ้าใช้ม้าเร็ววิ่งทางบก ความเร็วของม้าก็จะกำหนดตั้งแต่ 180 ลี้ 300 ลี้ และอาจมากถึง 500 ลี้ (หรือราว 225 กิโลเมตร) ต่อวัน ถ้าเดินเท้าก็ประมาณ 50 ลี้ต่อวัน
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีระบบการขนส่งที่รวดเร็วขนาดไหนก็ยังต้องใช้เวลาเป็นวันๆ กว่าจะขนส่งผลไม้ที่เน่าเสียง่ายอย่างลิ้นจี่จากทางตอนใต้ของจีนมายังเมืองซีอัน ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวิธีรักษาความสดของผลไม้ก่อนที่จะเดินทางทุลักทุเลเป็นระยะทางไกล
บางครั้งถึงขนาดขนต้นลิ้นจี่ที่ผลใกล้สุกมา จนเมื่อใกล้ถึงจุดหมายผลไม้ก็สุกร่วงจากต้นพอดี หรืออาจใช้วิธีการอื่นเช่น การเก็บลิ้นจี่ติดกิ่งติดใบ แล้วปิดผนึกด้วยขี้ผึ้งเพื่อรับประกันความสดใหม่