เอเชีย ไทม์ – สื่อชี้จีนมุ่งสร้างชื่อด้านอวกาศ แต่ยังหากำไรไม่ได้ เหตุไม่สามารถผันเทคโนโลยีมาใช้ในภาคธุรกิจเต็มที่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดาวเทียม ที่หวังเจาะตลาดอาเซียน ยังไปไม่ถึงไหน
เอเชียไทม์เผย จีนยังไม่สามารถบรรลุเป้า นำดาวเทียมมาใช้เพื่อธุรกิจได้เต็มที่ เหตุมีบริษัทดำเนินการเพียงแห่งเดียวคือ ไชน่า เกรท วอลล์ อินดัสตรี แถมพึ่งรัฐบาลมาก ขณะที่คู่แข่งทั้งยุโรป และอเมริกามีหลากหลายบริษัททั้ง ล็อคฮีท มาร์ติน, โบอิ้ง, อีเอดีเอส แอสเทรียม และออบิทอล ไซน์
หลังจากร้างวงการดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ไปนาน ล่าสุดเมื่อปี 2005 จีนได้หวนกลับเข้าวงการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวหวนคืนวงการ กลับไม่ได้สง่างามดั่งที่คาดหวัง เมื่อปี 2006 จีนโฆษณาอย่างมาดมั่นว่า ดาวเทียมซิโนแซท-2 จะสามารถถ่ายทอดสัญญาณทีวีไปยังลูกค้าได้ราว 100 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หลังจากยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้เพียง 10 วัน แผงโซลาร์ เซลล์กลับไม่ทำงาน กระทั่งส่งผลให้ดาวเทียมมีปัญหา
แม้จะมีปัญหาทางเทคนิคบ้าง ทว่าการผงาดช่วงชิงส่วนแบ่งดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ของจีน ก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์คาดว่า กว่าจีนจะไล่ตามอเมริกาและยุโรปได้ คงต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะจีนยังมีปัญหาอีกมาก ทั้งเรื่องปัจจัยทางการเมือง, ความลังเลของผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจในบริการราคาถูกจากจีน และ จำนวนดาวเทียมจีนที่ยังมีไม่มากนัก
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดดาวเทียมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเสมือนขุมทอง ที่หลายฝ่ายช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างเมามัน ทว่าจีนกลับไม่ได้รับส่วนแบ่งมากเท่าไรนัก บรรดาผู้ประกอบการชาวอุษาคเนย์ต่างตั้งเป้าให้บริการทีวีดาวเทียมให้กับผู้บริโภคในภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆอาทิ การศึกษาทางไกล, การแพทย์ทางไกล และการประชุมทางไกล ซึ่งต้องอาศัยดาวเทียมเป็นเครื่องมือสำคัญ
ดังนั้นดาวเทียมจำนวนมากจึงถูกยิงขึ้นสู่วงโคจร เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของตลาด ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเดือนเมษายนดาวเทียมวินาแซท 1 ของเวียดนามซึ่งผลิตโดยสหรัฐฯ ก็เพิ่งขึ้นสู่วงโคจร นอกจากนี้บริษัทโปรโต สตาร์ ซึ่งมีฐานอยู่ที่เบอร์มิวดา ก็เพิ่งยิงดาวเทียมซึ่งผลิตโดยสหรัฐฯขึ้นสู่วงโคจร โดยดาวเทียมดังกล่าวมีศักยภาพ สามารถรองรับตลาดเอเชียทั้งหมด แถมทางบริษัทยังมีโครงการยิงดาวเทียมดวงที่ 2 ในปีหน้าด้วย
ทางเดินที่ยาวไกล
แพทริค เฟรนซ์ นักวิเคราะห์ด้านโทรคมนาคมจากสิงคโปร์ เผยว่า ขณะนี้ดาวเทียมที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ยังเข้าคิวรอขึ้นสู่วงโคจรอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ เอเชียแซท-5, โคเรียแซท-6, เจซีแซท-12, ออปตุส-ดี3 ฯลฯ โดยดาวเทียมเหล่านี้มุ่งให้บริการทางพาณิชย์ในภูมิภาคเอเชีย
นอกจากนี้ผู้บริหารบริษัทดาวเทียมแห่งหนึ่งในเอเชีย ยังประมาณว่า จะมีการยิงดาวเทียมจากทั่วภูมิภาคเอเชียรวมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการยิงดาวเทียม เอสที-2 ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนของบริษัทสิงเทล จากสิงคโปร์กับ จงหัวของไต้หวัน เพื่อให้บริการด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากการแข่งขันอันดุเดือดในตลาด จีนยังต้องเดินอีกไกลกว่าจะถึงฝั่งฝัน แม้จีนจะก้าวเข้าสู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์บ้างแล้ว ทว่าตลาดที่จีนบุกไปนั้น ส่วนมากกลับเป็นตลาดชายขอบอาทิ ไนจีเรีย, เวเนซุเอลา และลาวเป็นต้น โดยจีนให้เงินอุดหนุนเกือบทั้งหมดสำหรับดาวเทียมนิกคอมแซ็ท-1 ของไนจีเรีย ซึ่งเพิ่งขึ้นสู่วงโคจรปีที่แล้ว นอกจากนี้ดาวเทียมของเวเนซุเอลาคือ เวเนแซ็ท-1 ซึ่งจะถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ได้รับการสนับสนุนจากจีนเช่นเดียวกัน ส่วนทางลาวก็เพิ่งลงนามในสัญญากับจีน อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า นอกจากวัตถุประสงค์ด้านการพาณิชย์แล้ว โครงการดาวเทียมของจีนยังมีวาระซ่อนเร้นเพื่อการสอดแนมด้วย
นักวิเคราะห์เชื่อว่า ทางการจีนต้องการขยายช่องในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร และแหล่งสินค้าหลักๆของโลก ผ่านโครงการดาวเทียมต่างๆ การปล่อยกู้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มาซื้อดาวเทียม ที่ผลิตโดยประเทศตน อย่างที่จีนทำ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการ ทั้งมาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ก็เคยลงนามในสัญญาดาวเทียมกับสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากเอ็กซิมแบงก์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ในกรณีของไทยจะพบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสก็เพิ่งปล่อยเงินกู้ให้กับไทย โดยเงินจำนวนดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการยิงดาวเทียมของบริษัทไทยคม หรือ ชิน แซทเทิลไลท์ เดิม
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ปล่อยกู้ที่จีนนำมาใช้ ก็ยังไม่ใช่ทางลัดที่ทำให้จีนก้าวสู่แถวหน้าได้ ปีเตอร์ อีวานส์ นักวิเคราะห์จาก บัดด์คอมม์ ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์ด้านโทรคมนาคมของออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษาแผน 5 ปีสำหรับการพัฒนาดาวเทียมเชิงพาณิชย์ของกระทรวงสื่อสารโทรคมนาคมของจีน และให้ความเห็นว่า
“แผน 5 ปีของจีนเต็มไปด้วยรายการสิ่งที่ต้องทำมากมาย พร้อมตั้งเป้าหมายไว้สูงมาก แต่ผมสงสัยว่า ในบรรดารายการต่างๆที่บรรจุไว้ในแผน ทางการจีนจะทำให้สิ่งต่างๆบรรลุได้อย่างไร”
อย่างไรก็ตาม โรเจอร์ รัช ที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมดาวเทียมจากแคลิฟอร์เนีย ได้แสดงทัศนะในแง่บวกกับการเติบโตของจีนว่า “ผู้ประกอบการส่วนมากต้องการดาวเทียมราคาถูก ที่ไว้วางใจได้ และตอนนี้จีนก็เริ่มสร้างชื่อเสียง ซึ่งจะช่วยให้จีนเข้าแข่งขันในตลาดได้ง่ายขึ้น”
อุปสรรคระยับฟ้า
ถึงแม้นักวิเคราะห์บางร้ายจะมองอนาคตดาวเทียมจีนค่อนข้างสดใส ทว่าเมื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ การบุกตลาดดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะตลาดอุษาคเนย์ยังเป็นเรื่องที่ต้องรออีกไกล เนื่องด้วยดาวเทียมแต่ละดวงมีอายุใช้งาน 12-15 ปี ฉะนั้นจีนคงต้องรออีกสักพักกว่าจะบุกตลาดได้ ด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีดาวเทียมที่ให้บริการในปัจจุบันมากมาย นอกจากนี้ความหวาดระแวงจีนในหมู่ประเทศอาเซียนยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเจาะตลาด
ในกรณีของเวียดนามความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆดอนๆกับจีน ทำให้ทางเวียดนามเลือกที่จะใช้บริการจากประเทศอื่น อาทิ ดาวเทียมวินาแซท 1 ซึ่งเพิ่งขึ้นสู่วงโคจรในปีนี้ ก็เป็นดาวเทียมที่ผลิตโดยบริษัทสหรัฐฯ ยิงขึ้นสู่วงโคจรโดยฝรั่งเศส และอาศัยความช่วยเหลือทางเทคนิคจากญี่ปุ่น
รัชได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ถึงแม้เขาจะมองอนาคตจีนในแง่บวก ทว่า กว่าจีนจะก้าวสู่แถวหน้าคงต้องใช้เวลาอีกนาน “ชื่อเสียง และประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นสิ่งสำคัญกว่าราคาถูก” รัชกล่าว
นอกจากชื่อเสียง และประสบการณ์แล้ว หากพิจารณาจากกรณีของเวียดนาม ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เมื่อเดือนกันยายนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามได้เดินทางไปเยือนลาว พร้อมกับยื่นข้อเสนอให้บริการส่งสัญญาณทีวีผ่านดาวเทียมเวียดนามฟรี ครั้นเดือนตุลาคมรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารโทรคมนาคมของทั้งสองฝ่าย ก็บรรลุข้อตกลงกว้างๆ เกี่ยวกับการให้บริการทีวีดาวเทียม และบริการแพร่ภาพกระจายเสียงอื่นๆ
พ้นจากปัจจัยข้างต้น รัชยังชี้ว่า การบุกตลาดอาเซียน ยังมีปัญหาสำคัญคือ ขณะนี้ศักยภาพทางการพาณิย์ของดาวเทียมที่ให้บริการภูมิภาคนี้ ยังไม่ถูกใช้เต็มที่ ดาวเทียมของประเทศต่างๆอาทิ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย และฟิลิปปินส์ก็ประสบปัญหาในด้านการพาณิชย์ ไม่สามารถเก็บผลกำไร จากการให้บริการได้เท่าที่ควร
จีนอาจมีทางเลือกบุกสู่ภูมิภาค ผ่านการให้บริการพม่า ซึ่งยังคงพึ่งพิงดาวเทียมไทยคม และ เอสที-1 เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากจีนต้องการบุกทะลวงเข้าสู่ตลาดอย่างเต็มที่ จีนจำเป็นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ และเรียนรู้อีกมาก เนื่องจากแผนการของรัฐบาล ที่เน้นการเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมราคาถูก ยังไม่สามารถสร้างชื่อเสียง และทำให้ดาวเทียมจีนเป็นที่ยอมรับของตลาด