xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณรัฐจีน / ธารประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) หยวนซื่อไข่ กับ (ขวา) ซุนยัตเซ็น บนธงสาธารณรัฐจีนในยุคต้น
ภายหลังเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่อู่ชัง กระแสแห่งการปฏิวัติได้ลุกโชนลามเลียไปทั่วแผ่นดินจีน หลังจากที่กลุ่มปฏิวัติสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ก็ได้เตรียมที่จะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวเพื่อจัดสรรอำนาจปกครองอย่างเป็นทางการขึ้น

ระหว่างการจัดตั้งกองกำลังแต่ละกลุ่มต่างเกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก ในการคัดสรรบุคคลที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลชั่วคราว จนการจัดตั้งรัฐบาลต้องล่าช้าออกไป หน่วยงานกลางของสมาพันธ์ถงเหมิงที่อู่ฮั่นกับเซี่ยงไฮ้จึงได้ส่งโทรเลขไปยังกลุ่มปฏิวัติในแต่ละมณฑลเพื่อให้ส่งตัวแทนเข้ามาหารือในการจัดตั้งรัฐบาลกลาง
เครื่องแต่งกายที่แตกต่างในยุคสาธารณรัฐจีน
ช่วงเวลานั้นประจวบกับซุนยัตเซ็นได้กลับมายังมายังประเทศจีนพอดี ทำให้การหารือของตัวแทน 17 มณฑลในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ.1911 ได้มีการคัดเลือกเลือกให้ซุนจงซัน (孙中山)หรือซุนยัตเซ็นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว และกำหนดชื่อของประเทศเป็นสาธารณรัฐจีน (中华民国)

จากนั้นในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ซุนยัตเซ็นจึงได้เข้าพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวคนแรกของสาธารณรัฐจีน และเมื่อถึงวันที่ 3 มกราคม จึงได้มีการเลือกด้วยมติเอกฉันท์จากตัวแทน 17 คนให้หลีหยวนหง (黎元洪) เป็นรองประธานาธิบดี ตัดสินใจใช้ธง 5 สีเป็นธงประจำชาติ และใช้ธงที่มีดาว 18 ดวงเป็นธงประจำกองทัพบก และธงฟ้าครามอาทิตย์น้ำเงินเป็นธงกองทัพเรือ

รัฐบาลใหม่ได้เลือกให้เมืองนานกิง เป็นเมืองหลวงชั่วคราว ส่วนตัวแทนจากมณฑลต่างๆก็ได้แปรสภาพมาเป็นสภานิติบัญญัติชั่วคราว มีการผ่านร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐจีนขึ้น อีกทั้งมีการประกาศกฎหมายใหม่ๆเป็นจำนวนมาก มีการประกาศให้ประชาชนทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการเข้ารับการเลือกตั้ง พักอาศัย นับถือศาสนา ชุมนุม วิพากษ์วิจารณ์ และเผยแพร่ความคิดของตนได้อย่างอิสระ จากนั้นได้ยกเลิกการเก็บภาษีการเกษตรแบบรีดนาทาเร้นของราชวงศ์ชิง สนับสนุนให้ชาวจีนโพ้นทะเลกลับมาลงทุนในประเทศ ด้านการศึกษามีการสอนในเรื่องของอิสรเสรีความเสมอภาค สนับสนุนให้โรงเรียนมีทั้งชายและหญิง ยกเลิกคำเรียกขานแบ่งชนชั้นในอดีตเช่น “ใต้เท้า” “นายท่าน” และให้หญิงชายทุกคนตัดผมเปียทิ้ง หญิงห้ามมัดเท้า และห้ามไม่ให้ประชาชนเล่นการพนัน สูบฝิ่น หรือเพาะปลูกฝิ่น
หยวนซื่อไข่
ทว่าหลังสาธารณรัฐจีนได้ถูกสถาปนาขึ้นไม่นานก็ต้องพบกับแรงกดดันจากกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มที่ร่วมมือกัน โดยเฉพาะหยวนซื่อไข่ (袁世凯) ที่ใช้ทั้งกำลังกองทัพและการหลอกลวงทางการเมือง บีบให้คณะปฏิวัติต้องยอมส่งมอบอำนาจรัฐให้กับหยวนซื่อไข่

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 ฮ่องเต้ผู่อี๋ได้ประกาศสละราชสมบัติ ต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ดร.ซุนยัตเซ็น ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีต่อสภานิติบัญญัติ และทางสภาได้เลือกให้หยวนซื่อไข่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวคนที่ 2 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์

แม้ว่าหยวนซื่อไข่ จะสามารถแย่งชิงผลประโยชน์อันเกิดจากการปฏิวัติไปได้แต่เขาก็ยังมิได้พอใจ ยังคงฝันหวานอยากจะเป็น “ฮ่องเต้” อยู่ ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1913 เนื่องจากรัฐธรรมนูญใหม่ได้กำหนดว่าผู้ที่จะมาเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้เสียง 3 ใน 4 ทำให้หยวนซื่อไข่ส่งกำลังทหาร เข้าล้อมสภาฯ หลังจากการโหวต 2 ครั้งที่หยวนไม่ได้รับตำแหน่ง เขาจึงตัดสินใจใช้กำลังบีบให้สภาฯเลือกตนเองเป็นประธานาธิบดี และเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 ตุลาคม

หลังจากนั้น หยวนได้ทำการยุบพรรคก๊กมินตั๋ง และสภาฯ จากนั้นได้ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญที่ถูกเรียกขานเป็นฉบับหยวนซื่อไข่ขึ้น แล้วรวบอำนาจทางการทหารทั้งหมดมาไว้ที่ตน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้หยวนสามารถเป็นประธานาธิบดีได้คราวละ 10 ปีไม่จำกัดวาระ ยังสามารถที่จะเลือดผู้สืบทอดได้เองอีกด้วย

แม้ว่าอำนาจของหยวนในขณะนั้น จะแทบไม่ต่างไปจากระบอบกษัตริย์แล้วก็ตาม ทว่าเดือนธันวาคมปีค.ศ. 1915 หยวนซื่อข่ายได้อ้างการเรียกร้องของประชาชน ในการประกาศฟื้นฟูระบบการปกครองระบอบกษัตริย์ขึ้น และตั้งชื่อปีรัชกาลของตนว่าหงเสี้ยน (洪宪) ทว่าการกระทำดังกล่าวไม่เพียงแต่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากซุนจงซันกับเหลียงฉี่เชา แม้แต่ต้วนฉีรุ่ย (段祺瑞) และเฝิงกั๋วจาง (冯国璋)ผู้นำกองทัพเป่ยหยางเองก็มีความไม่พอใจ จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคมเช่อเอ้อ (蔡锷) และถังจี้เหยา (唐继尧) ได้ก่อตั้งกองทัพปฏิวัติขึ้นที่หยุนหนัน (ยูนนาน) โดยเริ่มต้นเปิดฉากสงครามพิทักษ์ชาติโจมตีหยวนซื่อข่าย โดยมีกุ้ยโจว กว่างซีที่ให้การสนับสนุน ในกองทัพเป่ยหยางเองก็ส่งสัญญาณต่อต้านมาไม่น้อย ทำให้ในที่สุดหยวนซื่อไข่จึงถูกบีบให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1916 หลังจากที่เพิ่งสถาปนามาได้เพียง 83 วัน และกลับมาใช้ชื่อสาธารณรัฐจีน
ธนบัตรที่พิมพ์รูปของขงจื่อ
ภายหลังได้มีการแต่งตั้งให้ต้วนฉีรุ่ยให้จัดตั้งคณะรัฐบาลพร้อมควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในขณะที่ต้วนเองก็บีบให้หยวนต้องส่งมอบอำนาจของกองทัพให้กับตน แต่หลังจากนั้นกว่างตง เจ้อเจียง ส่านซี หูหนัน และซื่อชวน (เสฉวน) กลับได้ส่งโทรเลขประกาศตัวเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นกับหยวนซื่อไข่อีกต่อไป กระทั่งวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1916 หยวนได้ป่วยตายด้วยโรคปัสสาวะเป็นพิษ และเสียชีวิตด้วยวัย 57 ปี

ขบวนการ 4 พฤษภาคม

หลังจากที่หยวนซื่อไข่ตายไปท่ามกลางเสียงก่นด่าของผู้คน หลีหยวนหงก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อ โดยมีต้วนฉีรุ่ยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าในช่วงเวลานั้นได้เกิดความขัดแย้งขึ้นในกองทัพ ทำให้มีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีกันบ่อยครั้ง โดยในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1917 ได้มีการแต่งตั้งให้เฝิงกั๋วจาง มาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปักกิ่ง พอมาถึงวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1918 ก็แต่งตั้งสีว์ซื่อชัง(徐士昌)เป็นประธานาธิบดี กระทั่งในเที่ยงวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1919 ขณะที่สีว์ซื่อชัง กำลังจัดงานเลี้ยงอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในจงหนันไห่ ก็เป็นช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่าขบวนการ 4 พฤษภาคมขึ้น

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่ปีค.ศ.1914 ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วบุกยึดเกาะชิงเต่าและเส้นทางรถไฟเจียวจี้ไว้ตลอดทั้งสาย ควบคุมและแย่งชิงสิทธิทุกอย่างของเยอรมนีในมณฑลซันตงเอาไว้ กระทั่งในปีค.ศ. 1918 เมื่อสงครามโลกสิ้นสุด เยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม ประเทศที่ชนะสงครามจึงได้ชัดเจรจาสันติภาพขึ้นในวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1919 ขึ้นที่ปารีส รัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลทหารที่กว่างโจวได้ร่วมกันส่งตัวแทนไปประชุม และได้ยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกสิทธิพิเศษของประเทศต่างๆในจีน รวมถึงยกเลิกสัญญาอยุติธรรมที่หยวนซื่อไข่ได้ทำไว้กับญี่ปุ่น อีกทั้งคืนสิทธิพิเศษต่างๆในมณฑลซันตงที่ญี่ปุ่นได้ชิงมาจากเยอรมนี แต่เนื่องจากการประชุมในปารีสนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจ ข้อเรียกร้องของจีนจึงไม่เพียงแต่ถูกปฏิเสธ แถมได้ระบุให้ยกเอาสิทธิพิเศษของเยอรมนีในซันตงโอนถ่ายมาให้กับญี่ปุ่น ทำให้ในขณะที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังเตรียมจะลงนามในสนธิสัญญานั้น ประชาชนชาวจีนจึงลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง

นักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงในช่วงเหตุการณ์ขบวนการ 4 พฤษภาคม
ในวันที่ 4 พฤษภาคม นักศึกษาจาก 13 สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มัธยมปักกิ่ง มหาวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยเฉาหยาง มหาวิทยาลัยหมินกั๋ว ราว 3,000 คนได้ไปรวมตัวที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน แล้วร้องตะโกนว่า “ภายนอกชิงอธิปไตยชาติ ภายในปราบโจรแผ่นดิน” “ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญา” “ยกเลิกสัญญา 21 ข้อ” “แม้ตายก็ขอเอาเกาะชิงเต่าคืน” โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงการยืนยันที่จะต่อต้านและขอให้ลงโทษเฉาหรู่หลิน (曹汝霖) ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มขายชาติให้กับญี่ปุ่น โดยในครั้งนักศึกษาที่รักชาติได้พากันออกมาเดินขบวน แต่ก็ถูกทหารตำรวจกลุ่มใหญ่ทำการควบคุม และจับกุมตัวนักศึกษาไป 32 คน

วันต่อมานักศึกษาจากวิทยาลัยและมหาวิทายาลัยต่างทำการประท้วงหยุดเรียน และส่งข่าวการต่อต้านไปยังทั่วประเทศ แล้วจัดทั้งกลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาขึ้น โดยการออกมาประท้วงของนักศึกษาในครั้งนี้ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากผู้คนอย่างกว้างขวาง ในการช่วยกันกดดันให้รัฐบาลปักกิ่งทำการปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม

วันที่ 19 นักศึกษาในปักกิ่งได้เริ่มต้นประกาศหยุดเรียนอีกครั้ง คราวนี้นักเรียนนักศึกษาในเทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ฉางซา กว่างโจว ต่างก็ออกมาร่มเดินขบวน ในขณะที่นักศึกษาจีนที่ไปเรียนต่อในญี่ปุ่น ฝรั่งเศสก็เริ่มดำเนินกิจการสนับสนุนการประท้วง

ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน รัฐบาลปักกิ่งจำต้องออกมาประณามกลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขายชาติ เพื่อที่จะยับยั้งกิจกรรมการประท้วงต่างๆ ทว่าหลังจากนั้นอีก 2 วันนักเรียนนักศึกษาก็ยังเดินหน้าออกกล่าวปราศรัย จนกระทั่งมีนักเรียนถูกจับไป 170 คน และถูกจับอีก 700 คนในวันต่อมา เมื่อถึงวันที่ 5 ก็ยังมีนักเรียนอีกกว่า 2,000 คนที่เดินขบวนอยู่บนท้องถนน การกระทำที่ใช้ความรุนแรงของทางการได้ทำให้บุคคลในวงการต่างๆไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จนคนงาน 60,000 คนในเซี่ยงไฮ้ได้นัดหยุดงานสนับสนุนนักศึกษา แล้วลุกลามไปกลายเป็นมีการหยุดงานและเดินขบวนทั้งในปักกิ่ง ถังซัน ฮั่นโข่ว นานกิง เทียนจิน หังโจว ซันตง อันฮุยเป็นต้น นอกจากนั้นพ่อค้าในเซี่ยงไฮ้กับอีกหลายเมืองก็หยุดทำการค้าขาย การหยุดเรียน หยุดงาน และหยุดค้าขายได้แผ่ขยายไปกว่า 100 เมืองใน 20 มณฑลทั่วประเทศ
เจียงไคเช็คในวัยหนุ่ม
ในที่สุดท่ามกลางแรงกดดันมหาศาล ในวันที่ 10 มิถุนายน รัฐบาลปักกิ่งจึงยอมปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม และปลดเฉาหรู่หลิน ลู่จงอี๋ว์ และจางจงเสียงที่ถูกระบุว่าขายชาติออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 27 นักศึกษา แรงงานและชาวจีนในฝรั่งเศสหลายร้อยคนได้เดินทางไปยังที่พักของตัวแทนรัฐบาลจีนในฝรั่งเศส เรียกร้องให้ปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญา จนในวันที่ 28 ไม่มีตัวแทนจากจีนไปลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว

การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

หลังจากเหตุการณ์ขบวนการ 4 พฤษภาคม กระแสและแนวความคิดใหม่ๆ ได้ไหลบ่าเข้ามาสู่แผ่นดินจีน โดยเฉพาะแนวความคิดลัทธิมาร์กซ์ที่แต่เดิมมีอิทธิพลในจีนเพียงเล็กน้อย ก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ศึกษาขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากองค์การคอมมิวนิสต์สากล จนได้มีการรวมตัวแทนกลุ่มต่างๆและจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้น

เวลา 20.00 น.ของวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1921 การประชุมตัวแทนจากทั่วประเทศครั้งแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 คนอาทิเหมาเจ๋อตง (毛泽东), เหอซูเหิง ,ต่งปี้อู่,หลี่ต๋า,จางกั๋วเทา และเปาฮุ่ยเจิง ซึ่งเป็นตัวแทนของเฉินตู๋ซิ่วเป็นต้น (陈独秀)เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีคนจากองค์การพรรคคอมมิวนิสต์สากลมาเข้าร่วมด้วย จนกระทั่งเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมใหญ่ในวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ประชุมได้เลือกเฉินตู๋ซิ่วให้เป็นเลขาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประกาศตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอย่างเป็นทางการ

ภายหลังเมื่อดร.ซุนยัตเซ็น ได้ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพรรคกั๋วหมินตั่ง หรือก๊กมินตั๋ง โดยอนุญาตให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มาเข้าร่วมด้วย จากนั้นภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย กับทางโซเวียตจึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนทหารและการปกครองหวงผู่ ซึ่งนับเป็นผลิตผลแรกของความร่วมมือระหว่างซุนยัตเซ็นกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

โรงเรียนทหารและการปกครองที่จัดตั้งขึ้น มีซุนยัตเซ็นเป็นผู้อำนวยการ และเจี่ยงจงเจิ้ง (蔣中正) หรือเจียงไคเช็ค เป็นครูใหญ่ ดร.ซุนได้วางจุดประสงค์ไว้ที่การ “สร้างกองกำลังปฏิวัติ เพื่อช่วยจีนให้พ้นวิกฤต” มีการจัดสอนการใช้อาวุธ สอนแนวความคิดลัทธิไตรราษฎร์ และแนวความคิดของลัทธิมาร์กซ์ โดยให้ความสำคัญทั้งหลักสูตรทางด้านการทหารและการปกครอง จนสามารถสร้างบุคลากรชั้นนำในประเทศในภายหลังได้เป็นจำนวนมาก โดยระหว่างปีค.ศ. 1924-1949 มีนักเรียนที่จบทั้งสิ้น 23 รุ่น เมื่อรวมนักเรียนที่จบออกมาจากโรงเรียน และสาขาแล้วมีมากถึง 230,000 คน
เด็กในเซี่ยงไฮ้ในช่วงเวลาที่ถูกทหารญี่ปุ่นรุกราน
ต่อมา ซุนยัตเซ็นป่วยด้วยโรคมะเร็งในตับและเสียชีวิตในปักกิ่งวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1925 ด้วยอายุเพียง 59 ปี คำพูดสุดท้ายก่อนที่จะเสียชีวิตของเขาก็คือ “สันติภาพ.. ต่อสู้.. ช่วยประเทศจีน..” การเสียชีวิตของซุนยัตเซ็นได้สร้างความอาลัยโศกเศร้าไปทั่วประเทศ ในวันที่ 19 เมื่อมีการเคลื่อนศพจากโรงพยาบาล มีผู้คนที่ยืนไว้อาลัยอยู่รายทางนับแสนคน และหลังจากจัดพิธีฝังแล้ว ก็มีคนทยอยไปร่วมลงนามไว้อาลัยกว่า 2 ล้านคน ป้ายผ้าที่แขวนในงานศพของเขา ได้ระบุคำว่า “การปฏิวัติยังไม่สำเร็จ ขอสหายจงพยายามต่อไป”

สงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ

หลังการเสียชีวิตของซุนยัตเซ็น พรรคก๊กมินตั๋งและกองทหารได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นที่กว่างโจว และในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1926 รัฐบาลก็ได้แต่งตั้งเจียงไคเช็ค ให้เป็นผู้บัญชาการทหารปฏิวัติ เพื่อปราบปรามขุนศึกภาคเหนือ เริ่มต้นด้วยการบุกฉางซา เพื่อทำศึกปราบอู๋เพ่ยฝู (吴佩孚) สามารถเอาชนะได้ในศึกที่สะพานทิงซื่อ สะพานเฮ่อเซิ่ง จนกระทั่งเดือนกันยายน เจียงได้นำทัพบุกไปถึงฮั่นโข่ว ฮั่นหยาง แล้วบุกเมืองอู่ฮั่น หลังจากนั้นในศึกเจ้อเจียง เมื่อถึงยามคับขันเจียงถึงกับลงไปควบคุมทัพในการบุกเมืองด้วยตนเอง จากนั้นกองทัพได้เคลื่อนย้ายต่อเข้าไปในเจียงซี และมีคำสั่งให้กองทัพที่เฉาซ่าน บุกโจมที่มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) หลังจากที่บุกยึดฝูเจี้ยน เจ้อเจียงแล้ว ก็ได้เปิดศึกกับอู่ฮั่นต่อ จนกระทั่งสามารถทำลายกองทัพของอู๋เพ่ยฝูในอู่ฮั่นได้หมดสิ้น

ต่อมาเจียงไคเช็คได้นำกองกำลังจากฝูเจี้ยน เข้าไปทำลายกองกำลังหลักของโจวอิน บุกตีจางซู่ เฟิงเฉิง เจี้ยนชัง เต๋ออัน หย่งซิว ฝูโจว จนกระทั่งซุนฉวนฟังผู้นำอีกกองกำลังหนึ่งต้องมาขอเจรจาสงบศึกกับเจียง แต่ก็ถูกเจียงปฏิเสธไป

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน กองทัพของเจียงก็บุกเข้าไปถึงหนันชัง ซุนฉวนฟาง (孙传芳) ผู้บัญชาการทหารที่นั่นเลือกที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ เจียงจึงเข้าบัญชาการรบด้วยตัวเองและบุกตีจนกองทัพเจียงซีถูกทำลาย แล้วย้ายกองบัญชาการทหารไปอยู่ที่หนันชัง และบุกต่อไปยังจางโจว เฉวียนโจว ฝูเจี้ยนผิง และเมื่อถึงเดือนธันวาคม เอี๋ยนซีซันก็เข้าร่วมกับกองทัพปฏิวัติของก๊กมินตั๋ง

ทว่าในเดือนมีนาคมในปีค.ศ. 1927 เมื่อกองทัพบุกยึดหังโจว ซูโจวแล้ว รัฐบาลอู่ฮั่นกก็ได้มีมติปลดเจียงออกจากทุกตำแหน่งอย่างกะทันหัน ในขณะนั้นเจียงไคเช็คที่อยู่หนันชังได้ยื่นหนังสือแสดงการไม่ยอมรับการตัดสินใจดังกล่าว แล้วเคลื่อนทัพบุกเซี่ยงไฮ้ นานกิง เมื่อบุกเข้านานกิงแล้ว บรรดาคนจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในกองทัพปราบขุนศึกภาคเหนือได้กระทำการเข่นฆ่าชาวต่างชาติ จนทำให้กองทัพอังกฤษและสหรัฐฯนั้นหันหน้ามาโจมตีนานกิง จนกลายเป็นความขัดแย้งระดับชาติขึ้น สหภาพแรงงานในเซี่ยงไฮ้ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ทำการประท้วงหยุดงาน ตัดไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ ยึดสถานีตำรวจและสถานีรถไฟ เจียงได้ใช้วิธีการทางการทูตเพื่อเข้าแก้ปัญหา และให้ไช่หยวนเผย (蔡元培) ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสในพรรคก๊กมินตั๋งออกหนังสือประณามว่า “คอมมิวนิสต์เป็นผู้ทำกลายการปฏิวัติ วางแผนให้ร้ายประเทศชาติ” จากนั้นก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาเป็นการเร่งด่วน

ในภายหลัง เมื่อวันที่ 12 เมษายน ก็มีการดำเนินการยกเลิกสหภาพแรงงานในเซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็จับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนอาทิ วังโซ่วหัว เฉินถิงเหนียน เจ้าซื่อเอี๋ยนมาประหารชีวิต และนับเป็นจุดแตกหักระหว่างเจียงไคเช็คกับพรรคคอมมิวนิสต์

ถัดมาในวันที่ 17 ของเดือนเดียวกัน รัฐบาลก๊กมินตั๋งที่อู่ฮั่นได้ประกาศปลดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารปฏิวัติ และขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ถัดมาอีกหนึ่งวัน เจียงจึงได้ตั้งรัฐบาลก๊กมินตั๋งขึ้นใหม่ที่นานกิง แล้วทำหนังสือประกาศสู่สาธารณชน

กองทัพของเจียงยังคงเดินหน้าบุกโจมตีจี้หนัน แต่ก็ถูกกองทหารติดอาวุธของญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซง จนกองทัพต้องอ้อมขึ้นเหนือ และบุกประชิดปักกิ่งเทียนจินได้ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ทำให้จางจั้วหลิน (张作霖) ขุนพลกองกำลังรัฐบาลเป่ยหยางต้องหลบหนีออกไปนอกด่าน แล้วไปเสียชีวิตจากการวางระเบิดของฝ่ายญี่ปุ่น ต่อมาจางเสียว์เหลียง (张学良) บุตรชายของเขาขึ้นเป็นผู้นำกองทัพหลบหนีแทน หลังจากผ่านการเจรจาครึ่งปี ในที่สุดในวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.1928 จึงได้มีการส่งข่าวไปทั่วประเทศว่ายอมสนับสนุนรัฐบาลนานกิง และทำให้ประเทศจีนเหนือใต้ได้ร่วมเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

คลิกอ่านหน้า 2
ภาพในพิพิธภัณฑ์ที่ระลึกสงครามต่อต้านญี่ปุ่น
สงครามรุกรานจากญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้บุกยึดเสิ่นหยาง ในปีค.ศ. 1894 จนจีนพ่ายแพ้สงคราม และต้องขอเจรจาสงบศึก โดยส่งหลี่หงจางต้องเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ที่จีนต้องรับรองการปกครองตนเองของเกาหลี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยอมรับการปกครองของญี่ปุ่นเหนือเกาหลี อีกทั้งตกยกคาบสมุทรเหลียวตง ไต้หวัน หมู่เกาะเผิงหู (เพสคาดอเรส) ให้กับญี่ปุ่นอีกทั้งชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน 230 ล้านตำลึง ยังจะต้องอนุญาตให้ญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการค้าขาย ประกอบอุตสาหกรรม หัตกรรมตามท่าเรือได้

ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่ง 8 ประเทศพันธมิตรที่ร่วมบุกเข้ารุกรานประเทศจีน ญี่ปุ่นก็ได้ตั้งเป้าที่จะหาประโยชน์สูงสุดจากแผ่นดินจีนมาโดยตลอดจนกระทั่งวันที่ 18 กันยายน 1931 นั่นคือวันที่ญี่ปุ่นได้สร้างสถานการณ์ “เหตุการณ์บึงหลิ่วเถียว” (柳条湖事变)ในการโจมตีเมืองเสิ่นหยางใกล้บึงหลิ่วเถียวของจีน ซึ่งในเวลานั้น ญี่ปุ่นได้บุกยึดแมนจูเรีย และเล็งหาข้ออ้างที่จะโจมตีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาโดยตลอด จึงจงใจจุดชนวนศึกขึ้น

โดยในวันที่ 18 กันยายนปีนั้น เกิดระเบิดขึ้นที่ทางรถไฟสายแมนจูเรียใต้ของญี่ปุ่น แต่มีความเสียหายน้อยมากจนไม่กระเทือนการให้บริการปกติ ทว่าทหารญี่ปุ่นกลับอ้างว่า ทหารจีนยิงใส่พวกตนจากท้องนา จึงจำเป็นต้อง “ป้องกันตนเอง”

ในเวลานั้น รัฐบาลก๊กมินตั๋งอยู่ในช่วงรวบรวมกำลัง เพื่อสู้รบกับคอมมิวนิสต์ที่ลุกขึ้นต่อต้านในประเทศ จึงได้มีคำสั่งห้ามต่อต้าน ให้พยายามแก้ไขด้วยวิธีการทางการทูต และให้ถอนกำลังไปที่ด่านซันไห่กวน ทำให้ทหารญี่ปุ่นบุกยึดเสิ่นหยาง แล้วบุกยึดต่อไปที่จี๋หลิน เฮยหลงเจียง จนกระทั่งสามารถยึด 3 มณฑลทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนได้ในเดือนมกราคม 1932

ในเดือนถัดมาญี่ปุ่นได้สร้างรัฐใหม่ขึ้นบนแผ่นดินแมนจูเรีย โดยมีญี่ปุ่นคอยเชิดอยู่เบื้องหลัง ตั้งชื่อว่า ประเทศแมนจูเรีย (满洲国) มีฉางชุนเป็นเมืองหลวง แล้วนำผู่อี๋ (ปูยี) ฮ่องเต้ราชวงศ์ชิงองค์สุดท้ายที่ถูกปฏิวัติในปี ค.ค. 1911 ซึ่งมีอายุ 25 พรรษในขณะนั้นมาเป็นฮ่องเต้หุ่นที่ได้ปกครองแต่ในนาม จากนั้นญี่ปุ่นก็ใช้อำนาจในการขูดรีดประชาชน ทำลายวัฒนธรรม ทำให้ชาวจีนกว่า 30 ล้านคนต้องทนทุกข์ทรมาน

เหตุร้าย 18 กันยายนได้กลายเป็นชนวนความแค้นของจีนทั่วประเทศ จนมีการเรียกร้องให้ต่อต้านญี่ปุ่น และถึงขั้นประท้วงรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ไม่ยอมต่อกรกับญี่ปุ่น จนกระทั่งประชาชนจีนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนต่างเริ่มลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น เมื่อถึงปี 1937 การรวมตัวก็กระจายกว้างออกไป จนสามารถยืดหยัดสู้รบกับทัพญี่ปุ่นได้อย่างยาวนาน
เรื่องราวในวันที่ 18 กันยายน เป็นหนึ่งในแผนการที่ญี่ปุ่นได้วางไว้นานแล้ว เห็นได้จากเมื่อปี 1927 ที่ญี่ปุ่นได้ประชุมที่โตเกียว แล้วกำหนด “โครงสร้างนโยบายต่อจีน” ออกมา จากนั้นก็ได้แจ้งต่อจักรพรรดิ พร้อมประกาศว่า หากต้องการยึดครองจีน จะต้องสยบแผ่นดินแมนจูเรียก่อน และหากจะพิชิตโลก ก็จะต้องสยบจีนให้ได้ก่อน
ทหารญี่ปุ่นที่กำลังสังหารชาวจีนในนานกิง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ญี่ปุ่นที่รุกรานทางเหนือ และคอมมิวนิสต์ที่อยู่ทางใต้ บวกกับทหารหลายหน่วยที่ปกครองตัวเองไม่ยอมฟังคำสั่งจากส่วนกลาง จนกระทั่งจางเสียว์เหลียงและหยางหู่ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารภาคตะวันตกเฉียงเหนือตัดสินใจยอมรับความร่วมมือจากคอมมิวนิสต์ในการต่อต้านการรุกรานจากญี่ปุ่น และนำเรื่องเสนอต่อเจียงไคเช็ค จนกระทั่งในที่สุดภายหลังการหารือทำให้รัฐบาลก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้บรรลุข้อตกลงร่วมมือกันต่อต้านญี่ปุ่น

กระทั่งวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 หลังเหตุการณ์พลิกผันที่สะพานหลูโกว ที่ทางญี่ปุ่นได้อ้างว่ามีนายทหารของญี่ปุ่นในจีนหนึ่งคนหายตัวไป และเรียกร้องที่จะเข้มาค้นหาในเมืองหวั่นผิง ในขณะที่กองทัพของจีนยืนยันปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่า ทำให้ทหารญี่ปุ่นเริ่มต้นเปิดฉากยิงระเบิดเข้าสู่สะพานหลูโกว และบุกโจมตีทหารจีนที่เฝ้ารักษาในเมืองนับเป็นการระเบิดศึกอย่าเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่าย

สังหารหมู่ที่นานกิง

วันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1937 กองทัพญี่ปุ่นได้บุกเข้ามายังเมืองหนันจิง หรือเมืองนานกิง ซึ่งเป็นการบุกต่อเนื่องหลังจากที่ได้ทำการยึดเซี่ยงไฮ้ไปแล้ว โดยก่อนหน้าที่จะถูกบุกยึดนั้นกองกำลังของรัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ทำการปะทะกับทหารญี่ปุ่นที่นอกเมือง แต่ก็ไม่อาจต่อต้านทหารญี่ปุ่นที่แยกกันบุกมา 6 สายได้ จนกระทั่งถูกทหารญี่ปุ่นยึดเมืองท่ามกลางความโกลาหล

ภายใต้คำส่งของแม่ทัพญี่ปุ่นที่นำทัพเข้ามา เมืองนานกิงจึงถูกเผาทำลาย เข่นฆ่า ข่มขืน และปล้นชิงอย่างโหดเหี้ยมอย่างที่สุด


ในวันที่ 15 ธ.ค. ทหารญี่ปุ่นได้นำทหารและตำรวจจีนจำนวนกว่า 2,000 คนไปรวมตัวที่นอกประตูฮั่นจง จากนั้นก็ใช้ปืนกลยิงกราด แล้วก็จุดไฟเผาศพ ในคืนเดียวกันมีทหารกับประชาชนอีกมากกว่า 9,000 คนที่ถูกจับกุมตัวไปที่ค่ายทหารเรือ มีคนหนีรอดมาเพียง 9 คนในขณะที่ที่เหลือทั้งหมดถูกสังหารจนหมดสิ้น

พลบค่ำวันที่ 16 ธ.ค. ทหารและประชาชนจีนอีกมากกว่า 5,000 คน ถูกทหารญี่ปุ่นจับไปที่ริมท่าเรือจงซัน แล้วใช้ปืนยิงจนเสียชีวิตโยนถมลงไปในแม่น้ำ มีผู้รอดชีวิตมาเพียงไม่กี่คน

วันที่ 17 ธ.ค. ทหารญี่ปุ่นได้นำเอาทหารที่จับได้กับคนงานในโรงไฟฟ้านานกิงรวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 คนนำตัวไปยิงทิ้งที่บริเวณริมแม่น้ำ โดยมีคนส่วนหนึ่งที่ถูกฆ่าด้วยการใช้ฟืนเผาให้ตาย

วันที่ 18 ธ.ค. ทหารญี่ปุ่นได้นำเอาชาวบ้านและทหารในนานกิงที่หนีจากเมืองไปแล้วถูกจับได้จำนวน 57,000 คน แล้วใช้ปืนยิงกราด จากนั้นใช้ดาบไล่ฟัน และสุดท้ายจบด้วยการใช้น้ำมันราดแล้วเผา จากนั้นโยนกระดูกลงไปในแม่น้ำแยงซีเกียง โดยในการประหารครั้งนี้ มีการละเล่น “แข่งกันฆ่าคน”กันอีกด้วย

1 เดือนหลังจากที่ทหารญี่ปุ่นบุกยึดนานกิง ทั่วทั้งเมืองมีการข่มขืน และเวียนเทียนลงแขกหญิงชาวจีนชาวจีนกว่า 20,000 คดี โดยไม่เว้นไม่ว่าจะเป็นหญิงสาวหรือหญิงชรา มีสตรีอีกจำนวนมากที่หลังจากถูกข่มขืนแล้วก็ถูกฆ่าทิ้ง ทำลายศพอย่างเหี้ยมโหด มีซากจากสภาพการถูกฆ่า ถูกข่มขืน ถูกปล้นชิง วางเพลิงไปทั่วทั้งเมือง
ชาวจีนในฉงชิ่งที่ถูกสังหารโดยทหารญี่ปุ่น
ตามตัวเลขที่มีการตรวจสอบในศาลถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่นานกิง ปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นได้ทำการสังหารหมู่ทั้งสิ้น 28 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 190,000 คน และการแยกย้ายฆ่าอีก 858 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 150,000 คน การสังหารแบบล้างเมืองเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ของทหารญี่ปุ่น ได้ทำให้มีทหารที่ถูกยิงตายและฝังทั้งเป็นมากกว่า 300,000 คน

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา การศึกระหว่างจีนกับญี่ปุ่นก็ดำเนินไปอย่างดุเดือดเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี ไปสิ้นสุดเอาเมื่อญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้ในสงครามสงครามโลกครั้งที่สองในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และประกาศยุติศึกกับจีนอย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ทำให้นักประวัติศาสตร์หลายคนเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าสงครามต้านญี่ปุ่น 8 ปี ในขณะที่นักวิชาการหลายท่านคิดว่า หากจะนับเวลาที่จีนเริ่มต่อสู้กับญี่ปุ่นจริงๆ ควรจะเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 เท่ากับว่าสงครามระหว่าง 2 ชาติในครั้งนี้กินเวลานานกว่า 14 ปีทีเดียว

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งเข้ามาในจีนในช่วงที่มากที่สุดมีถึงเกือบ 2 ล้านคน อีกทั้งมีทหารที่ได้มาจาก การเข้ายึดพื้นที่ต่างๆอีกมากกว่าล้านคน ตามข้อมูลที่ทางญี่ปุ่นได้จัดทำในปีค.ศ. 1964 ทหารญี่ปุ่นที่ได้เสียชีวิตในการทำศึกกับจีนมีทั้งสิ้นราว 440,000 คน ในขณะที่ข้อมูลทางฝ่ายจีนระบุว่าทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตทั้งสิ้น 483,708 คนและบาดเจ็บ 1,934,820 คน

ขณะที่ทาง ทหารของกองทัพปฏิวัติจีนในช่วงที่มากที่สุดมีถึง 5 ล้านคน ได้ต่อสู้ครั้งใหญ่กับญี่ปุ่นทั้งสิ้น1,117 ครั้ง ศึกเล็กอีก 28,931 ครั้ง และมีทหารบกที่เสียชีวิต-สูญหายทั้งสิ้น 3,211,914 คน มีทหารอากาศเสียชีวิต 4,321 คน และสูญเสียเครื่องบินรบ 2,468 ลำ ในขณะที่ทหารเรือถูกทำลายจนแทบย่อยยับหมดสิ้น

ด้านประชากรจีนที่ต้องเสียชีวิตในสงคราม 9 ล้านคน และอีก 8 ล้านคนตายด้วยสายเหตุอื่น มีประชากร 95 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้ประสบภัย และค่าเสียหายที่จีนได้รับในขณะนั้น หากคิดตามอัตราของเมื่อปี 1945 จะอยู่ที่ราว 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อนุเสาวรีย์ที่ระลึกสงครามยุทธการเหลียว-เสิ่น
ความสูญเสียในด้านชีวิตของประชากรและทหารของจีนในสงครามครั้งนี้ ถูกประเมินไว้แตกต่างกันหลายแห่ง โดยที่ต่ำที่สุดได้ประเมินว่ามีผู้ที่ตายและสูญหายทั้งสิ้น 20.62 ล้านคน ในขณะที่บ้างก็ว่า 41 ล้านคน 45 ล้านคน กระทั่งมีผู้ประเมินว่าในศึกต่อต้านญี่ปุ่นนั้นทำให้มีคนจีนตายและสูญหายไปมากกว่า 50 ล้านคน


อย่างไรก็ตาม ในสงครามครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จีนได้รับชัยชนะในสงครามนักตั้งแต่สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เป็นต้นมา อีกทั้งมีการมองว่าการพลีชีวิตของคนจีนกว่า 20 ล้านคนนี้ มีส่วนช่วยรั้งไม่ให้ทหารบกของญี่ปุ่นนั้นสามารถรุกรานไปทั่วเอเชียแปซิฟิก และช่วยลดทอนความกดดันในสงครามทางมหาสมุทรแปซิฟิกลง จนสามารถส่งกำลังไปช่วยในศึกที่ยุโรปได้อย่างเต็มที่

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งก็คือ หลังจากผ่านช่วงสงครามครั้งนี้มาแล้ว กองกำลังของรัฐบาลก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง โดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่เดิมมีกำลังเพียง 40,000 คนได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 1.2 ล้านคน ในขณะที่ก๊กมินตั๋งต้องทุ่มเทสู้ศึกและประสบความสูญเสียอย่างมหาศาล

สงครามกลางเมืองกับสามยุทธการ

ไม่นานหลังจากที่เสียงไชโยโห่ร้อง และเสียงการฉลองในผืนแผ่นดินอันกว้งใหญ่ได้จบลง พลันสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ระเบิดขึ้นอีกระลอก

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ต่างเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังช่วงชิงเอาไว้ โดยเฉพาะเมืองจิ่นโจว อันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการพลิกผันจากการตัดสินใจของเจียงไคเช็คกับเหมาเจ๋อตง

ยุทธการเหลียวหนิง-เสิ่นหยาง (辽沈战役)

สงครามที่เหลียวหนิงถือเป็นสงครามแรกในสามยุทธการ ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1948 กองทัพปลดแอกของคอมมิวนิสต์ได้แยกย้ายไปตามถนนสายเป่ยหนิง และได้ตัดถนนเป่ยหนิง แบ่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าสู่นอกเมืองจิ่นโจวในวันที่ 1 ตุลาคม จากนั้นทางก๊กมินตั๋งเองก็ได้การจัดกำลังบุกเข้าตีอย่างหักโหมจากทางตะวันตกของเมืองจิ่นโจว ในช่วงเวลา 6 วันของการต่อสู้อย่างดุเดือด ทหารกองทัพปลดแอกก็สามารถยันกลับไปได้ทุกครั้ง จนสามารถเอาชนะและยึดจิ่นโจวไว้ได้ จากนั้นกองทัพปลดแอกได้มุ่งหน้าไปยึดเสิ่นหยาง อิ๋นโข่วแล้วประกาศปลดปล่อยพื้นที่ดังกล่าวในวันที่ 2 พฤศจิกายน

ในศึกครั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์ได้สูญเสียทหารไปทั้งสิ้น 69,000 คนในขณะที่ก๊กมินตั๋งต้องพลีชีพไปถึง 472,000 คน ทำให้กำลังพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้นมาเป็น 3 ล้านคน ในขณะที่ก๊กมินตั๋งลดลงเหลือเพียง 2.9 ล้านคนจนสถานการณ์เริ่มพลิกกลับ ซึ่งเห็นได้จากคำพูดของเหมาเจ๋อตงที่กล่าวไว้ด้วยความมั่นใจว่า “เช่นนี้ การรบที่เราได้คาดการณ์กันไว้แต่เดิมนั้น ก็จะลดขั้นตอนลงไปได้มาก” “ดูจากสถานการณ์ในตอนนี้ อีกสักประมาณ 1 ปี พวกเราก็อาจจะสามารถขุดรากถอนโคนก๊กมินตั๋งได้”

ยุทธการไฮว๋เหอ-ไห่โจว(淮海战役)
รูปถ่ายร่วมกันในการเจรจาที่ฉงชิ่งของเจียงไคเช็ค (ซ้าย) กับเหมาเจ๋อตง (ขวา) ในปีค.ศ.1945
ยุทธการศึกแห่งที่สองเปิดขึ้นโดยมีเมืองสีว์โจว (徐州)เป็นศูนย์กลาง ศึกครั้งนี้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายนและกินระยะเวลายาวนานไปจบสิ้นในวันที่ 10 มกราคม

จากชัยภูมิสีว์โจวที่เป็นจุดเชื่อมต่อมณฑลเหอหนัน ซันตง อันฮุย และเจียงซู โดยกินพื้นที่ตั้งแต่ที่ราบหวงไฮว๋ และอยู่ระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแยงซีเกียง ทำให้เมืองสีว์โจวกลายเป็นสมรภูมิสำคัญที่เรียกได้ว่าผู้ใดได้ครอบครองสีว์โจวกับไฮว๋เหอก็จะยึดกุมพื้นที่เหนือแม่น้ำแยงซีเกียงเอาไว้ได้

การศึกนี้แบ่งเป็น 3 ช่วง ในช่วงแรกทหารกองทัพปลดแอกได้นำกำลังเข้าล้อมทางตะวันออกของเมืองสีว์โจว และทำการรบกันอย่างดุเดือดเป็นเวลา 10 วัน สามารถสังหารหน่วยของทหารของก๊กมินตั๋งที่ประจำการในที่นั้นและทหารไปอีกมากกว่าแสนคน จากนั้นช่วงที่สองการรรบได้เปิดขึ้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอซู่ ซึ่งทหารกองทัพปลดแอกได้ทำการล้อมทหารศัตรูไว้ 12 หน่วย จากนั้นก็ทำการสู้รบต่อเนื่องกันหลายครั้ง จนกระทั่งถึงวันที่ 15 ธันวาคม กองกำลังของก๊กมินตั๋งถูกสังหารไปกว่า 120,000 คน ทว่าเพื่อประสานกับศึกปักกิ่ง-เทียนจินที่เปิดคู่ขนานด้วยในขณะนั้น กองทัพปลดแอกจึงได้รับคำสั่งให้หยุดรบเพื่อปรับกองทัพ 20 วัน จนกระทั่งศึกรอบสุดท้ายเปิดขึ้นในวันที่ 6 มกราคม ค.ค.1949 และยุติลงในอีก 4 วันหลังจากนั้น

เมื่อศึกนี้ยุติลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใช้กำลังเพียง 600,000 คนสามารถเอาชนะทหารของพรรคก๊กมินตั๋งที่มีการระดมกำลังก่อนหลังรวมกันทั้งสิ้นราว 800,000 คน ในเวลา 65 วัน กองทัพปลดแอกได้สังหารทหารก๊กมินตั๋งไปมากกว่า 555,000 คน เรียกได้ว่าทำลายกองทัพทางใต้ของเจียงไคเช็คไปจนแทบจะหมดสิ้น และทำให้เมืองนานกิงซึ่งเป็นศูนย์กลางของฝ่ายก๊กมินตั๋งถูกคุกคามในระยะประชิด

ยุทธการเป่ยผิง-เทียนจิน (平津战役)

ยุทธการเป่ยผิง-เทียนจิน หรือยุทธการปักกิ่ง-เทียนสิน ถือเป็นยุทธการสุดท้าย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1948 จนถึง วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1949 หลังจากยุทธการเหลียวหนิง-เสิ่นหยาง กองทัพปลดแอกได้รับคำสั่งให้เข้าโอบล้อมพื้นที่ โดยเริ่มต้นบุกจากเส้นทางตะวันตกอย่างซินเป่าอัน จางเจียโข่ว จนกระทั่งวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1949 ก็สามารถสังหารทหารก๊กมินตั๋งทั้งสิ้น 130,000 คน ยึดครองเมืองเทียนจิน หลังจากนั้นไม่นานหลังจากความพยายามของหน่วยงานใต้ดินของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป่ยผิง (ปักกิ่ง) กับกองทัพปลดแอก ในที่สุดทหารรักษาการณ์ของก๊กมินตั๋งในปักกิ่งจำนวน 250,000 คนก็ยอมจำนน ทำให้กองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผลสำเร็จ

หลังจากผ่านสามยุทธการซึ่งกินเวลาเพียง 142 วัน ทหารของพรรคก๊กมินตั๋งไม่ว่าจะเป็นการถูกสังหาร ยอมจำนน แปรพักตร์ รวมกันแล้วมีจำนวนทั้งสิ้นถึง 1.54 ล้านคน ชัยชนะในสามยุทธการจึงกลายเป็นการวางรกฐานแห่งชัยชนะอันมั่นคงทั่วประเทศให้กับพรรคคอมมิวนิสต์

คลิกอ่านหน้า 3
พิธีเฉลิมฉลองที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธานท่ามกลางทหารและประชาชนกว่า 300,000 คน
สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในเดือนมกราคมของปี ค.ศ. 1949 เจียงไคเช็คได้ประการสละตำแหน่งให้กับหลี่จงเหรินเป็นผู้รักษาการ กระทั่งวันที่ 20 เดือนเมษายนในปีเดียวกันตัวแทนของพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประชุมเพื่อสงบศึกกันที่ปักกิ่ง ทว่ารัฐบาลนานกิงกลับปฏิเสธการลงนามสันติภาพภายในประเทศฉบับนั้น รุ่งขึ้นเหมาเจ๋อตงกับจูเต๋อจึงได้มีคำสั่งประกาศไปยังกองทัพปลดแอกให้เคลื่อนพลเข้าควบคุมทั่วประเทศ และทำศึกครั้งใหญ่เพื่อข้ามแม่น้ำแยงซีเกียง ท่ามกลางการคุ้มกันจากปืนใหญ่ ทำให้ทหารจำนวนนับล้านของกองทัพปลดแอกสามารถฝ่าด่านแม่น้ำแยงซีเกียงไปได้อย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 2 วันกองทัพคอมมิวนิสต์สามารถยึดเมืองเจิ้นเจียง หยางโจว เจียงหยาง และยึดครองนานกิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของฝ่ายก๊กมินตั๋งสำเร็จในวันที่ 23 เมษายน จากนั้นกองทัพปลดแอกจึงรีบบุกยึดไปยังตะวันออกเฉียงใต้ ทางใต้ และยึดครองดินแดนผืนใหญ่ทางใต้ จนพรรคก๊กมินตั๋งต้องถอยร่นไปตั้งหลักที่กว่างโจว เฉิงตู ฉงชิ่ง และไปยังไต้หวันในที่สุด

วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เปิดประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนเต็มคณะครั้งที่ 1 ได้กำหนดชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเลือกเหมาเจ๋อตงเป็นประธานรัฐบาลกลาง ในวันที่ 30 ของเดือนเดียวกัน เหมาเจ๋อตงได้ประกาศว่า “ในวันที่เราได้จัดประชุม เท่ากับว่าประชาชนจีนได้เอาชนะศัตรูของตน เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประเทศจีน และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น พวกเรา 475 ล้านคนต่างได้ลุกขึ้นแล้ว และอนาคตของชนชาติเรานั้นก็คือความรุ่งโรจน์อันไร้ที่สิ้นสุด”

วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 คณะกรรมาธิการกลางจัดประชุมสภาเต็มคณะสมัยแรกที่จงหนันไห่ มีการประกาศให้ประธาน และรองประธานรัฐบาลกลางเข้ารับตำแหน่ง โดยมีเหมาเจ๋อตงควบตำแหน่งประธาน (ประธานาธิบดี)กับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลางทหารรัฐบาลประชาชน และแต่งตั้งให้โจวเอินไหลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ

บ่าย 3 วันเดียวกัน ก็มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธานท่ามกลางทหารและประชาชนกว่า 300,000 คนที่ลานจัตุรัสเทียนอันเหมินในวันนั้น หลังจากที่ทำการร้องเพลงชาติแล้ว เหมาเจ๋อตงได้เป็นผู้กดปุ่มไฟฟ้า ให้ธงแดงห้าดาวได้โบกสะบัด ท่ามกลางเสียงของผู้คนที่ตะโกนว่า “ประธานเหมาจงเจริญ” และเสียงตอบกลับว่า

“ประชาชนจงเจริญ”
แผนที่ (ส่วนสีชมพู) แสดงถึงอาณาเขตที่ถูกรุกรานจากญี่ปุ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น