เคราะห์ซ้ำกรรมซัดกระหน่ำสู่ราชวงศ์ชิงช่วงปลายอย่างเหมือนไม่รู้จบสิ้น ในภายหลังเมื่อถึงค.ศ. 1856 ก็ได้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ขึ้น โดยกินระยะเวลา 4 ปี โดยมีมูลเหตุมาจากหลังช่วงเกิดเหตุกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ รัสเซียก็คิดจะตักตวงผลประโยชน์จากจีนมากขึ้น
ซูสีไทเฮา - นานาชาติรุมทึ้ง
โดยอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ รัสเซียยื่นข้อเสนอในการเพิ่มการเปิดท่าเรือต่างๆ พร้อมตั้งสถานทูตในกรุงปักกิ่ง แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากราชสำนัก ประจวบกับเจ้าหน้าที่จีนได้จับกุมลูกเรือในเรือแอร์โรว์ในข้อหาโจรลัดและลักลอบขนของเถื่อน ทางอังกฤษจึงใช้เป็นข้ออ้างในการประท้วงต่อผู้ว่าเมืองกว่างโจว เมื่อผู้ว่าเมืองกวางตุ้งยอมคืนคนให้ แต่ไม่ยอมขอขมา ทำให้กองทหารของอังกฤษเริ่มนำทหารเข้ายึดป้อมต่างๆ และในช่วงนั้นมีมิชชันนารีฝรั่งเศสคนหนึ่งถูกชาวจีนสังหาร รัฐบาลของ นโปเลียนที่ 3 ส่งกองกำลังมาเข้าร่วมกับกองทหารของอังกฤษ จากนั้นบุกยึดกว่างโจว แล้วจับกุมผู้บัญชาการทหารกว่างโจวเอาไว้ จากนั้นกองกำลังผสมอังกฤษฝรั่งเศสก็บุกขึ้นเหนือ ยึดป้อมปืนใหญ่ต้ากู บุกประชิดเทียนจิน เมื่อนั้นฮ่องเต้เสียนเฟิงจึงมีรับสั่งให้มหาบัณฑิตกุ้ยเหลียง (桂良)กับเจ้ากรมปกครองฮวาซาน่ามาลงนามในสนธิสัญญาเทียนจิน โดยมีเนื้อหาให้เปิดท่าเรือหนิวจวง เติงโจว ไต้หวัน ตั้นสุ่ย เฉาโจว จิงโจว ฮั่นโข่ว จิ่วเจียง เจียงหนิง เจิ้นเจียงเป็นท่าเรือพาณิชย์ , ให้เรือพาณิชย์ต่างชาติสามารถล่องเข้าไปค้าขายตามท่าของแม่น้ำแยงซีเกียง ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าไปท่องเที่ยวทำการค้า ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้าไปเผยแพร่ศาสนาได้อย่างอิสระ ให้กงสุลฝรั่งเศสเป็นผู้พิพากษาในคดีที่มีชาวฝรั่งเศสเป็นคู่ความ ชดใช้เงินให้อังกฤษ 4 ล้านตำลึง และฝรั่งเศส 2 ล้านตำลึง และยอมรับให้การค้าฝิ่นนั้นถูกกฎหมาย
นอกจากนั้นในระหว่างที่อังกฤษบุกยึดป้อมต้ากู รัสเซียที่นำโดยข้าหลวงใหญ่ประจำไซบีเรียตะวันออก นามเคาต์มูราเวียฟบุกยึดดินแดนในแถบฝั่งซ้ายและทางเหนือของแม่น้ำเฮยหลงเจียง จากนั้นใช้กำลังข่มขู่ให้ทำสนธิสัญญาไอกุน ทำให้รัสเซียมีสิทธิ์ในดินแดนแม่น้ำอัสซูรีไปทางตะวันออกจนถึงทะเลญี่ปุ่นด้วย
จากนั้นเมื่อถึงปีค.ศ. 1859 ได้เกิดความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขสนธิสัญญา จนกระทั่งปีค.ศ.1860 รัชกาลฮ่องเต้เสียนเฟิงปีที่ 10 กองทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสกว่า 10,000 คนได้ขึ้นฝั่งที่เป่ยถัง ยึดถังกู ป้อมปืนใหญ่ต้ากู ในขณะที่กำลังจะยึดครองเทียนจินได้อีกครั้ง ทางการชิงก็ได้ส่งมหาบัณฑิตกุ้ยเหลียงกับพวกเพื่อไปเจรจา ทว่าถูกฝ่ายรุกรานยื่นข้อเสนอที่สูงมาก ทำให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จเมื่อกองทัพอังกฤษ-ฝรั่งเศสบุกมาถึงทงโจว ทหารชิงได้เข้ารับศึกที่สะพานปาหลี่ ทำการต่อสู้อย่างดุดเดือดเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง
สุดท้ายกองทัพต้าชิงก็พ่ายแพ้ จนกองทัพอังกฤษฝรั่งเศสบุกเข้าถึงปักกิ่ง เหล่าขุนนางจึงทูลขอให้ฮ่องเต้เสียนเฟิงเสด็จลี้ภัยออกไปยังเร่อเหอ กองทัพพันธมิตรได้มุ่งตรงไปยังพระราชอุทยานหยวนหมิงหยวน อันเป็นพระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน สร้างขึ้นด้วยศิลปะและการออกแบบผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เก็บมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมเอาไว้มากมาย ตั้งอยู่ทางตะวันตกนอกเมืองปักกิ่ง และกระทำการปล้นชิงเอาเงินทองทรัพย์สมบัติไปเป็นการใหญ่ จากนั้นจุดไฟเผาทำลายจนไหม้ลามกินเนื้อที่กว่า 10 ตารางไมล์เป็นเวลา 2 วันจนท้องฟ้าเหนือกรุงปักกิ่งมืดครึ้มไปด้วยควันเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน
พระราชอุทยานหยวนหมิงหยวนนั้น เดิมเป็นเพื้นที่อุทยานที่ฮ่องเต้คังซีเคยพระราชทานให้กับฮ่องเต้ยงเจิ้งในสมัยที่ยังเป็นองค์ชายสี่ และการที่ทรงพระราชทานพระนามหยวนหมิง มีความหมายถึง “จิตวิญญาณแห่งวิญญูชน” และ “การใช้คนอย่างมีสติปัญญา”ภายหลังเมื่อฮ่องเต้ยงเจิ้งครองราชย์ จึงได้ทำการบูรณะขยายให้กว้างขวางขึ้น จนสำเร็จลุล่วงในรัชกาลของฮ่องเต้เฉียนหลง และมีอายุคงอยู่มากว่า 150 ปีจนกระทั่งถูกเผาทำลายใต้เงื้อมมือของทัพพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศส
ในขณะที่ฮ่องเต้เสียนเฟิงเสด็จลี้ภัย ได้มอบหมายให้กงชินหวัง อี้ซิน (恭亲王 弈訢) และฉุนชินหวัง อี้เซวียน(醇亲王 弈譞) เป็นตัวแทนพระองค์ นำคณะไปเจรจาสงบศึก จนกระทั่งได้ลงนามในสัญญาอันไม่ยุติธรรมอีกฉบับหนึ่ง ที่เรียกว่า “สนธิสัญญาปักกิ่ง”โดยระบุจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้กับอังกฤษและฝรั่งเศสประเทศละ 8 ล้านตำลึง ยกเกาลูนให้อังกฤษ เปิดเทียนจินเป็นท่าเรือพาณิชย์ ให้มิชชันนารีเข้ามาซื้อที่ดินและสร้างโบสถ์ได้ อนุญาตให้ชาวต่างชาติจ้างคนจีนไปทำงานในต่างประเทศได้
หลังลงนามในสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว จึงได้ทูลเชิญให้ฮ่องเต้เสียนเฟิงเสด็จกลับเมืองหลวง ทว่าฮ่องเต้เสียนเฟิงก็ยังไม่ยอมเสด็จกลับ กระทั่งเดือนส.ค. ปีค.ศ. 1861 ฮ่องเต้เสียนเฟิงได้เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ด้วยพระชนมายุเพียง 31 ชันษา ในยามนั้นฮองเฮาฉืออัน (慈安)ไม่มีพระโอรส มีเพียงแต่ฮองเฮาตะวันตกฉือซี (慈禧)หรือที่คนไทยเรียกว่า “ซูสี” ที่มีโอรสพระนามว่าไจ่ฉุน (载淳) ที่ขณะนั้นอายุเพียง 5 ชันษา และได้ขึ้นครองราชย์เป็นฮ่องเต้องค์ต่อมา โดยมีบรมราชโองการของฮ่องเต้เสียนเฟิง ที่ระบุให้มีการตั้งผู้ช่วยสำเร็จราชการทั้ง 8 คนขึ้น
ส่วนฮองเฮาทั้ง 2 หลังไจ่ฉุนขึ้นครองราชย์ เป็นฮ่องเต้ชิงมู่จง (清穆宗) หรือฮ่องเต้ถงจื้อ (同治)เมื่อเรียกตามปีรัชกาลที่เปลี่ยนแปลงในภายหลัง โดยในช่วงเวลาที่กำลังส่งเสด็จพระศพของฮ่องเต้เสียนเฟิงกลับสู่ปักกิ่ง ซูสี ซึ่งขณะนั้นได้ขึ้นเป็นไท่โฮ่ว (太后) หรือไทเฮา ตามศักดิ์อันเป็นพระมารดาแห่งฮ่องเต้ ก็ได้ร่วมมือกับกงชินหวัง ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจคืนจากผู้สำเร็จราชการทั้ง 8 โดยระบุว่าเป็นผู้ที่ร่างพระราชโองการปลอมในการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ
หลังจากนั้นเป็นต้นมา พระนางซูสีไทเฮา กับพระนางฉืออันก็ได้ร่วมปกครองบ้านเมือง โดยจะประทับฟังราชกิจอยู่เบื้องหลังฮ่องเต้ โดยมีผ้าม่านกั้นกลางเอาไว้ หรือที่หลายคนเรียกว่ากุมการปกครองหลังผ้าม่าน กระทั่งในภายหลัง เมื่อซูสีไทเฮาสามารถกุมอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถควบคุมการปกครองได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงถูกเรียกว่าเป็นการกุมการปกครองหลังม่านเหล็ก
พระนางซูสีไทเฮา สตรีผู้ยึดครองอำนาจราชสำนักชิงอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเวลา 47 ปีจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ไปเองโดยไม่มีใครสามารถโค่นล้มลงได้ผู้นี้นั้น เดิมนางเป็นบุตรีของนายทหารแมนจูชั้นผู้น้อย เกิดในตระกูลเยี่ยเฮ่อนาลา หรือเยโฮนาลา (叶赫那拉) ในปีค.ศ. 1835 และถวายตัวเข้าวังในเดือนพ.ค. ปีค.ศ. 1852 ด้วยอายุเพียง 16 ปี หลังจากนั้นเมื่อได้ให้กำเนิดพระโอรสและได้รับการแต่งตั้งเป็นสนมในปีค.ศ. 1856 เมื่อฮ่องเต้เสียนเฟิงสวรรคต พระนางได้สั่งประหารผู้สำเร็จราชการทั้ง 8 จนกุมอำนาจในราชสำนักด้วยพระชนม์เพียง 26 ปี
ขบวนการเลียนแบบตะวันตก (洋务运动)
หลังจากลงนามในสนธิสัญญาปักกิ่ง ได้ทำให้ราชสำนักจีนเริ่มตระหนักว่า บรรดาคนเถื่อนที่จีนเคยมองนั้น กลับกลายเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพทางกองทัพก้าวหน้ากว่าจีนเป็นอันมาก จึงทำให้เกิดความคิดที่ว่า การที่จะสร้างให้ชาติจีนเข้มแข็งขึ้น จำเป็นจะต้องสร้างแสนยานุภาพตามอย่างตะวันตกเท่านั้น
อันที่จริงแนวความคิดดังกล่าว มีมาตั้งแต่สมัยวีรบุรุษปราบฝิ่นนามหลินเจ๋อสี่ว์ ที่ได้เคยชี้ว่าสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากคนเถื่อนก็คือเรือที่เข้มแข็งกับปืนที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ จนกระทั่งได้ถูกนำเสนอขึ้นมาอีกครั้งจนเกิดเป็นขบวนการเลียนแบบตะวันตกขึ้นในช่วงปีค.ศ.1860-ค.ศ.1890 โดยมีกงชินหวัง อี้ซินเป็นแกนกลางในเมือง และในส่วนภูมิภาคได้แก่เจิงกั๋วฟาน(曾国藩) และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเขาอาทิหลี่หงจาง (李鸿章) ศิษย์ของเจิงกั๋วฟาน และลูกน้องของเจิงกั๋วฟานอย่าง จั่วจงถัง (左宗棠) และบัณฑิตจางจือต้ง (张之洞)
ขบวนการเลียนอย่างตะวันตกมีแนวคิดสำคัญโดย มีการจัดตั้งสำนักงานราชการที่ใช้ติดต่อกับต่างประเทศโดยเฉพาะ เรียกว่า “จ๋งหลี่หยาเหมิน” (总理衙门) มีการปรับปรุงกองกำลังทหาร จัดซื้ออาวุธปืน จักตั้งหน่วยงานที่ฝึกใช้ปืน ตั้งกอทัพเรือเป่ยหยาง และกองทัพเรือฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) มีการตั้งโรงงานยุโธปกรณ์ที่เทียนจิน, เซี่ยงไฮ้ และนานกิง ในด้านการศึกษามีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศอย่าง ถงเหวินก่วน (同文馆)เพื่อเป็นโรงเรียนสอนภาษาและความรู้ต่างประเทศ ให้มาเป็นบุคลากรในการแปล ส่งนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศ และมีการเริ่มต้นทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ การต่อเรือพาณิชย์
ในช่วงต่อมาหลังจากที่ญี่ปุ่นได้เริ่มพัฒนาประเทศตนเองจนเข้มแข็งขึ้น จึงได้อาศัยข้ออ้างที่ชาวเกาะริวกิวเรือแตกแล้วพลัดไปขึ้นเกาะไต้หวันแต่ถูกคนป่าในไต้หวันขณะนั้นฆ่าตาย จนในปีค.ศ.1872 ญี่ปุ่นได้บุกยึดริวกิว จากนั้นก็บุกต่อไปยังไต้หวัน สุดท้ายเหมือนญี่ปุ่นประกาศว่าเกาะริวกิวเป็นของตนทั้งหมดโดยที่ทางการแมนจูไม่ทำอะไร จึงได้สงบลงชั่วคราว
ต่อมาเมื่อจีนตระหนักถึงความสำคัญของเรือรบ จึงได้มีความพยายามจัดตั้งกองทัพเรือทันสมัยขึ้น โดยจัดให้มีกองทัพเป่ยหยาง หรือกองกำลังเหนือ (北洋海军) กับกองทัพหนันหยาง หรือกองกำลังใต้ (南洋海军)กองทัพเรือกวางตุ้ง (广东海军) กองทัพเรือฮกเกี้ยน (福建海军) ซึ่งในขณะเริ่มจัดตั้งนั้นยังมีงบประมาณส่งถึงอยู่ดี แต่ในภายหลัง เนื่องจากพระนางซูสีไทเฮามักเบิกเงินมาใช้เพื่อบำรุงบำเรอส่วนพระองค์ โดยเบิกในนามของ “ทุนสร้างกองทัพเรือ” ทำให้เงินงบประมาณไปไม่ถึง ซูสีไทเฮาได้นำเงินไปสร้างพระราชวังฤดูร้อน ขึ้นแทนจากที่พระราชวังหยวนหมิงหยวนถูกเผาทำลายไป ยังไม่รวมถึงเงินที่นำไปใช้ในงานวันเกิดของพระนางที่มากถึง 2 ล้านตำลึง โดยงบประมาณที่ซูสีไทเฮานำไปใช้ส่วนตัวนั้นเท่ากับมีมากถึง 26 ล้านตำลึง
ผลของการกระทำดังกล่าวได้ประจักษ์ชัดในสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่ปะทะขึ้นอีกคราในกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเกาหลี กองทัพเรือเป่ยหยางของจีน ปะทะกับกองทัพเรือของญี่ปุ่นที่มีจำนวนเรือเท่าๆกัน แต่เรือของจีนกลับถูกจมลงทั้งหมด อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าความพยายามปฏิรูปกองทัพเรือทว่าถูกเบียดบังงบประมาณไปนั้น ได้ทำให้กองทัพเรือของจีนขาดความพร้อม และอ่อนแอมากเพียงใด
ในช่วงเวลา 100 วันของการปฏิรูป คังโหย่วเหวยและพรรคพวกได้เสนอแนวความคิดในการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ทำให้กวงซี่ว์ได้ยกเลิกกฎหมายเก่า และประกาศใช้กฎหมายใหม่กว่า 100 ฉบับ ทว่าการปฏิรูปกฎหมายใหม่เหล่านี้ก็ถูกขัดขวางจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างรุนแรง โดยกฎหมายที่ประกาศใหม่นั้น ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนม.ย.จะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ การทหาร การศึกษา ในขณะที่ครึ่งเดือนหลังของเดือนม.ย.จะเป็นกฎหมายก็จะเป็นกฎหมายที่ขยายไปถึงเรื่องการปกครอง โดยหลักๆเน้นที่การปลดข้าราชการ ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานที่ซ้ำซ้อน อนุญาตให้ขุนนางใหญ่น้อยและประชาชนถวายฎีกา ทว่ากฎหมายใหม่เหล่านี้ นอกจากผู้ตรวจการมณฑลหูหนันที่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่มักจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ส่วนหน่วยงานใหม่ๆที่มีการจัดตั้งขึ้นก็ถูกควบคุมด้วยอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์ ทำให้กฎหมายใหม่เหล่านี้แทบไม่ได้มีผลในการปฏิบัติจริงนัก
แต่แล้วความพยายามในการปฏิรูปกฎหมายนี้ ได้สร้างความไม่พอพระทัยให้กับพระนางซูสีไทเฮาอย่างยิ่ง เนื่องจากทรงรู้สึกว่าอำนาจของตนกำลังถูกสั่นคลอน ทำให้เริ่มต้นต่อต้านกลุ่มปฏิรูปที่นำโดยฮ่องเต้กวงซี่ว์ การต่อต้านจากซูสีไทเฮา ได้ทำให้กลุ่มปฏิรูปที่ไม่มีกำลังทหารในมือบังเกิดความตื่นตระหนก จึงได้หันไปขอความร่วมมือจากหยวนซื่อข่าย(袁世凯) ที่ดูแลกำลังทหารบก เพื่อมาต่อกรกับอำนาจของไทเฮา ทว่าเมื่อถึงวันที่ 1 ส.ค. กวงซี่ว์มีรับสั่งลับให้หยวนซื่อข่ายนำกำลังกำจัดซูสีไทเฮา ทว่าหยวน ข่ายกลับเป็นพวกนกสองหัว ทรยศต่อกลุ่มปฏิรูป ช่วยเหลือซูสีไทเฮาในการทำรัฐประหาร และจับกุมตัวกวงซี่ว์ไปกักบริเวณไว้ที่อิ๋งไถ ยกเลิกกฎหมายที่ประกาศทั้งหมด ยกเว้นกฎหมายการตั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สั่งให้จับกุมตัวแทน 6 คนของกลุ่มปฏิรูป หรือที่ในประวัติศาสตร์ขนานนามว่า “6 วิญญูชนแห่งเหตุการณ์อู้ซีว์” ไปประหารประจานในตลาดกลางกรุงปักกิ่ง
ภายหลังความปราชัยครั้งนี้ จีนจึงต้องขอเจรจาสงบศึก โดยส่งหลี่หงจางเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ที่จีนต้องรับรองการปกครองตนเองของเกาหลี หรืออีกนัยหนึ่งก็คือยอมรับการปกครองของญี่ปุ่นเหนือเกาหลี อีกทั้งตกยกคาบสมุทรเหลียวตง ไต้หวัน หมู่เกาะเผิงหู (เพสคาดอเรส) ให้กับญี่ปุ่น อีกทั้งชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน 230 ล้านตำลึง เปิดเมืองท่าซาซื่อ ,ฉงชิ่ง,ซูโจว และหังโจวเป็นเมืองท่าพาณิชย์ อีกทั้งเมืองท่าของจีนยังจะต้องอนุญาตให้ญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการค้าขาย ประกอบอุตสาหกรรม หัตกรรมตามท่าเรือได้
คลิกอ่านต่อหน้า 2
รัฐประหารอู้ซีว์ (戊戌政变)
หลังจากจบสงครามจีนญี่ปุ่น หรือที่เรียกตามชื่อปีว่าสงคราม “เจี๋ยอู่” จนจีนต้องลงนามในสัญญาชิโมโนเซกิแล้ว นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ระบบทุนนิยมของต่างชาติเริ่มรุกล้ำเข้ามาในจีนจนสร้างความกังวลพระทัยกับฮ่องเต้กวงซี่ว์ เป็นอย่างยิ่ง
กระทั่งปีค.ศ. 1898 หรือในรัชกาลฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 24 หลังจากที่ได้รับฎีกาจากหยางเซินซิ่ว, สีว์จื้อจิ้งและคังโหย่วเหวย (康有为) ทำให้ทรงตัดสินพระทัยว่าจะต้องมีการปฏิรูปกฎหมาย ดังนั้นในวันที่ 28 เม.ย. ปีเดียวกันจึงมีรับสั่งให้คัง โหย่วเหวยเข้าเฝ้าเพื่อสอบถามแผนการและรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในภายหลังยังทรงให้สิทธิในการถวายฎีกาโดยตรงกับคัง โหย่วเหวยอีกด้วย
ขบวนการอี้เหอถวน – ศึกพันธมิตรแปดชาติ
กลุ่มอี้เหอถวนถือกำเนิดมาจากสำนักมวยอี้เหอในอำเภอชิงผิง มณฑลซันตง ในสมัยนั้น กลุ่มชาวต่างชาติที่สามารถเข้าถึงแผ่นดินชั้นในของจีนได้จะมีแต่กลุ่มมิชชันนารี และผู้เผยแพร่ศาสนา ซึ่งนับวันจะยิ่งแผ่ขยายกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์ ซึ่งบรรดผู้เข้ามาสอนศาสนาชาวต่างชาติได้สอนมิให้นับถือกราบไหว้บุพการีและกษัตริย์ ทำให้บรรดาสตรีที่เข้านับถือศาสนาก็จะถูกมองเป็นพวกนอกรีตไปด้วย ความไม่พอใจในชาวต่างชาติหลายๆประการ ได้ผลักดันให้สำนักมวยอี้เหอ ได้ลุกฮือขึ้นในการทำลายโบสถ์ และต่อต้านศาสนาชาวต่างชาติ ในปีค.ส. 1898 และแผ่นขยายตัวอออกไปอย่างรวดเร็ว
ทว่าหากขบวนการอี้เหอถวนเป็นเพียงกลุ่มกำลังที่ระบายความไม่พอใจของประชาชน ก็คงไม่จะสามารถก่อความเสียหายอะไรได้มากนัก ทว่าในภายหลังขบวนการอี้เหอถวนกลับกลายเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง จึงทำให้เรื่องราวบานปลายยิ่งขึ้น
ในเวลานั้น ประจวบกับเป็นช่วงเวลาแห่งความล้มเหลวของการปฏิรูปปีอู้ซีว์ ในเวลานั้นแท้จริงแล้วพระนางซูสีไทเฮาทรงไม่พอพระทัยถึงขั้นที่จะตั้งฮ่องเต้พระองค์ใหม่ ทว่าติดขัดที่บรรดาทูตานุทูตจากนานาประเทศกลับชื่นชอบในความเปิดกว้างของกวงซี่ว์ จึงได้รวมตัวกันคัดค้าน ทำให้ซูสีไทเฮาได้แต่กักตัวพระองค์เองไว้ ในเวลานั้นตวนอ๋อง ได้เข้ามาทูลเสนอว่าขณะนี้มีกลุ่มอี้เหอถวน ที่มีความสามารถฟันแทงไม่เข้า ไม่เกรงกลัวต่อปืนหรือปืนใหญ่ของต่างชาติ ทำให้มีขุนนางหลายคนที่สนับสนุนให้ใช้กลุ่มอี้เหอถวนเพื่อมาต่อกรกับต่างชาติ การเข่นฆ่าชาวต่างชาติและชาวจีนที่นับถือศาสนาได้กระจายไปทั่ว มีชาวต่างชาติที่ถูกฆ่า 241 คน และชาวจีนที่นับถือศาสนาต่างชาติอีกกว่า 23,000 คนในฤดูร้อนของปีเดียว
ต่อมาทางการจีนได้ประกาศยอมรับกลุ่มอี้เหอถวน ให้เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกลุ่มอี้เหอถวนเองก็ประกาศว่าจะประคับประคองราชวงศ์ชิง และกำจัดต่างชาติ เมื่อถึงปีค.ศ. 1900 ซูสีไทเฮาได้ตัดสินใจประกาศสงครามกับต่างชาติ และรับสั่งให้ทหารร่วมกับกลุ่มอี้เหอถวนบุกโจมตีสถานทูตนานาชาติในปักกิ่ง ทำให้อังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น อิตาลี และออสเตรียได้รวมกำลังเป็นพันธมิตรแปดชาติ เข้าตอบโต้จีน กลุ่มขบวนการอี้เหอถวนที่เคยบอกว่าฟันแทงไม่เข้านั้น เมื่อทหารพันธมิตรมาถึง กลับยังไม่รู้ตัว ยังทำการเผาโบสถ์ เข่นฆ่านักเผยแพร่ศาสนาอยู่ สุดท้ายจึงถูกทหารพันธมิตรแปดชาติทำลายจนราบคาบ
ฝ่ายพระนางซูสีไทเฮาเมื่อทรงทราบว่าทหารต่างชาติบุกถึงปักกิ่ง จึงทรงนำตัวฮ่องเต้กวงซี่ว์ ราชนิกูล ขันที และขุนนางจำนวนหนึ่งปลอมตัวแล้วเดินทางหลบหนีไปยังซีอัน โดยมอบอำนาจเต็มให้กับหลี่หงจาง ในการเจรจากับกองทัพพันธมิตร เพื่อขอสงบศึกกับประเทศพันธมิตร รัฐบาลชิงจึงทรยศกลุ่มอี้เหอถวน ด้วยการประกาศว่ากลุ่มนี้เป็นสำนักโจร และให้ทหารชิงร่วมมือกับกองทัพพันธมิตรเข่นฆ่า โดยก่อนที่จะเจรจาลุล่วงก็มีการเนรเทศตวนอ๋อง และประหารแกนนำทั้งหลายของขบวนการอี้เหอถวน เพื่อเป็นแพะรับบาปให้ต่างชาติได้ดู
ในปีต่อมาหลังพันธมิตรแปดชาติได้ยึดครองปักกิ่ง ในที่สุดก็มีการลงนามในสนธิสัญญาซินโฉ่ว กับ 8 ประเทศพันธมิตรและอีก 3 ประเทศได้แก่เนเธอร์แลนด์ สเปน เบลเยียม โดยมีสาระสำคัญคือจีนจะต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงินทั้งสิ้น 450 ล้านตำลึง ซึ่งเป็นจำนวนที่เท่ากับประชากรจีนในขณะนั้น โดยให้แบ่งจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งรวมแล้วเกือบ 1,000 ล้านตำลึง และชำระให้หมดสิ้นภายในปีค.ศ. 1940 นอกจากนั้นยังให้รื้อป้อมปืนใหญ่ที่ต้ากู และตลอดเส้นทางระหว่างปักกิ่งถึงเทียนจิน พร้อมให้ทหารตะวันตกหลายประเทศเข้ามาตั้งที่ปักกิ่ง เทียนจิน และซันไห่กวน และเงื่อนไขปลีกย่อยอีกมากมายอาทิ จีนจะต้องหยุดการนำเข้าอาวุธสงคราม 2 ปี ส่งขุนนางใหญ่ไปเพื่อทำการขอขมาที่ญี่ปุ่นในกรณีทำให้ทูตญี่ปุ่นต้องเสียชีวิต และในอนาคตจีนจะต้องลงโทษบุคคลหรือองค์กรที่ต่อต้านต่างชาติเป็นต้น และภายหลังลงนามแล้ว ซูสีไทเฮา ฮ่องเต้กวงซี่ว์และคณะที่ลี้ภัยจึงได้เดินทางกลับมายังปักกิ่งในปีค.ศ. 1902
ไม่ว่ากบฏอี้เหอถวน หรือกลุ่มที่ถูกเรียกว่ากบฏนักมวยนี้จะมีบทลงเอยที่เป็นโศกนาฏกรรมเพียงใด แต่ฌอง เชนโนซ์ (jean Chesneaux) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสก็ได้มองว่า “ในโลกสมัยศตวรรษที่ 20 นั้น ขบวนการอี้เหอถวนถือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมเป็นขบวนการแรก พวกเขาได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของลัทธิชาตินิยมของจีน และเมื่อเผชิญหน้ากับการต่อสู้อันทรหดและเหี้ยมหาญของพวกเขา มหาอำนาจตะวันตกทั้งหลายก็ต้องยอมละทิ้งความตั้งใจเดิมที่จะแบ่งแผ่นดินจีนออกเป็นเสี่ยงๆ”
ปฏิวัติสาธารณรัฐ
ตั้งแต่สงครามฝิ่น เรื่อยมาจนถึงหลังแปดชาติพันธมิตรเข้ารุกรานจีน ได้ทำให้สถานภาพของประเทศจีนในขณะนั้นมีสภาพกึ่งเมืองขึ้น รัฐบาลจีนก้าวเข้าสู่สภาพฟอนเฟะและไร้สมรรถภาพ จนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่างทุกข์ร้อนไปทั่วทุกหัวระแหง ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซุนจงซัน (孙中山) หรือซุนยัตเซ็น (孙逸仙) ก็ได้ลุกขึ้นมาแล้วเลือกเส้นทางที่จะผลักดันการปฏิวัติ เพื่อล้มล้างอำนาจของราชวงศ์ชิง
ซุนจงซัน ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง และได้เดินทางติดตามมารดาไปยังฮาวาย ทำให้ได้เห็นความยอดเยี่ยมของเรือกลไฟ และความยิ่งใหญ่ของมหาสมุทร การเดินทางครั้งนั้นทำให้ซุนได้รับการศึกษาสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์อังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภายหลังได้เดินทางไปยังฮ่องกง และได้เข้าศึกษาจนจบวิชาการแพทย์ จากนั้นก็ได้เปิดรักษาคนในมาเก๊า และกวางตุ้ง
ในระยะแรกซุนเองก็ไม่ได้กล่าวถึงการปฏิวัติ กระทั่งในปีค.ศ. 1894 ได้ทดลองส่งหนังสือให้กับหลี่หงจาง ซึ่งในนั้นได้มีการเสนอรูปแบบการปฏิรูปในหลายประการ ทว่าหนังสือดังกล่าวถูกหลี่หงจางปฏิเสธ ด้วยความผิดหวัง ทำให้ซุนได้ไปจัดตั้งสมาคมซิงจงที่ฮ่องกง ผลักดัน “การขับไล่อนารยชน ฟื้นฟูประเทศจีน สร้างรัฐบาลแห่งมหาชนขึ้น”
ในปีค.ศ. 1905 ซึ่งตรงกับรัชกาลของฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 30 มีการจัดประชุมขึ้นที่โตเกียว และในที่ประชุมนั้นซุนได้เสนอให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์เพื่อการปฏิวัติขึ้น โพยหลังจากการปรึกษาหารือ ในที่สุดสมาพันธ์ถงเหมิงก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
STRONG>นอกจากนั้นซุนยังได้เสนอหลัก 3 ประการแห่งประชาชน หรือที่เราเรียกกันว่า ลัทธิไตรราษฎร์ (三民主义)ซึ่ง มีหลักการสำคัญได้แก่ ประชาชาติ หรือ การล้มล้างอำนาจการปกครองของราชวงศ์แมนจู ให้ทุกชนชาติในจีนมีสิทธิอันเท่าเทียมกัน หลักประชาสิทธิ คือให้ประชาชนมีสิทธิ มีอำนาจตรงในการปกครองตนเอง และหลักประชาชีพ คือให้มีความเสมอภาคในกรรมสิทธิ์ที่ดินและทางสังคม
การถือกำเนิดสมาพันธ์ถงเหมิง ที่ได้จับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับราชสำนัก ถือเป็นการสั่นคลอนฐานะผู้ปกครองอย่างราชสำนักชิงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งเดือนเม.ย.ปีค.ศ. 1911ที่มีการลุกฮือขึ้นที่เนินดอกไม้เหลือง (黄花岗)ในกวางเจา มีบุคคลสำคัญและสมาชิกพันธ์ล้มตายเป็นจำนวนมาก มีการเก็บรวบรวมศพ 72 ศพไปฝังรวมไว้ โดยในประวัติศาสตร์ได้เรียกขานเป็น 72 วีรบุรุษ ณ เนินดอกไม้เหลือง อย่างไรก็ตามแม้ว่าการลุกฮือครั้งนี้จะประสบความล้มเหลว แต่เลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนเหล่านี้ก็ได้ปลุกกระแสให้มีการล้มล้างราชวงศ์ชิงที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น
<ฮ่องเต้องค์สุดท้าย - อวสานราชวงศ์ชิง
ระหว่างนั้น ในปีค.ศ.1908 ตรงกับรัชกาลฮ่องเต้กวงซี่ว์ปีที่ 34 ฮ่องเต้กวงซี่ว์ได้เปิดประชาวรอย่างหนัก จนในเดือนต.ค.ราชสำนักชิงต้องมีราชโองการแต่งตั้งให้ไจ้เฟิง เป็นผู้สำเร็จราชการ กระทั่งถึงวันที่ 21 เดือนต.ค. ในที่สุดฮ่องเต้กวงซี่ว์ก็เสด็จสวรรคต
พระนางซูสีไทเฮาได้มีราชโองการแต่งตั้งบุตรของไจ้เฟิงนามอ้ายซินเจี๋ยว์หลอ ผู่อี๋ (溥仪) หรือปูยีที่มีพระชนม์พรรษาเพียง 3 ปีขึ้นครองราชย์ มีชื่อรัชการว่าเซวียนถ่ง (宣统) แต่เนื่องจากที่พระองค์เป็นฮ่องเต้คนสุดท้ายในยุคราชวงศ์ของจีน ดังนั้นจึงมักถูกขนานนามว่าฮ่องเต้องค์สุดท้าย หรือจักรพรรดิองค์สุดท้าย ในขณะที่ซูสีไทเฮาเอง ก็ได้สวรรคตในเวลาเพียงไม่กี่วันหลังมีราชโองการแต่งตั้งผู่อี๋
ในช่วงเวลาที่ผู่อี๋ได้ครองราชย์ไม่ถึง 3 ปี หลังยุทธการเนินดอกไม้เหลืองแล้ว กลุ่มผู้นำสมาพันธ์ถงเหมิงได้ตัดสินใจย้ายศูนย์กลางการปฏิวัติไปยังเขตลุ่มน้ำแยงซีเกียง ในวันที่ 10 ต.ค. ได้เกิดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงขึ้นที่อู่ชัง ทำให้กองทัพปฏิวัติที่นั่นจำเป็นต้องลุกขึ้นก่อการก่อนเวลาที่กำหนด บุกเข้ายึดเมืองอู่ชัง จากนั้นในวันถัดมากลุ่มปฏิวัติในฮั่นหยาง และฮั่นโข่วที่ได้ข่าวก็ได้ลุกขึ้นยึดเมืองทั้งสอง จนกระทั่งกลุ่มปฏิวัติสามารถควบคุมเมืองทั้งสามในอู่ฮั่นได้จนหมดสิ้น
การลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในอู่ชัง ได้ปลุกกระแสการล้มล้างราชวงศ์ชิงให้ยิ่งขว้างขวางออกไป และส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ของราชสำนักต้าชิงเป็นอย่างยิ่ง จนกระทั่งในลำดับต่อมา ได้มีการจัดทั้งรัฐบาลทหารหูเป่ย และปรกาศเอกราชขึ้น หลังจากนั้นหูหนัน ส่านซี ซันซี หยุนหนัน เจียงซี กุ้ยโจว เจียงซู กว่างซี อันฮุย ฝูเจี้ยน กว่างตง ซื่อชวนก็ได้ทยอยกันประกาศเองราช ล้มล้างราชวงศ์ชิง ซึ่งประวัติศาสตร์ได้เรียกการปฏิวัตินี้ว่าการปฏิวัติซินไฮ่ (辛亥革命) ตามปีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น
เมื่อถึงเดือนม.ค. ปีค.ศ. 1912 สมาคมถงเหมิงได้ประชุมหารือกันที่นานกิง และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้น และตั้งชื่อประเทศเป็น สาธารณรัฐจีน (中华民国) จากนั้นในเดือนถัดมาก็ได้บีบให้ฮ่องเต้ของราชวงศ์ชิงลงจากตำแหน่ง นับว่าเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของแผ่นดินมังกร และถือเป็นจุดจบของราชวงศ์ชิงที่มีอายุกว่า 200 ปี และเป็นการปิดฉากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชกว่า 2,000 ปีของจีนลง
ส่วนผู่อี๋ หรือปูยี หลังจากที่สละราชสมบัติแล้ว ในปีค.ศ. 1917 ภายใต้ความพยายามของจางซวิน (张勋) ที่ผลักดันทำการปฏิวัติและประกาศฟื้นคืนราชวงศ์ชิงขึ้นมาใหม่ โดยยกให้ผู่อี๋กลับมาเป็นฮ่องเต้อีกครั้ง ทว่าเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกการรวมตัวต่อต้านจากทุกฝ่าย ท่ามกลางสถานการณ์และแรงกดดัน ทำให้อีก 12 วันให้หลังก็จำต้องประกาศยอมแพ้ และทำให้ผู่อี๋ต้องหลุดจากราชบัลลังก์อีกครั้ง
เมื่อมาถึงปีค.ศ. 1924 กองทัพของเฝิงอี้ว์เสียง (冯玉祥) ได้ปิดล้อมพระราชวังต้องห้าม พร้อมหันปากกระบอกปืนใหญ่เข้ามาในวัง แล้วบังคับให้ผู่อี๋ลงนามยกเลิกการเรียกเป็นฮ่องเต้ และกำหนดเวลาให้ออกไปภายในเวลา 2 วัน จากนั้นจึงได้อาศัยความสัมพันธ์ที่มีกับชาวญี่ปุ่น ช่วยให้ปลอมตัวเป็นพ่อค้า แล้วหลบไปพักอยู่ที่จางหยวน กับจิ้งหยวน
ปีค.ศ. 1931 หลังจากที่ญี่ปุ่นได้บุกยึดพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ได้ตั้งประเทศแมนจูกั๋ว (满洲国) ขึ้น จากนั้นก็ได้ลอบนำตัวผู่อี๋ไปยังแมนจู โดยผู่อี๋ยอมให้ความร่วมมือ และรับการแต่งตั้งให้เป็นฮ่องเต้ อย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1934
กระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศแมนจูกั๋วก็ถูกล้มล้างไป และในปีค.ศ. 1945 ขณะที่ทาหารญี่ปุ่นได้นำตัวผู่อี๋มายังสนามบินเสิ่นหยางเพื่อเดินทางกลับญี่ปุ่น ก็ถูกทหารของรัสเซียจับตัวไป แต่ก็ได้รับการดูแลจากทางรัสเซียเป็นอย่างดี จนถึงกับเคยเขียนหนังสือแสดงความจำนงต้องการอยู่ในรัสเซียตลอดชีวิตอยู่หลายครั้ง
ปีค.ศ. 1950 ผู่อี๋และนักโทษจากสงครามแมนจูกั๋วถูกส่งตัวกลับมาให้กลับรัฐบาลจีน และถูกกุมขังอยู่ร่วมกับนักโทษอื่นๆในสถานควบคุมที่ฮาร์บิน ใช้ชีวิตในฐานะนักโทษรหัสหมายเลข 981 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี กระทั่งได้รับการนิรโทษกรรมในวันที่ 4 ธ.ค. 1959 กลายเป็นหนึ่งในประชาชนธรรมดาคนหนึ่งของจีน จนกระทั่งเสียชีวิตที่ปักกิ่งในปีค.ศ. 1967 ในขณะที่มีอายุรวม 61 ปี จึงถือเป็นอันจบสิ้นของฮ่องเต้องค์สุดท้ายแห่งแผ่นดินมังกร