รอยเตอร์ –นักเศรษฐศาสรต์ของทางการฮ่องกงได้เปิดเผยว่า หลังจากที่จีนมีเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับเลข 2 หลักมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว เศรษฐกิจของจีนจะค่อยๆเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ทว่าการบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็ง จะช่วยลดผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาได้
โดยกัว กั๋วเฉวียน (เสียงจีนกลาง)ได้เปิดเผยกับหน่วยงานมันสมองของวอชิงตันว่า “เมื่อมองจากรอบของเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้วนมาถึงช่วงชะลอตัวแล้ว ซึ่งการชะลอตัวเช่นนี้ คงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองของจีนอาจจะอยากเห็น เพราะหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจได้ผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อตามไปด้วย”
“จีนเองก็คงยินดีให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของตัวเองลดลงมาอยู่ที่ 9%” กัวกล่าวกับสถาบันคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ(Carnegie Endowment for International Peace)
ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกนั้น กัวระบุว่า อาจจะไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก เพราะผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพีของปักกิ่งคิดเป็นเพียง 3%ของทั้งประเทศ
หลายปีที่ผ่านมา จีนได้กลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจึงได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกว่าสภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างกระทันหันเกินไป
ในช่วงไตรมาสที่ 2 การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจาก 11.9% ในปี 2007 มาอยู่ที่ 10.1% อีกทั้งตัวเลขในเดือนส.ค.ที่กำลังจะออกมานั้นก็เชื่อว่าจะมีการชะลอตัวลงอีกขั้นหนึ่ง
กัวได้ประเมินว่า เนื่องจากกำลังการบริโภคของจีนยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ จะทำให้มูลค่าการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นมากถึง 14% ในขณะที่การส่งออกที่อ่อนแรงลงนั้นส่งผลกระทบต่อจีดีพีเพียง 2%-3% เท่านั้น
“ขอเพียงสามารถรักษาการบริโภคภายในประเทศ กับรายจ่ายในการลงทุนให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ก็จะสามารถช่วยป้องกันเศรษฐกิจของจีนให้รอดพ้นจากผลกระทบอันเกิดจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาได้”
กัวได้ระบุว่า การที่ผู้นำจีนที่พยายามจะลดเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาที่ดินที่พุ่งราวติดปีก ปัญหาฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์ ต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบในการผลิตสูงขึ้น ก็ล้วนมาจากเงินเฟ้อที่เพิ่มมาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลปักกิ่งเองก็คงไม่อยากให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากจนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นยังไม่มีความแน่นอนเช่นนี้