xs
xsm
sm
md
lg

อิรักไฟเขียวCNPC เข้าพัฒนาแหล่งน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานกำลังทำงานในโรงกลั่นน้ำมันทางตอนใต้ของอิรัก(บันทึกภาพเมื่อปี 2007) ขณะที่CNPCจากจีนได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลอิรักให้เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำมันในประเทศ - เอเอฟพี
รอยเตอร์ – รัฐบาลอิรักอนุมัติข้อตกลงมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ ให้ไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม หรือCNPC บริษัทของรัฐบาลจีน เข้าพัฒนาแหล่งน้ำมันในประเทศ

“บริษัทของจีนจะคิดค่าบริการในการผลิตบาร์เรลละ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะค่อย ๆ ลดลงจนเหลือบาร์เรลละ 3 ดอลลาร์ต่อไป” นายฮัสเซน อัล-ชาห์ริสทานี รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรักเปิดเผยเมื่อวันอังึร(2 ก.ย.) 

ภายใต้ข้อตกดังกล่าว CNPC จะเข้าพัฒนาแหล่งน้ำมัน อัล-อาห์ดับในจังหวัดวาซิต ซึ่งอยู่ในภาคกลาง และเป็นถิ่นของชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ โดยในช่วงระยะ 3 ปีแรกนั้น จะผลิตน้ำมันวันละ 25,000 บาร์เรล

เจ้าหน้าที่กระทรวงน้ำมันของอิรักผู้หนึ่งระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่า แหล่งน้ำมันแห่งนี้จะดำเนินการได้เต็มที่ภายในช่วงเวลา 3 ปี และ น่าจะผลิตน้ำมันได้นานถึง 20 ปีหลังจากนั้น

ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการรื้อฟื้นสัญญาฉบับหนึ่งในปี 2540 ซึ่งให้สิทธิ์ในการสำรวจแหล่งน้ำมันอัล-อาห์ดับแก่CNPC โดยข้อตกลงในเวลานั้นมีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอายุสัญญา 23 ปี

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต้องระงับไป เนื่องจากสหประชาชาติคว่ำบาตรอิรัก และจากปัญหาด้านความปลอดภัย หลังจากสหรัฐฯ ส่งกำลังทหารโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซนในปี 2546

รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรักยังระบุด้วยว่า อิรักประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากที่ก่อนหน้านี้เป็นลักษณะสัญญาการลงทุนร่วมกันมาเป็นข้อตกลงในการให้บริการเท่านั้น

เหตุผลหนึ่งที่อิรักยังไม่พร้อมทำสัญญาลงทุนร่วมกับผู้ผลิตน้ำมันต่างชาติได้ก็เนื่องจากอิรักยังไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในรัฐสภา ซึ่งเรื่องยังค้างอยู่ในสภามาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุการแบ่งรายได้จากน้ำมันให้แก่ 18 จังหวัด แต่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มชีอะห์, สุหนี่และชนเชื้อสายเคิร์ด

อิรักคาดว่าข้อตกลงกับCNPC จะช่วยสร้างการจ้างงานแก่ชาวอิรัก โดยน้ำมันที่ได้จากการผลิตจะนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าซูไบดิย่าห์ ซึ่งจีนกำลังก่อสร้างในจังหวัดวาซิต

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจีนนั้น สัญญาพัฒนาแหล่งน้ำมันดังกล่าวคาดว่าจะไม่สร้างรายได้ใด ๆ แก่จีน ยกเว้นค่าธรรมเนียมบริการ โดยข้อตกลงฉบับนี้ นับเป็นการกรุยทางให้บริษัทน้ำมันต่างชาติรายอื่น หวนกลับมาอิรักอีกครั้ง หลังจากถูกซัดดัมขับไล่ออกไปเมื่อ 36 ปีก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น