xs
xsm
sm
md
lg

สื่อจีนชี้ช่องว่างรวย-จนจีนเลวร้ายสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ช่องว่างรายได้นี้ เป็นผลมาจากกฎเหล็กในภาคเศรษฐกิจของจีน เหตุผลหลักของมันก็คือ ประสิทธิภาพในภาคเกษตรยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก/ภาพเกษตรกรในชนบทจีน-เอเอฟพี
ไชน่า ยูธ์ เดลี่รายงานคำแถลงของซุน เจิ้งไช่รัฐมนตรีว่าการเกษตร เปิดเผยในวันศุกร์(29 ส.ค.)ว่าอัตราช่องว่างรายได้ระหว่างพื้นที่เมืองและชนบทในจีนเลวร้ายสุดในช่วงที่กลุ่มการนำรุ่นนี้ครองอำนาจ แม้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว กลุ่มผู้นำจีนได้ประกาศแก้ไขปัญหาช่องว่างในสังคม

โดยขณะนี้ ผู้อาศัยในเขตเมืองมีรายได้มากกว่ากลุ่มที่อาศัยในชนบท 3.3 เท่าตัว เทียบกับในปี 2006 ตัวเลขนี้ เท่ากับ 3.28 เท่านั้น

ไชน่า ยูธ์ อ้างคำกล่าวของซุน ซึ่งแสดงความวิตกต่อสถานการณ์ปัญหาช่องว่างระหว่างกลุ่มคนในสังคมว่า อาจเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างดูไม่เอื้ออำนวยในการกระเตื้องรายได้ของเกษตรกร “เงื่อนไขในตอนนี้ ยังสร้างความยากลำบากในการเร่งการขยายตัวรายได้ของภาคเกษตร”

สืบเนื่องจากช่องว่างรายได้นี้ จะกระทบชาวจีนจำนวนมากถึง 800 ล้านคน ที่อาศัยในเขตชนบท ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล

“รัฐบาลจะต้องลดความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองและชนบท ไม่ใช่เพราะต้องการทำดีกับเกษตรกร สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เพราะมันเป็นหนทางเดียวในการพัฒนาสังคม มิฉะนั้นแล้ว ความไม่เท่าเทียมนี้ จะกระทบต่อเสถียรภาพสังคม และความไม่ยุติธรรมในสังคมก็จะกระตุ้นอัตราอาชญากรรมสูงขึ้น” หู ซิงโตว เศรษฐกรสถาบันเทคโนโลยีแห่งปักกิ่งชี้

ทั้งนี้ กลุ่มผู้นำรุ่นปัจจุบันครองอำนาจในปี 2002 ได้กำหนดให้การปรับความเท่าเทียมในสังคมเป็นภารกิจหมายเลขหนึ่ง

“เราจะพัฒนาช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กลุ่มชนบท” เวิน เจียเป่าประกาศในการแถลง ต่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติหรือรัฐสภาจีนเมื่อเดือนมีนาคม พร้อมคำสัญญาอัดฉีดค่าใช้จ่ายสู่ภาคเกษตรกรรมหลังจากนั้น รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการยกเลิกภาษีเกษตรกรรม แม้กระนั้นก็ตาม ช่องว่างรายได้กลับขยายกว้างไม่หยุดยั้งในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเมินจากตัวเลขของทางการ

โดยในปี 2000 เขตเมืองมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าผู้อาศัยในเขตชนบท 2.79 เท่า สูงกว่าช่วงหลังการปฏิรูป ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเท่ากับ 1.71 ในปี 1984

กลุ่มผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า ช่องว่างรายได้นี้ เป็นผลมาจากกฎเหล็กในภาคเศรษฐกิจของจีน “เหตุผลหลักของมันก็คือ ประสิทธิภาพในภาคเกษตรยังคงอยู่ในระดับต่ำมาก ต่ำกว่าในภาคอุตสาหกรรมมากมาก นอกจากนี้ ในเขตชนบทยังมีประชากรล้นเกินอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งดึงรายได้ต่อหัวประชากรตกต่ำลงมา ” เหริน หยวนนักสังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยชั้นนำฝู่ตันในเซี่ยงไฮ้ชี้

นักวิชาการยังชี้ต่อว่ากฎระเบียบในปัจจุบันยังไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าไหร่นัก อาทิ การสร้างอุปสรรคแก่ชาวนาเกษตรกรที่เดินทางเข้าสู่เมืองเพื่อหางานทำ นอกจากนี้ การขาดการจัดการแรงงานในชนบท ยังทำให้เกษตรกรไร้อำนาจต่อรองร่วมในการกำหนดราคาผลผลิต “ผู้อาศัยในเขตชนบทยังขาดสิทธิในการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือสิทธิทางเศรษฐกิจ หากสถานการณ์นี้ไม่เปลี่ยน รายได้พวกเขาก็ไม่มีวันขยับสูงขึ้น และความไม่เท่าเทียมก็จะยังถ่างกว้างต่อไป” หู นักวิชาการแห่งปักกิ่งกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น