โดย สุรัตน์ ปรีชาธรรม
ในการมาเยือนปักกิ่งปลายเดือนพฤษภาคม ผู้เขียนก็ได้ยืมจักรยานของเพื่อน ปั่นเที่ยวตรอกซอยแห่งนครเก่าปักกิ่ง ซึ่งคนจีนเรียก “หูท่ง” ย่านโปรดของผู้เขียน ขับเลียบเลาะไปตามถนนถึงแยกเต๋อเซิ่งเหมิน ก็เลี้ยวไปตามถนนที่มีต้นไม้ครื้มสองข้างทางถนน แผ่ใบเข้าหากันเป็นอุโมงค์เขียว มาคราวนี้ ผู้เขียนต้องคอยระวังสะดุดเศษอิฐเศษปูนจากบ้านเรือนที่ถูกทุบทิ้ง และกองปูนกองทรายตามเขตก่อสร้างที่กองเกลื่อนเป็นระยะๆไปตามริมถนนทางเท้า
ผู้เขียนเลี้ยวเข้าไปในตรอกแคบของหูท่งแห่งหนึ่ง ชาวปักกิ่ง 2-3 คนเดินถือถุงสิ่งของเข้าไปตามทาง ที่เรียงรายด้วยบ้านเรือนทรงโบราณ คนจีนเจ้าตำรับเรียกว่า “ซื่อเหอย่วน” (四合院) ฝรั่งบัญญัติศัพท์ตามความหมายของคำเป็น Quadrangle House หมายถึงหมู่เรือนหรือห้องเรียงเป็นสี่เหลี่ยม ซื่อเหอย่วนหลังแรกที่เห็นระหว่างทางเข้าไปนั้น กลายเป็นคาเฟ่ไปแล้ว มีฝรั่ง 2-3 คน นั่งทอดหุย จิบกาแฟ
เข้าไปสุดทาง ของตรอกนั้น ก็พบทะเลสาบโฮ่วไห่ ทะเลสาบโฮ่วไห่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบใหญ่สือซาไห่ที่กินอาณาบริเวณอยู่ในย่านใจกลางเมืองกรุงแห่งนี้ สือซาไห่ยังประกอบด้วยทะเลสาบอีก 2 แห่งคือ เฉียนไห่ และซีไห่
บริเวณรอบทะเลสาบสือซาไห่นี้เป็นย่านหูท่งใหญ่แห่งหนึ่ง รายรอบไปด้วยซื่อเหอย่วนของประชาชนทั่วไประดับชนชั้นกลางที่มีฐานะ และชนชั้นที่มีฐานะลดหลั่นลงมาถึงกลุ่มยากจนหาเช้ากินค่ำ มีตั้งแต่อดีตบ้านพักของหญิงเหล็กซ่ง ชิ่งหลิง ภริยาผู้นำใหญ่แห่งยุคปฏิวัติล้มระบบกษัตริย์จีนปีค.ศ. 1911 คือซุน จงซัน หรือดร.ซุน ยัตเซ็น ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ซ่ง ชิ่งหลิง ในย่านนี้ ยังเป็นแหล่งรวมซื่อเหอย่วนที่เคยเป็นบ้านของศิลปินนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายท่านอย่าง ศิลปินอุปากรปักกิ่งเหม่ย หลันฟาง กัว มั่วลั่ว....? ซื่อเหอย่วนเหล่านี้ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์รำลึกศิลปินเหล่านั้นไปด้วยเช่นกัน
บ้านเรือนบริเวณด้านหน้ารอบทะเลสาบนั้น ได้ถูกแปลงโฉมไปในการพัฒนาเมืองระลอกก่อนหน้า ระหว่างที่จีนเริ่มเปิดประเทศ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดงผับบาร์ร้านกินดื่มสำหรับนักท่องเที่ยวและกลุ่มชาวจีนมีกะตังค์ ร้านค้าขายสินค้าศิลปะพื้นบ้านหลากหลายประดามี และกองทัพรถลากสามล้อแบบสมัยก่อนคอยบริการนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมซื่อเหอย่วน ชีวิตหูท่ง สัมผัสบรรยากาศคลาสสิกแห่งนครเก่าปักกิ่ง หรือที่จีนเรียก “เหลาเป่ยจิง”
หูท่งในบริเวณสือซาไห่ และหูท่งหอระฆังที่อยู่ไม่ไกลกันนัก สามารถเดินถึงกันได้นั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวหูท่งชั้นนำของนครปักกิ่ง เป็นย่านหูท่งที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี บางตรอกมีซื่อเหอย่วนอายุเก่าแก่นับหลายร้อยปี
อย่างไรก็ตาม หูท่งก็ยังคงเป็นบ้านเป็นรังสุดรักของชาวปักกิ่งรากหญ้า ซึ่งใช้ชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงพัฒนารูปโฉมใหม่ของบ้านเมือง รอบทะเลสาบยังคงมีชาวปักกิ่งออกมานั่งตกปลา บ้างเดินเล่นนั่งเล่น บ้างจูงลูกหลานออกมาเที่ยวในสนามเด็กเล่น ชายสูงอายุแขวนกรงนกไว้ตรงกิ่งต้นดอกท้อ เข้าไปร่วมวงเล่นไพ่นกกระจอกกลางสวน ผู้เฒ่านั่งสีซอจีนใต้ร่มไม้ยามเย็น ขณะที่กลุ่มคนหนุ่มน้อยใหญ่กระโดดว่ายน้ำในทะเลสาบกันคึกๆโดยมีรถตำรวจคอยมายืนคุมเชิงดูอยู่เป็นพักๆ
เรื่องว่ายน้ำในทะเลสาบหรือสระสาธารณะแห่งอื่นๆนี้ เป็นเรื่องขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างชาวจีนปักกิ่งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งผู้เขียนเคยอ่านข่าววิวาทะนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วระหว่างเรียนภาษาอยู่ในปักกิ่ง ข้างเจ้าหน้าที่นั้น มองว่ามันเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมอุจาดต่อสายตาของแขกบ้านแขกเมืองที่มาเที่ยวชมเมืองเก่า แต่ชาวจีนเหล่านี้ ก็หัวรั้นถือการว่ายน้ำเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเก่าแก่ที่พวกเขาปฏิบัติการกันแต่ไหนแต่ไร ทำไมจะต้องมาให้พวกเขาเลิกวิถีของพวกเขาเพื่อสร้างทัศนียภาพศิวิไลซ์ โดยเฉพาะแก่พวกชาวต่างชาติที่มาเที่ยว
เสน่ห์ชีวิตหูท่งที่ตรึงใจคนนอก
สำหรับบ้านเรือนในย่านเมืองเก่าปักกิ่ง ที่บ้างก็ดูสวยคลาสสิก บ้างก็ดูเก่าซอมซ่อโกโรโกโสแออัดนั้น แบ่งย่อยลงไปอีกได้เป็น 2 ประเภทคือ ซื่อเหอย่วนและหมู่เรือนของหลายครอบครัวเรียงชิดแออัดอยู่ด้วยกัน อธิบายด้วยภาษาปัจจุบัน คือซื่อเหอย่วนเป็นบ้านของชนชั้นกลาง ส่วนหมู่เรือนที่เรียงอัดอยู่ด้วยกันนั้น เป็นบ้านของชนชั้นยากไร้กว่า
ต่างชาติหลายๆคนที่มาเยือนนครปักกิ่ง ได้เห็นชีวิตของชาวปักกิ่งรากหญ้าที่อาศัยตามหูท่งไม่ว่าจะเป็นซื่อเหอย่วนระดับไหน ไปถึงกลุ่มบ้านหลายครอบครัว ต่างก็หลงมนต์เสน่ห์ของชีวิตหูท่ง ไม่เพียงเพราะรูปทรงคลาสสิกของบ้านเรือนที่สร้างจากแนวคิดปรัชญาจีน พวกเขาต่างประทับใจภาพชาวจีนที่นั่งเล่น ออกกำลัง รำมวยจีน คนเฒ่าคนแก่พูดคุยโอ้อวดหรืออาจปรับทุกข์เรื่องลูกหลาน นินทากาเลเพื่อนบ้าน ทั้งหมดนี้สรุปแล้วมันก็เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ที่อบอุ่น กล่าวโดยทั่วไปชาวหูท่งมีความสุข พึงพอใจกับชีวิต
เมื่อคุณเดินเข้าไปตามตรอกซอยแคบเหล่านี้ ก็จะรู้ได้ทันทีว่าคนย่านนี้ ทำมาหากินอะไรกัน และรู้สึกสัมผัสใกล้ชิดกับชีวิต ด้วยชื่อของตรอกซอยเหล่านั้น อย่างเช่น “ตรอกฟืน” “ตรอกตลาดข้าว” “ตรอกร้านขายน้ำมัน” “ตรอกน้ำส้มนายจาง” “ตรอกชา” เทียบกับชื่อถนนตรอกซอยที่ตั้งใหม่ระหว่างการพัฒนาเมืองใหม่ อย่าง “ซอยทิศเหนือที่3” “ซอยทิศตะวันออกที่2”
หูท่งนั้น ถูกหั่นหดหายไปตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ระหว่างยุคการปกครองคอมมิวนิสต์ การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ตึกสูงอพาร์ทเมนท์ ตึกสำนักงาน ตลอดจนห้างร้านทันสมัยทะยอยผุดพรายขึ้นทีละหย่อมทีละย่าน ชักแถวเข้ามาแทนที่หูท่ง ประชาชนจำนวนมากต้องออกจากตรอกซอยที่บรรพชนของพวกเขาอาศัยอยู่หลายชั่วรุ่น ไปเป็นชาวแฟลต
ที่จริงก่อนหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ หูท่งก็เริ่มเละลงอย่างน่าใจหายแล้ว โดยในช่วงจุดเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 ช่วงที่ราชสำนักชิงเริ่มระส่ำระสาย ก่อนถึงกาลล่มสลายของยุคกษัตริย์ราชวงศ์จีน ความวุ่นวายของบ้านเมืองได้ส่งผลสะเทือนถึงการจัดการก่อร่างหูท่ง โดยมีหูท่งใหม่ๆผุดขึ้นมากมาย สร้างกันอย่างมั่วซั่ว ไร้แบบแผน ต่อมาระหว่างช่วงยุคสาธารณรัฐประชาชนจีนจากปี ค.ศ.1911 ถึง ปีค.ศ. 1948 สังคมจีนไร้เสถียรภาพ กระเจิดกระเจิงเนื่องจากสงครามกลางเมืองและการรุกรานของต่างชาติ นครปักกิ่งเสื่อมโทรมลง หูท่งก็พลอยถลำสู่ยุคมืด ซื่อเหอย่วนหลังใหญ่ถูกฉีกแยกแบ่งให้กับครัวเรือนอื่นๆ มีการสร้างต่อเติมอย่างสะเปะสะปะ ด้วยวัสดุเท่าที่จัดหามาได้*(1)
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา หูท่งก็ได้กลายเป็นเหยื่อสังเวยครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงนครหลวงปักกิ่งให้ทันสมัยรับโอลิมปิก เกมส์ 2008 นี้ คณะกรรมการก่อสร้างแห่งเทศบาลนครปักกิ่งประกาศ รื้อถอนซื่อเหอย่วนในหูท่งเป็นพื้นที่รวมถึง 250,000 ตารางเมตร รวม 20,000 ครัวเรือนด้วยกันในปี 2004
ขณะนั้น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างซินจิงเป้าก็ได้รายงานความขัดแย้งระหว่างคณะกรรมการเมือง และชาวปักกิ่งที่รุมคัดค้านอย่างหนัก ขณะที่ทางการโต้ว่าหูท่งที่อยู่ในแผนรื้อถอนนั้น เป็นหูท่งบ้านซื่อเหอย่วนระดับชั้นสอง ซึ่งรวมถึงหูท่งตามแนวถนนบริเวณหอกลองหอระฆังด้วย!
ส่วนสื่อของรัฐจีนก็มักออกข่าวการทุ่มงบประมาณอนุรักษ์เมืองเก่าฟื้นฟูหูท่ง ผู้เขียนไปมาคราวนี้ ก็เห็นซื่อเหอย่วนสร้างใหม่แทนที่ของเก่า เรียกได้ว่าเป็นซื่อเหอย่วนรุ่นโอลิมปิก ปักกิ่ง โดยบ้านหลังที่อยู่ด้านหน้าๆติดถนน ก็ดูจะกลายเป็นภัตรคาร ร้านค้า ร้านขายของที่ระลึกมากกว่า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมากระหว่างการปรับเปลี่ยนโครงร่างเมืองคือ “เมื่อเลย์เอาท์เมืองปักกิ่งเปลี่ยนไประหว่างการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยที่หูท่งเริ่มหดหายไปเป็นเบืก ตึกอาคารสูงเข้ามาแทนที่ วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ก่อรูปจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในตรอกซอย อย่างมีความสุขและความพึงพอใจ ก็ค่อยๆแหว่งวิ่นขาดหายไป ขณะที่วัฒนธรรมทางจิตใจที่มาจากการยึดถือคติมือใครยาวสาวได้สาวเอา (benefit oneself at the expense of neighbors) เริ่มฟื้นชีพขึ้นมาอีก คตินี้ เคยฝังรากในจิตใจชาวจีนจำนวนมากเมื่อครั้งอดีตกาล แต่การเปลี่ยนแปลงเลย์เอาท์นครปักกิ่งในช่วงต้นๆของการปฏิวัติจีนใหม่ทศวรรษ 1950 ก็ได้กลบกลืนคติที่ไม่น่าพึงปรารถนานี้ไป* (2)
อ่าน "มนต์เสน่ห์ซื่อเหอย่วน มนต์เสน่ห์โลกตะวันออก"
*(1)Wikipedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Hutong)
* (2) Old Beijing People, House and Lifestyle, Xu Chengbei, Foreign Languages Press, หน้า 11 และหน้า 29