“ขอให้ใช้น้ำใจ ความจริงใจในการมอบบริการที่ดีที่สุด เพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรีและมิตรภาพของประเทศเรา” เวิน เจียเป่า
ภาพของอาสาสมัครเป็นสิ่งที่พบเห็นเคียงคู่กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมาเสมอ ตั้งแต่โอลิมปิกซิดนีย์เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก็มีการจัดอาสาสมัครไว้ 47,000 คน โอลิมปิกเอเธนส์เมื่อ 4 ปีก่อนก็มีอาสาสมัครราว 60,000 คน แต่นั่นก็นับว่าน้อยอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับปักกิ่งที่มีอาสาสมัครที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันราว 100,000 คน อาสาสมัครประจำเมืองที่เพิ่งมีขึ้นครั้งแรกในโอลิมปิกปักกิ่งอีก 400,000 คน และอาสาสมัครบริการสังคมอีกกว่า 1,000,000 คน
ดังนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าอาสาสมัครในโอลิมปิกคราวนี้ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่และมีปริมาณมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จีนได้อาศัยเวลา 2 ปีในการรับสมัคร มีผู้เข้าสมัครเป็นอาสาสมัครมากกว่า 1,120,000 คน ในขณะที่อาสาสมัครประจำเมือง (คอยดูแลความเรียบร้อยในปักกิ่ง) มีทั้งสิ้น 2,070,000 คน จากนั้นบุคคลเหล่นี้ก็จะต้องผ่านการคัดเลือก การทดสอบ การอบรม และมีการคัดออกไปเป็นจำนวนมาก
หยวน เฉินเชินอาจารย์ภาษาอังกฤษจากเมืองอิ๋นชวน ในหนิงเซี่ยที่ได้เข้ามาประจำอยู่ที่ด้านข้างประตูอันติ้ง เพื่อแสดงรอยยิ้มคอยให้บริการอันอบอุ่นท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในปักกิ่ง โดยเธอรับหน้าที่เป็นอาสาสมัครโอลิมปิก ที่รับหน้าที่ในการต้อนรับสื่อที่จะมาทำข่าวการแข่งกีฬาแข่งจักรยาน
หยวน เฉินเชินกับเพื่อนๆอาสาสมัครของเธอรู้สึกว่าได้รับภารกิจอันมีเกียรติ โดยเฉพาะหลังจากที่เมื่อเดือนครึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจีนเวิน เจียเป่าได้กล่าวกับอาสาสมัครทั้งหลายว่า “ขอให้ใช้น้ำใจ ความจริงใจในการมอบบริการที่ดีที่สุด เพื่อเกียรติ ศักดิ์ศรีและมิตรภาพของประเทศเรา”
หยวน เฉินเชินกับคุณแม่เฉิน เฮ่อได้เข้ามาสมัครเป็นอาสาสมัครโอลิมปิกในปักกิ่งพร้อมกัน โดยปกติอาสาสมัครในเมืองกับอาสาสมัครบริการสังคมมักจะคัดเลือกแต่คนในปักกิ่ง ดังนั้นพวกเธอจึงได้แต่ต้องไปสมัครเป็นอาสาสมัครที่ให้บริการด้านการแข่งขันประเภทใดประเภทหนึ่ง
นับตั้งแต่ปลายปี 2007 เป็นต้นมา มีผู้สมัครจากเขตปกครองตนเองชนชาติหุย หนิงเซี่ยทั้งสั้น 2,300 คนแต่สุดท้ายผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นอาสาสมัครในการแข่งขันโอลิมปิกมีทั้งสิ้นเพียง 80 คน กับพาราลิมปิกอีก 20 คนในขณะที่มณฑลอื่นๆก็ไม่ได้ดีกว่ากันสักเท่าไหร่
เฉิน เฮ่อ คุณแม่ของหยวนเห็นว่าในโฆษณาที่เปิดรับอาสาสมัครได้เขียนไว้เพียงว่า “อายุ 18 ขึ้นไป” แต่ไม่ได้กำหนดว่าไม่เกินเท่าไหร่ ก็เลยตัดสินใจที่จะไปทดลองดู แต่แน่นอนว่าต้องเจอกับความยากลำบากไม่น้อย แค่ภาษาอังกฤษก็ต้องมานั่งรื้อฟื้นกันใหม่หลังจากที่ทิ้งไปเกือบ 30 ปี
ขั้นตอนการเข้าเป็นอาสาสมัครเริ่มต้นจากการส่งชื่อเพื่อสมัคร จากนั้นก็จะมีการคัดเลือกขั้นต้น หากสามารถผ่านการคัดเลือกขั้นต้นมาได้แล้วก็จะเป็นการทดสอบภาษาอังกฤษ กับการสอบสัมภาษณ์ที่ค่อนข้างเข้มงวด เพราะในการสอบสัมภาษณ์จะมีการวางกับดักในคำถาม เพื่อทดสอบปฏิภาณไหวพริบของผู้เข้าสมัครด้วย
อย่างเช่นหยวน เฉินเชินที่เมื่อเดินเข้ามาในห้องสอบสัมภาษณ์ ก็เห็นว่ามีไฟแช็คอันหนึ่งหล่นอยู่บนพื้น ทางกรรมการก็จะคอยดูว่าหยวนจะเห็นหรือไม่ หรือมีปฏิกิริยาต่อของที่หล่นบนพื้นยังไง ซึ่งโชคดีที่หยวนมองเห็น และเลือกที่จะเก็บมาคืนให้กับคณะกรรมการซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสัมภาษณ์
นอกจากนั้นยังมีคำถามจากนักจิตวิทยาด้วยเช่น ในช่วงที่ผ่านมาได้ฝันร้ายอะไรบ้าง? ในชีวิตมีเรื่องไม่สบายใจอะไร? หรือว่าปกติใช้วิธีอะไรในการคลายเครียดให้กับตน ยิ่งถ้าหากเป็นนักศึกษาในปักกิ่ง ก็จะมีการคัดจากมหาวิทยาลัยมาก่อนขั้นหนึ่ง จากนั้นก็จะมีการขึ้นประกาศนักเรียนที่ทางมหาวิทยาลัยจะส่งไปเพื่อรับการคัดเลือกจากคณะกรรมการโอลิมปิกต่อ
หยวนรู้สึกดีใจมากหลังทราบผลว่าตนเองกับคุณแม่ต่างสามารถผ่านการคัดเลือก และการทดสอบทั้งหมดมาได้ เด็กๆจากทางบ้านของเธอต่างๆส่งข้อความมาถามได้เข้าสนามกีฬารังนกรึยัง? จะได้ไปดูพิธีเปิดรึเปล่า ซึ่งหยวนได้เปิดเผยว่า ฉันอาจจะเป็นคนที่โชคดีที่สุดคนหนึ่ง เพราะเป็นอาสาสมัครที่สามารถมีคุณแม่อยู่ใกล้ๆได้ด้วย
อาสาสมัครชายจากเซี่ยงไฮ้คนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานผู้จัดการในขณะที่กำลังช่วยแนะนำสนามแข่งขันให้ฟังว่า “ถ้าเป็นที่ปักกิ่ง การคัดเลือกถึงแม้จะยากแต่ก็ยังนับว่าง่ายกว่าที่อื่น เพราะที่นั่นต้องการใช้คนจำนวนมาก ดังนั้นการคัดเลือกจะมีการกรองเพียงแค่ 3 รอบ แต่ถ้าเป็นที่เซี่ยงไฮ้ จะมีการคัดออกและกรองมากถึง 4 รอบ”
“อย่างมหาวิทยาลัยในเขตซินจวงของผม ซึ่งจัดว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อระดับหนึ่งในเซี่ยงไฮ้ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 1,300 คน แต่คุณรู้ไหมว่าสามารถผ่านการคัดเลือกจนเป็นอาสาสมัครโอลิมปิกได้มีกี่คน? ทั้งหมดรวมผมด้วยก็มีแค่ 39 คนเท่านั้น ดังนั้นกว่าจะผ่านมาได้มันใช่เรื่องง่ายเลย”
ไม่เพียงเท่านั้น หยวนได้เปิดเผยว่าแม้การเป็นอาสาสมัครจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาสาสมัครหลายคนได้ไปทำงานในมุมมที่ไม่มีใครมองเห็น ต้องเป็นผู้ปิดทองหลังพระ เหมือนกับเพื่ออาสาสมัครชายคนหนึ่งที่จะต้องคอยดูแลอยู่ที่บริเวณห้องน้ำ เขาก็มักจะพูดติดตลกอยู่เสมอว่า “ผมสมัครมาเป็นหัวหน้าห้องน้ำ” สมกับสโลแกนของอาสาสมัครโอลิมปิกที่บอกว่า “เราเข้าร่วม เราเสียสละ เรามีความสุข”
ล่าสุด มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้ทำโพลดัชนีความสุขของอาสาสมัคร โดยตั้งคำถามว่า “วันนี้คุณมีความสุขไหม?” ซึ่งคะแนนที่ออกมานับว่าต่ำมาก ซึ่งสิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่อาสาสมัครต้องพบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ยอมทำตามคำแนะนำในเวลาที่รถติด รวมไประเบิดอารมณ์ของผู้คนที่บริเวณสนามแข่งขันที่ทำเอาอาสาสมัครหญิงหลายคนต้องหลั่งน้ำตาไปแล้วก็มี ยังไม่นับรวมกับงานของอาสาสมัครบางคนที่ต้องยืนตากแดดอยู่ที่สนามกีฬารังนกนานกว่าวันละ 10 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ในบรรดาอาสาสมัครทั้งหมด มีอาสาสมัครที่มาจากฮ่องกงจำนวน 299 คน จากมาเก๊า 95คน จากไต้หวัน91 คน และเป็นอาสาสมัครจากชาติอื่นๆที่มาช่วยอีก 935 คน