xs
xsm
sm
md
lg

“โจหลุยส์”แห่งไต้หวัน สร้างมิติใหม่หุ่นกระบอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3โรบิ้น รุยเซนดัล ผู้อำนวยการ“หลิน หลิ่วซิน” กับเหล่าหุ่นกระบอกแสนรัก-เอเอฟพี
หุ่นกระบอกไต้หวันเป็นศิลปะการแสดง ที่เปี่ยมด้วยความงามและคุณค่าทางวัฒนธรรม แต่น่าเสียดายที่ชาวไต้หวันรุ่นใหม่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของศิลปะแขนงนี้ โชคดีที่ได้ โรบิ้น รุยเซนดัล หนุ่มชาวดัตช์ผู้หลงใหลอารยธรรมจีนช่วยปลุกชีวิต

รุยเซนดัลได้รับพลังบันดาลใจจากนิยายพื้นบ้านของไต้หวันและเทพนิยายจากโลกตะวันตกเป็นแนวทางในการส่งเสริมศิลปะการแสดงหุ่นกระบอกของไต้หวัน
จากนั้น เขาได้แต่งบทละครสำหรับการแสดงหุ่นกระบอก ซึ่งสามารถตรึงให้ผู้ชมทั้งในไต้หวันและนานาชาติเกิดความสนุกสนานได้เหมือน ๆ กัน

ปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญการเชิดหุ่นกระบอกชาวต่างชาติคนนี้อาศัยอยู่ในไต้หวัน เขาเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์หุ่นกระบอกชั้นนำของไต้หวัน และยังมีคณะละครหุ่นกระบอกของตัวเองอีกด้วย

คณะเชิดหุ่นของรุยเซนดัลประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ นับตั้งแต่เฉิน ซีหวง ครูเชิดหุ่นกระบอกชาวไต้หวัน, หลี่ เทียนลู่ บุตรชายนักเชิดหุ่นระดับตำนาน และมัสซิโม โกโดลี เปลี แห่งอิตาลี ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของเฉิน นอกจากนั้น ยังมีทีมพากย์, ผู้ออกแบบเวที และแสง ตลอดจนคนทำหุ่น

ละครหุ่นกระบอกไต้หวันไฟแรงคณะนี้ตระเวนเดินทางไปเปิดการแสดงมาแล้วราว 30 ประเทศ โดยไปไกลสุดถึงรัสเซีย และอเมริกากลาง นอกจากนั้น ยังมีมิตรสัมพันธ์อยู่ในเอเชียและยุโรปอีกด้วย

“ผู้คนมักประหลาดใจที่เห็นหัวหน้าคณะเชิดหุ่นกระบอกไต้หวันเป็นชาวตะวันตก”รุยเซนดัลเล่า

“ผมว่าสิ่งนี้แสดงให้เห็นนะครับว่า ไต้หวันมีความเป็นสากลมากขึ้น และใจกว้างเปิดรับคนภายนอกมากกว่าเดิม”

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อ 15 ปีก่อน หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านอารยธรรมจีนสาขาการแสดงหุ่นของจีนจากมหาวิทยาลัยไลเด็นในเนเธอร์แลนด์แล้ว รุยเซนดัลมีโอกาสเดินทางมายังดินแดนมังกรน้อย เพื่อช่วยวางแผนการจัดงานเทศกาลหุ่นกระบอกคราวหนึ่ง

ระหว่างศึกษาปริญญาเอกนั้น เขาต้องทำวิจัยในมณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน การแสดงหุ่นกระบอกได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 แม้ไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกว่าหุ่นกระบอกกำเนิดขึ้นเมื่อใด แต่นักวิชาการบางท่านก็เชื่อว่าการแสดงหุ่นกระบอกเป็นศิลปะเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) โดยในสมัยนั้น มีการแสดงหุ่นประเภทต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

หุ่นกระบอก หรือที่จีนเรียกว่า “ปู้ไต้ซี่” แปลตามตัวอักษรว่า “ละครถุงผ้า” เนื่องจากหุ่น มีลักษณะเป็นถุง สำหรับให้ผู้เชิดสอดมือเข้าไปเชิด มีต้นกำเนิดในฝูเจี้ยน ต่อมาก็ได้แพร่หลายมายังเกาะไต้หวัน พร้อมกับประชาชนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ โดยเป็นศิลปะการแสดงที่มักเล่นกันในงานเทศกาลทางศาสนาเป็นส่วนใหญ่

คนเชิดจะใช้มือ ซึ่งสวมอยู่ในหุ่นกระบอก คอยเชิดตุ๊กตารูปร่างหน้าตาต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวยักย้ายอย่างมีชีวิตชีวาบนเวที ซึ่งสร้างด้วยไม้ ประดับตกแต่งอลังการ โดยเรื่องที่แสดงเป็นเรื่องแนวประวัติศาสตร์และศิลปะการต่อสู้ ซึ่งมีการแสดงโลดโผนประกอบ เช่น การแสดงตีลังกา หรือการแสดงโยนจานหลายใบ

หลังจากทำงานเป็นภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์กระดาษแห่งหนึ่งได้สักระยะ รุยเซนดัลจึงมาทำงานร่วมกับศูนย์หุ่นกระบอกทีทีที (TTT Puppet Centre) ซึ่งปัจจุบันมีชื่อใหม่ว่า พิพิธภัณฑ์โรงละครหุ่นกระบอก หลิน หลิ่วซิน (Lin Liu-Hsin Puppet Theatre Museum) ตามชื่อบิดาของพอล หลิน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
พิพิธภัณฑ์เป็นอาคาร 4 ชั้น ตั้งอยู่ในย่านต้าเต้าเฉิงของกรุงไทเป สมัยหนึ่งเป็นย่านที่คณะละครหุ่นกระบอกเฟื่องฟูมาก ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับการแสดงหุ่นกระบอกจากทั่วเอเชียมากถึงราว 7,000 ชิ้น

“ในไต้หวันมีกลุ่มผู้ชมการแสดงหุ่นกระบอกจำนวนมาก โดยคนนิยมดูรายการแสดงหุ่นกระบอกทางโทรทัศน์” รุยเซนดัลระบุ

“แต่การจะชักนำให้ผู้คนยอมควักเงินซื้อตั๋วชมการแสดงที่โรงละครน่ะสิครับ ยังเป็นปัญหาท้าทายมากทีเดียว”

ปัจจุบัน มีคณะละครหุ่นอยู่ราว 300 คณะในไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เปิดการแสดงตามงานวัด ขณะที่มีคณะละครหุ่นเพียง 10 คณะเปิดการแสดงที่โรงละคร
เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คน รุยเซนดัลจึงแต่งบทละครสำหรับการแสดง โดยนำ

การเชิดหุ่นกระบอกตามศิลปะดั้งเดิมของไต้หวัน มาประยุกต์กับวิธีการเล่าเรื่องแบบตะวันตก พร้อมกับใส่เอฟเฟ็กต์ในการแสดงเข้าไป เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นเร้าใจ
“ผมได้แรงบันดาลใจมาจากการได้รับการเลี้ยงดูมาในสมัยเด็ก ๆและจากอารยธรรมและวัฒนธรรมของจีน ที่ผมได้ศึกษามา”

ผลงานละครเรื่องหนึ่งของรุยเซนดัลได้แก่เรื่อง “มาร์โค โปโล” ละครแนวรัก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากนักสำรวจชาวอิตาเลียน ผู้มีชื่อเสียงระบือไกลจากการเดินทางสำรวจจนพบดินแดนจีน ละครหุ่นกระบอกเรื่องนี้ใช้บทพากย์เป็นภาษาไต้หวันและอิตาเลียน ขณะที่เพลงบรรเลงในเรื่องใช้เพลงคลาสสิกของจีน และโอเปร่าของอิตาลี

“เราต้องการรักษาอารมณ์การแสดงละครหุ่นกระบอกคลาสสิกของจีนเอาไว้ โดยนำเอฟเฟ็กต์สมัยใหม่บางอย่างเข้ามาใช้ เราหวังให้การแสดงออกมาอลังการ แม้ว่าเราจะต้องคอยเรียกให้ทุกคนมาซื้อตั๋วชมก็ตามที”

อย่างไรก็ตาม “โจหลุยส์”แห่งไต้หวันยอมรับว่าการนำเรื่องโบราณมาดัดแปลงสำหรับ
การแสดงหุ่นกระบอกนั้น เป็นเรื่องยาก เช่นเรื่อง “จอมโจรเหลียวเทียนติง” (The Honourable Thief Liao Tianding) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวีรบุรุษนิยายพื้นบ้านของไต้หวัน

รุยเซนดัลยังโอดครวญด้วยว่า ไต้หวันซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากมายจากวัฒนธรรมป๊อบตะวันตกนั้น กำลังประสบปัญหาคนรุ่นหนุ่มสาวไม่สนใจการแสดงหุ่นกระบอก ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบทอดมาแต่โบราณ

“มีผู้คนจากฝรั่งเศสและสเปนเดินทางมาศึกษาหุ่นกระบอกไต้หวันที่พิพิธภัณฑ์ของเรา แต่คนหนุ่มสาวที่นี่กลับเห็นว่าการเป็นนักสร้างภาพยนตร์,วิดีโอ อาร์ติสต์ หรือดีเจนั้น น่าสนใจและทันสมัยกว่าเยอะ” ฝรั่งตาน้ำข้าวซึ่งเป็นห่วงศิลปะล้ำค่าของไต้หวันให้ความเห็น

“ดูเหมือนพวกเขามองว่าการศึกษาเกี่ยวกับหุ่นกระบอก ซึ่งพ้นสมัยไปแล้วนั้นเป็นเรื่องบ้า หากไม่มีใครต้องการเรียนรู้งานศิลปะแขนงนี้ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงทีเดียว”
รุยเซนดัลกล่าวในตอนท้ายว่าทางพิพิธภัณฑ์ของเขาจัดให้มีการฝึกหัดการเชิดหุ่นให้แก่ผู้สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ก็เพื่อชักชวนชาวไต้หวัน“เลือดใหม่”ให้หันมาสนใจศิลปะแขนงนี้กันมากขึ้น

แปลเรียบเรียงจาก “Dutch Sinologist works to keep Taiwan puppetry alive” ของสำนักข่าวเอเอฟพี
ชายหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านรูปถ่าย ซึ่งบันทึกสีหน้าอารมณ์ของผู้ชม เมื่อครั้งมีการแสดงหุ่นกระบอกกลางแจ้งในวันที่ 11 เมษายน 2551 ที่ “หลิน หลิ่วซิน” พิพิธภัณฑ์โรงละครหุ่นกระบอก 4 ชั้นในย่านต้าเต้าเฉิง , กรุงไทเป สมัยหนึ่งเป็นย่านที่คณะละครหุ่นกระบอกเฟื่องฟูมาก ภายในจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับการแสดงหุ่นกระบอกทั่วเอเชียมากถึงราว 7,000 ชิ้น-เอเอฟพี
2หุ่นกระบอกจีน ศิลปะทรงคุณค่า ที่ออกโรงโลดเต้นในวันนั้น หน้าตาราวกับมีชีวิตวิญญาณ-เอเอฟพี
4ครูหุ่นสัญชาติดัตช์นำสีสันของนิทานพื้นบ้านไต้หวันและเทพนิยายตะวันตกมาผสมผสานเป็นเรื่องราวใหม่สำหรับการแสดงหุ่น-เอเอฟพี
หุ่นกระบอกไต้หวันซุนหงอคง เทพเจ้าลิง ผู้แกล้วกล้า-ภาพวิกิพีเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น