เอเอฟพี – เจาะฝันกว่าจะเป็นโอลิมปิก 2008 จีนต้องฝ่าอุปสรรคร่วม 100 ปี เผยการเมืองผันแปร ปัจจัยสำคัญทำฝันค้างเติ่งมานาน
ราวปีค.ศ. 1908 จาง ป๋อหลิน นักการศึกษาจากเทียนจิน เปิดประเด็นว่า จีนจะสามารถเป็นเจ้าภาพมหกรรมการแข่งขันกีฬากีฬาโอลิมปิกได้หรือไม่? หลังจากนั้นเป็นต้นมา ประเด็นดังกล่าวก็กลายเป็นคำถามที่ท้าทายพญามังกร ผ่านบททดสอบต่างๆ
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งการล่มสลายของราชวงศ์ชิง, การปฏิวัติซินไฮ่ และความวุ่นวายในยุคขุนศึก ที่ทำให้แผ่นดินจีนแตกเป็นก๊กต่างๆ ทำให้ความฝันเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิกของจางแทบปลาศนาการ ทว่าเมื่อจอมพลเจี่ยง เจี้ยสือ (เจียง ไคเช็ค) รวบอำนาจรวมจีนเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง เจี่ยงก็จุดความฝันโอลิมปิกขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการประกาศว่า “จะเสนอให้จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกภายในทศวรรษ 1940”
อย่างไรก็ตามฝันดังกล่าวก็สลายไปอีก เมื่อกั๋วหมินตั่ง (ก๊กมินตั๋ง) ถูกพรรคคอมมิวนิสต์โค่นอำนาจ ในปีค.ศ. 1949 เจียงหนีไปตั้งสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันพร้อมกับอ้างสิทธิอันชอบธรรมเหนืออธิปไตยแผ่นดินจีน แข่งกับสาธารณรัฐประชาชนจีนของพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขันเพื่อให้ได้การรับรองจากนานาชาติทุกทาง ไม่เว้นแม้แต่ในเกมกีฬาอย่างมหกรรมโอลิมปิก
ในช่วงแรกสาธารณรัฐประชาชนจีนค่อนข้างคุมเกมไว้ได้ เมื่อทางฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกปี 1952 ที่ เฮลซิงกิ ฝ่ายจีนไต้หวันซึ่งส่งนักกีฬาเข้าร่วมก็ประท้วงด้วยการถอนตัวออกจากการแข่งขัน
เมื่อจีนโบกมือลาฝันโอลิมปิก
แม้หน้าฉากดูเหมือนจีนแผ่นดินใหญ่กำลังได้เปรียบไต้หวัน ทว่าหลังจากส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกเป็นครั้งแรก กิจกรรมการเจรจาหลังฉาก เพื่อชักจูงให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) รับรองจีนแผ่นดินใหญ่เพียงจีนเดียว พร้อมกับห้ามมิให้ไต้หวันเข้าร่วมโอลิมปิกกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า กระทั่งสร้างความขุ่นเคืองให้กับจีน จนนำไปสู่การประท้วงไม่เข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิก 1956
หลังจากนั้นอีก 1 ปี จีนก็ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกไอโอซี ไม่ข้องแวะกับโอลิมปิกอีกเลยเป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษ ก่อนที่จะกลับมาญาติดีกันอีกครั้งในปี 1979 อย่างไรก็ตามระหว่างที่จีนถอนตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับไอโอซีและโอลิมปิก จีนก็มิได้อยู่เฉย พญามังกรยังคงโลดแล่นมีบทบาทในสมรภูมิกีฬาโลก
ในช่วงนั้น โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีผู้โด่งดังของจีน เจ้าตำรับการทูตปิงปอง ได้แต่งตั้ง เหอ เจิ้นเหลียง ล่ามของผู้นำจีน ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสำนักงานการกีฬาแห่งชาติ ด้วยการทำหน้าที่เป็นทูต คอยประสานงานใช้กีฬาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายทางการทูต
เหอเริ่มงานด้วยการช่วยจัดตั้งองค์กรกีฬาสากลภายใต้ชื่อ “Games of the New Emerging Forces (GANEFO)” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นองค์กรคู่ขนานแข่งกับไอโอซี
ในการแข่งขันกีฬาของ GANEFO ครั้งแรกเมื่อปี 1963 ที่อินโดนีเซีย มี 48 ชาติส่งตัวแทนเข้าร่วมงาน (ส่วนมากเป็นประเทศสังคมนิยม) นับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามนโยบายต่างประเทศ ที่อิงแอบอยู่กับการกีฬานี้ก็ถึงคราวสะดุด
ระหว่างปี 1966-1976 เหมาจัดรณรงค์ปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นในแผ่นดินใหญ่ ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความโกลาหล เต็มไปด้วยการช่วงชิงอำนาจภายใน
และแล้วความฝันก็หวนกลับมาอีกครั้ง
เมฆหมอกที่ปกคลุมฝันโอลิมปิกจีน ค่อยๆจางหายไป เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมอ่อนแรงลงพร้อมกับอสัญกรรมของเหมา และการจับกุมแก๊งสี่คน เติ้ง เสี่ยวผิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้กุมอำนาจเหนือแผ่นดินมังกร และเติ้งก็นำจีนกลับขึ้นขบวนรถไฟโอลิมปิกอีกครั้ง โดยอาศัยเหอเป็นผู้ต่อรองกับนานาชาติเพื่อนำจีนเข้าสู่วงการโอลิมปิก หลังร้างลาจากวงการไปร่วม 3 ทศวรรษ
ในที่สุดพญามังกรก็ถลากลับเข้าสู่วงการโอลิมปิกได้ในปี 1979 แต่การกลับเข้าวงการครั้งนี้ก็ต้องเผชิญกับความวุ่นวายแต่เริ่ม เพราะโอลิมปิก 1980 ที่มอสโกนั้นมีการเมืองระหว่างสหรัฐฯและโซเวียตแฝงอยู่ ฝ่ายสหรัฐฯตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ร่วมงานโอลิมปิกที่มอสโก
อย่างไรก็ตามการกลับคืนสู่วงการครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันทุเลาลง หลังมีกฎเกณฑ์ออกมาว่า ไต้หวันสามารถเข้าร่วมโอลิมปิกได้ ตราบเท่าที่ไต้หวันยอมรับฐานะการเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ด้วยบทบาทที่โดดเด่น เหอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของไอโอซีในปี 1981 และภายใน 10 ปีเหอก็ผงาดขึ้นไปดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานไอโอซี ซูซาน บราวแนล ผู้เชี่ยวชาญด้านโอลิมปิกและการกีฬาจีนกล่าวว่า “เหอเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการกีฬา ถ้าไม่มีเหอ จีนคงไม่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปักกิ่ง”
นอกจากเหอแล้วคนที่มีบทบาทป็นผู้สนับสนุนให้จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2008 คือ ฆวน อันโตนิโอ ซามารานซ์ นักการทูตชาวสเปน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานไอโอซีระหว่างปี 1980-2001 “ซามารานซ์มีความกระตือรือร้น ที่จะผลักดันให้จีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก เขามองว่านี่เป็นภารกิจสำคัญของเขาทีเดียว” บราวแนลกล่าว
ปี 1990 จีนเริ่มยื่นข้อเสนอขอเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2000 อย่างไรก็ตามครั้งนั้นจีนประสบความล้มเหลว พ่ายแพ้ซิดนีย์ ในการลงคะแนนที่ มอนติ คาร์โล เมื่อปี 1993 ไป 2 คะแนนเสียง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้จีนพ่ายแพ้ออสเตรเลียคือ ประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในปี 1989 เกิดวิกฤตการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งจบลงด้วยการที่รัฐบาลสั่งกองทัพให้ออกมาปราบปรามผู้ชุมนุม จบเหตุการณ์ด้วยเลือดและน้ำตา เหตุการณ์ดังกล่าวยังตราตรึงในความทรงจำของหลายคน จนส่งผลกระทบต่อการชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิก
อย่างไรก็ตามความพ่ายแพ้ดังกล่าวกลายเป็นบทเรียนให้กับจีน ที่จะเริ่มใหม่อีกครั้งเพื่อช่วงชิงสถานะเจ้าภาพสำหรับโอลิมปิก 2008 คราวนี้ทางปักกิ่งวางแผนจัดทีมงานอย่างดี โดยมีเหอซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซามารานซ์เป็นหัวหอก
“ภารกิจชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกของปักกิ่ง ก็เปรียบเสมือนภารกิจของฉัน” เหลียน ลี่เจวียน ภรรยาของเหอ ผู้เขียนบันทึกความทรงจำของเหออ้างคำพูดของซามารานซ์
ณ กรุงมอสโก วันที่ 13 กรกฏาคม 2003 เมื่อการลงคะแนนเสียงตัดสินว่า “เมืองใดจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2008 อุบัติขึ้น ปักกิ่งลอยลำซิวตำแหน่งได้อย่างงดงาม ปราศจากคู่แข่ง” จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 105 คน มีผู้ลงคะแนนให้ปักกิ่งถึง 56 คน ขณะที่โตรอนโต และปารีส ซึ่งตามมาเป็นลำดับที่สองและสามได้รับคะแนนเสียงเพียง 22 และ 18 เสียงตามลำดับ