เทศกาลบ๊ะจ่าง หรือเทศกาลตวนอู่ (端午节)ก็เป็นอีกเทศกาลที่ลูกหลานชาวจีนในเมืองไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เมื่อใกล้ถึงวันเทศกาล หลายบ้านก็จะมีการเตรียมซื้อวัตถุดิบต่างๆไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว เกาลัด เห็ดหอม ไข่เค็มหรือธัญพืชต่างๆเพิ่มเติมตามความชอบ เพื่อเตรียมนำเอาไปห่อเป็นขนมบ๊ะจ่างหรือขมมจ้างไหว้เจ้าและกินกันในครอบครัว ในขณะที่บางครอบครัวที่ห่อไม่เป็น หรือไม่สะดวกไม่มีเวลาที่จะทำ ก็สามารถจับจ่ายหาซื้อกันได้ไม่ยากเย็นนัก
ปกติวันเทศกาลก็จะตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ในปีนี้ก็จะตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งจะมีการฉลองทั้งชาวจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี และบางส่วนในประเทศไทย นอกจากนั้นในหลายๆที่ก็จะมีการจัดการละเล่นแข่งเรือมังกร โดยเฉพาะในฮ่องกง ไต้หวันและมาเก๊า
ตำนานของเทศกาลตวนอู่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชีว์หยวน (屈原) นักกวีแห่งรัฐฉู่ในช่วงปลายสมัยจั้นกั๋ว (475-221 ปีก่อนคริสตศักราช)เป็นขุนนางที่มีความรักและห่วงใยและต้องการจะปกป้องบ้านเมือง แต่ก็ถูกกลุ่มคนชั่วที่คอยยุยงเจ้าผู้ปกครอง กระทั่งสุดท้ายทหารจากรัฐฉินก็สามารถยึดครองรัฐฉู่ เมื่อกวีและบัณฑิตผู้รักชาติผู้นี้ ต้องประสบกับเหตุการณ์สิ้นชาติ ในวันที่ 5 เดือน 5 เมื่อ 278 ปีกก่อนคริสตศักราช ด้วยความเจ็บปวดและเสียใจ จึงได้ตัดสินใจกอดก้อนหินใหญ่แล้วกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่แม่น้ำมี่หลัวเจียง
แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่จงรักภักดี และเป็นที่รักใคร่ของปวงชน ทำให้ชาวบ้านต่างพากันออกค้นหาศพของชีว์หยวน ทว่าเมื่อหาไม่พบก็เกรงว่ากุ้ง หอย ปู ปลาในน้ำจะพากันกัดแทะกินร่างของเขา จึงพากันนำเอาข้าวเหนียวมาบรรจุในกระบอกไผ่แล้วโยนลงไปในแม่น้ำ กระทั่งภายหลัง เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงชีว์หยวน ทุกครั้งเมื่อวันนี้เวียนมาบรรจบ ผู้คนจึงได้พากันนำเอาใบไม้ไผ่มาห่อข้าวเหนียว แล้วนำไปกราบไหว้สักการะ จนกลายมาเป็นประเพณีการไหว้และกินบ๊ะจ่างในปัจจุบัน
สรรเสริญสดุดีวีรชน
คงจะไม่มีประโยชน์เลยหากประเพณีนี้จะมีความหมายเพียงแค่การกินบ๊ะจ่าง การชมการละเล่น เพราะเช่นนี้นานวันเข้าคุณค่าที่แท้จริงของประเพณีก็จะค่อยๆเลือนลับลาหายไปตามกาลเวลา
ประเพณีแต่เดิมแล้ว นอกจากจะเกิดขึ้นจากการที่ต้องการปกป้องร่างของชีว์หยวน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักนั้นคือ เหตุใดผู้คนจึงรัก ระลึก และต้องการจะปกป้องชีว์หยวน นั่นก็เพราะความจงรักภักดีรักชาติรักบ้านรักเมืองของเขา ซึ่งยังเห็นได้จากบทกวีที่เขาได้หลงเหลือเอาไว้ในช่วงสิ้นชาติให้คนรุ่นหลังได้ตรองคิด “ทอดตาไกลพันลี้ใจรวดร้าว วิญญาณครวญโศกเศร้าให้เจียงหนัน” การรักษาประเพณีเช่นนี้ไว้ จึงเป็นการสืบสานคุณธรรมให้ผู้คนรู้จักที่จะให้ความสำคัญต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และให้รู้จักรักและเสียสละเพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมากกว่านึกถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว
ยังโชคดีที่ผลการสำรวจคนจีนล่าสุดในปีนี้ที่ได้ตั้งคำถามว่า เหตุใดชาวจีนจึงต้องระลึกถึงชีว์หยวน จำนวน 75.4% ได้ตอบว่าเป็นเพราะชนชาติของชาวจีนนั้นเชิดชู “วีรชน” จำนวน 50.3% ตอบว่าเพราะผู้คนในอดีตโศกเศร้าเสียใจกับการเสียชีวิตของชีว์หยวน จนกลายมาประเพณี ในขณะที่อีก 20.4% มองว่าเนื่องจากในอดีตจีนเป็นประเทศแห่งกวี และชีว์หยวนก็ถือเป็นยอดกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยโบราณ
และเมื่อถามว่า บทกวีบทใดที่สามารถสะท้อนถึงความรู้สึกในเทศกาลนี้ได้ดีที่สุด บทที่ได้รับการยอมรับจากผู้ที่ตอบแบบสอบถามก็คือ
“ศรัทธา กล้าหาญ ประจัญบาน
ใครรุกราน มุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้
กายสิ้น วิญญาณ ยังตีแผ่
ยืนหยัดแม้ เป็นผี วีรชน”
ประเทศจีนเป็นประเทศที่ยกย่องบทกวี เนื่องจากเป็นสิ่งที่มีความงดงาม และถ่ายทอดความหมาย และอารมณ์ของผู้ประพันธ์ออกมาได้ ชาวจีนมักจะกล่าวว่า “อาศัยอักษรสนองธรรม อาศัยกวีนำสะท้อนปณิธาน อาศัยวจีพรรณนาความรู้สึก” ทำให้เห็นว่าชนชาติของชาวจีนในอดีตมีความยึดมั่นในคุณงามความดีและคุณธรรมเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะคุณธรรมที่ว่าด้วยความ “กตัญญู” และ “จงรักภักดี” ซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมที่ได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือหากอยู่ในบ้าน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ก็จะต้องกตัญญู และตอบแทนคุณของบุพการี ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงการเลี้ยงดูให้มีกินมีใช้ ยังต้องนึกถึงจิตใจของท่านว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุข ดังคำที่บรมครูขงจื่อ (ขงจี๊อ) ได้กล่าวไว้ว่า “ความกตัญญูของคนในปัจจุบัน คือการที่สามารถเลี้ยงดูได้ กับม้าสุนัขที่เลี้ยงไว้ (เรา) ก็สามารถเลี้ยงดูได้เช่นกัน หากขาดซึ่งความเคารพ (ในบุพการี)ไซร้ จะแตกต่างกันอย่างไร (กับการเลี้ยงม้าเลี้ยงสุนัข)?”
ทว่าเมื่อออกจากบ้าน ออกสู่สังคม ก็ต้องมีความกตัญญูต่อสังคม ประเทศชาติ นั่นก็คือความจงรักภักดี ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกิดใน และได้รับใบบุญของแผ่นดิน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าในยุคสมัยไหน คนจีนจะให้ความชื่นชมกับบุคคลที่เปี่ยมพร้อมด้วยคุณธรรมทั้ง 2 ข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง
และเมื่อใดก็ตามที่เขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตจากไป เพื่อระลึกคุณงามความดี และเพื่อเทิดทูนให้เป็นแบบอย่างแก่คนรุ่นหลัง ชาวจีนก็มักจะช่วยกันสร้างศาลเจ้าเพื่อกราบไหว้บูชาวีรชนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นชีว์หยวน ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้ากวนอูในยุคสามก๊กที่ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ภักดีในปัจจุบัน หรือขงเบ้ง (จูกัดเหลียง) ผู้ที่เปี่ยมด้วยปัญญาและความภักดี หรือแม้แต่ท่านงักฮุยผู้เป็นตำนานของปาท่องโก๋ก็ตาม
สิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นการสะท้อนความรู้สึกที่รักในความถูกต้องชอบธรรมของชาวจีนแล้ว ยังเป็นการสะท้อนบอกเป็นนัยให้ลูกหลานได้รู้ว่า “หากไม่รักชาติบ้านเมือง ไร้ความจงรักภักดี วันหนึ่งอาจจะไม่มีแผ่นดินให้อยู่....”
เรียบเรียงโดย ยุทธชัย อนันตศักรานนท์