หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ - เผยหลังทำเอฟทีเอไทย-จีน มา 4 ปี พบปัญหาขาดดุลต่อเนื่อง ผัก-ผลไม้เมืองหนาวสู้จีนไม่ได้ ขณะที่ผักผลไม้จีนดึงราคาสินค้าไทยตกต่ำอีกนาน ชี้เกษตรกรควรศึกษาฤดูการผลิตผักผลไม้จีนเพื่อปรับตัวหลีกช่วงนำเข้าสูง ขณะที่“รัฐ-ภาคประชาชน”แนะควบคุมมาตรฐานสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่ม-บอกแหล่งที่มาให้คนไทยมีสิทธิ์เลือกบริโภค
4 ปี แล้วสำหรับการทำเอฟทีเอไทย-จีน (Early Harvard) ในกลุ่มผัก-ผลไม้ หรือกลุ่มพิกัด 07-08 ที่เริ่มไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 46 โดยรอบ 4 ปีที่ผ่านมานี้ หลายครั้งที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าการทำข้อตกลงเอฟทีเอ ผัก-ผลไม้กับจีนครั้งนี้ ไทย เป็นฝ่ายได้เปรียบ หรือเสียเปรียบกันแน่ และในระยะยาวไทยมีโอกาสเป็นผู้ได้เปรียบจากการส่งออกไปตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของจีนหรือไม่ และเกษตรกรต้องอยู่อย่างไรจึงไม่กระทบ!
แฉตัวเลขส่งออกพ่ายจีนทุกประตู
โอฬาร พิทักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากมีการทำเอฟทีเอไทย-จีน ในส่วนของผักสด (กลุ่มพิกัด 07) นั้น แม้ว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการทุกปีว่าไทยได้เปรียบด้านดุลการค้า เนื่องจากว่าไทยได้มีการนำสินค้าประเภทมันสำปะหลังทั้งหมดไปรวมอยู่ในพิกัด 07 ทั้งๆ ที่ความจริงมันสำปะหลังไม่ใช่สินค้ากลุ่ม 07 เมื่อตัดสินค้ามันสำปะหลังออกไป ก็ถือว่าไทยเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนมาตลอดและมีแนวโน้มมากขึ้น
โดยในการส่งออกผักไทยไปจีน พบว่า ในปี 2546 มีการส่งออกไปปริมาณ 3,053.16 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19.93 ล้านบาท พอมาถึงในปี 2550 มีการส่งออกไปประมาณ 791.42 ตัน มูลค่า 23.58 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่โตช้ามาก
ขณะที่ไทยมีการนำเข้าผักจากจีนเพิ่มขึ้นตลอดตั้งแต่ปี 2546 โดยในปี 2546 ไทยนำเข้าสินค้าผักมีปริมาณ 85,087.12 ตัน มูลค่า 777.12 ล้านบาท และในปี 2550 นำเข้าปริมาณ 147,755.29 ตัน มูลค่า 2,705.02 ล้านบาท อัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2546-2550 เพิ่มขึ้นถึง 348.08%
สินค้าเกษตรที่นำเข้าจากจีนมาก 10 อันดับแรกในปี 2550 ได้แก่ 1.แครอทและเทอร์นิปสด (หัวผักกาด) ปริมาณ 4,885,636 กิโลกรัม มูลค่า 621,074,870 บาท 2.พืชตระกูลกระหล่ำ ปริมาณ 12,725,491 กิโลกรัม มูลค่า 273,340,686 บาท 3.กระเทียม ปริมาณ 19,803,137 กิโลกรัม มูลค่า 216,420,426 บาท 4.ถั่วลันเตาและพืชตระกูลถั่ว ปริมาณ 4,545,023 กิโลกรัม มูลค่า 92,215,455 บาท
5.มันฝรั่ง ปริมาณ 8,902,278 กิโลกรัม มูลค่า 72,868,905 บาท 6.เห็ด ปริมาณ 1,866,170 กิโลกรัม มูลค่า 63,775,566 บาท 7.หอมหัวใหญ่ ปริมาณ 13,377,032 กิโลกรัม มูลค่า 62,024,145 บาท 8.ผักกาดหอม ปริมาณ 2,288,702 กิโลกรัม มูลค่า 25,252,967 บาท 9.ผักและพืชจำพวกหอมกระเทียมอื่น ปริมาณ 2,706,446 กิโลกรัม มูลค่า 24,196,973 บาท 10.พริก ปริมาณ 427,981 กิโลกรัม มูลค่า 10,482,729 บาท
“ตัวที่กระทบมากกับเกษตรกรไทยคือกระเทียม สถิติปี 2550 จีนเป็นประเทศปลูกกระเทียมร้อยละ 75 ของโลก ขณะที่ไทยเองเป็นผู้ปลูกกระเทียมแค่ 0.75 ของโลก มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2.5 -3 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไทยจะมีต้นทุน 5 บาทต่อกิโลกรัม ความที่กระเทียมจีนมีต้นทุนต่ำ กระเทียมจีนก็ยังมีแนวโน้มมีการนำเข้ามาในไทยมากขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการจัดสินค้ากระเทียมอยู่ใน sensitive list มีการกำหนดโควตาการนำเข้า คืออนุญาตให้นำเข้าปีละ 65 ตันในอัตราภาษี 27% ซึ่งหากมีการนำเข้ามากกว่านั้นจะต้องเสียภาษีนอกโควตา 57% แต่ปัญหาคือมีกระเทียมที่ลักลอบนำเข้าไทยจำนวนมากในแต่ละปี ส่วนนี้ทำให้กระเทียมไทยมีราคาตกลงมาก
ในส่วนของผลไม้ ในภาพรวมจะต่างกับผัก คือหลังเปิดเอฟทีเอไทย-จีน ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้มากขึ้น ขณะเดียวกันการนำเข้าผลไม้จากจีนก็มีปริมาณเช่นกัน แต่ไทยยังเสียเปรียบดุลการค้ากับจีน โดยปี 2550 ผลไม้สดมีการส่งออกมูลค่า 72.44 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 123.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนผลไม้แห้ง มีการส่งออกมูลค่า 44.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นำเข้ามูลค่า 17.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเสียดุลการค้าจากจีนโดยรวม 24.46 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ผลไม้ที่ส่งไปจีนมากได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าว ขณะที่สินค้าจีนที่นำเข้ามามากได้แก่ แอปเปิ้ล องุ่น ลูกแพร์ ส้ม แต่วอลุ่มเขามากกว่าผลไม้ไทย หากเปรียบมวยต่อยกัน ไทยยังเป็นฝ่ายเสียเปรียบ"
แนะศึกษาฤดูกาลผลิตจีน
ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกทั้งผักและผลไม้ไทย จึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลฤดูกาลผลผลิตจีนไว้ด้วย เพราะจะให้ทราบถึงช่วงที่ผักและผลไม้จีนประเภทใดจะเข้ามาตีตลาดไทย ส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าตกต่ำ
ในส่วนของผัก กระเทียมและหอมหัวใหญ่ จะมีการนำเข้าสูงสุดจากจีนในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคมของทุกปี ส่วนพืชอื่นๆ ที่มีการนำเข้ามากทั้งบล็อกโคลี แครอท ถั่วลันเตา เห็ดต่างๆ นั้นจะมีการนำเข้ามาไทยตลอดทั้งปี ซึ่งผลไม้เมืองหนาวเหล่านี้ต้องยอมรับว่าไทยเสียเปรียบมาก เพราะไทยเป็นเมืองหนาวไม่จริง ฤดูหนาวมีระยะสั้น ทำให้รสชาติของผักเมืองหนาวที่ผลิตได้ มีรสชาติด้อยกว่าจีนเกือบทุกตัว จึงไม่สามารถแข่งกับจีนได้
สำหรับผลไม้นั้น ผลไม้จากจีนจะเข้ามาไทยเริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม และมีปริมาณมากสุดในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนและกุมภาพันธ์ของทุกปี
โดยผลไม้ที่สำคัญของจีนประกอบด้วย ท้อ นำเข้ามากช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม,องุ่น นำเข้ามาช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน, สาลี่ นำเข้ามากช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม,แอปเปิ้ล นำเข้ามากช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม,พลับ นำเข้ามากช่วงสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี,ส้ม นำเข้ามากช่วงพฤจิกายนถึงธันวาคม,ทับทิม ช่วงเดือนกันยายน,ลำไย นำเข้ามากตั้งแต่กรกฎาคมถึงสิงหาคม และลิ้นจี่นำเข้ามากช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี
“สินค้าที่กระทบมากคือส้มเปลือกล่อน และลิ้นจี่ที่จะเข้ามาในช่วงฤดูกาลผลิตเดียวกับผลไม้ไทย รวมทั้งลำไยด้วย แต่ลำไยไทยมีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพดีกว่า และสามารถปลูกนอกฤดูได้มากกว่าจีน มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าตัวอื่น”
ทั้งนี้ แม้ว่าผลไม้เมืองหนาวของจีนจะมาติดตลาดผลไม้เมืองหนาวจากประเทศอื่นมากกว่าผลไม้ไทย และมีราคาถูกกว่ามาก แต่สิ่งที่อยากให้เห็นคือการควบคุมมาตรฐานของสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นด้วย
“เรื่องควบคุมและการให้มาตรฐานสินค้าเกษตรจากจีนเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ผู้บริโภคไทยสามารถเลือกซื้อสินค้าที่คุณภาพและจากแหล่งที่มาได้”
ราคาผลไม้ไทยเฉลี่ยลดลงทุกปี
ด้าน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา กลุ่มการศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า จากการทำวิจัย“FTA ไทย-จีน : ผลกระทบต่อสังคมไทย” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า 4 ปีหลังจากการทำเอฟทีเอผัก-ผลไม้ไทยจีนนั้น พบว่า ผลไม้จากจีนได้ไปทดแทนการบริโภคของคนไทย เพราะปริมาณการบริโภคผักผลไม้ไทยยังเท่าเดิม ทำให้มีการบริโภคผลไม้ไทยน้อยลง ดูได้จาก 2 -3 ปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยของผลไม้ไทยทุกชนิดมีราคาลดลงแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะลองกอง
สาเหตุสำคัญเป็นได้ทั้ง 2 กรณีคือ การนำเข้ามาของผลผลิตที่ต่อเนื่องทำให้ราคาสินค้าไทยตกต่ำ ขณะเดียวกันไทยยังมีปัญหาผลผลิตล้นตลาดอีก จึงคิดว่าในอนาคตเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ไทยมีแนวโน้มขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในส่วนของผักนั้นบางตัวไม่กระทบมากนัก เพราะบางฤดูกาลของไทยไม่มีผลผลิตผักก็สามารถบริโภคผักจีนแทนได้ ยกเว้นพืชบางตัว ได้แก่กระเทียมและหอมหัวใหญ่ที่มีอาการหนักที่สุด
โดยกระเทียมและหอมหัวใหญ่มีการนำเข้าเกินโควตาจำนวนมากต่อปี และนอกจากพบว่ามีการลักลอบนำเข้ากระเทียมจีนจำนวนมากแล้ว ยังพบว่ามีการลักลอบนำกระเทียมจีนที่พันธ์คล้ายกับไทยมาผสมรวมกับกระเทียมไทยเพื่อขายด้วย
“เขาแกะปลีกขาย พ่อค้านำกระเทียมที่เขาเรียกว่ากระเทียมเกรดเขมร แต่เป็นกระเทียมจีนมาผสมกระเทียมไทย ปกติแล้วจะมีการผสม กระเทียมจีน 2 ถุงกระเทียมไทย 1 ถุง รวมกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับบางฤดูกาลหากกระเทียมไทยถูกก็ผสมกระเทียมจีนน้อยลง”
ทั้งนี้ปัญหาอีกส่วนพบว่า ผักจีนที่มีการผลิตได้ทั้งปีนั้น ขึ้นอยู่กับพ่อค้าไทยจะนำเข้ามาช่วงใด ส่วนใหญ่แล้วพ่อค้ามักนำเข้าในช่วงที่ผักไทยกำลังมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเมื่อนำเข้ามาแล้วก็ทำให้ราคาผักไทยมีราคาต่ำลงโดยอัตโนมัต แต่คาดว่าในระยะยาว ผักและผลไม้ไทยทั่วประเทศจะยังมีผลกระทบในด้านราคาที่ตกต่ำต่อไป ทางแก้ไขคือต้องให้ผู้บริโภครู้ว่าสินค้าใดเป็นของไทยหรือของจีน และสามารถเลือกซื้อสินค้าด้วยตัวเองได้มากขึ้น