ซินหัวเน็ต – หนังสือพิมพ์เฉิงตู ซางเป้า รายงานเมื่อวันพุธ (7 พ.ค.) กรณีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรายหนึ่งนำภาพป้ายสาธารณะที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแบบผิดเพี้ยน บนรถไฟที่สถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองกุ้ยหยัง มาประจานในเว็บไซต์ต่างๆ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวอินเตอร์เน็ตจำนวนมากถึงความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยนี้
ชาวเน็ตเจ้าของกระทู้ดังกล่าวระบุว่า “ถึงแม้ว่าจะเป็นรถไฟที่วิ่งตามชนบท แต่ก็เป็นตัวแทนของรถไฟจีน เป็นหน้าตาเป็นตาของประเทศนะ” โดยเฉพาะตอนท้ายของกระทู้ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างการแปลเมือง 贵阳 (กุ้ยหยัง) เป็นภาษาอังกฤษว่า “the expensive sun” (พระอาทิตย์แพง)
จากกระทู้ดังกล่าว นักข่าวจีนสันนิษฐานว่า ผู้ที่ทำป้ายเหล่านี้น่าจะใช้ซอฟต์แวร์ช่วยแปล ที่แปลแบบตัวต่อตัว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องว่า แปลได้มาตรฐานหรือไม่เลย แค่ผู้อ่านสามารถเดาความหมายออกได้ก็นับว่าอัจฉริยะแล้ว
ต่อกรณีข้างต้น เย่ เจี้ยนหมิน อาจารย์ใหญ่โรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศเจี้ยนหมิน หลังจากได้เห็นภาพป้ายสาธารณะเหล่านี้แล้วพูดอย่างอ่อนใจว่า “เป็นครั้งแรกที่เห็นการแปลแบบนี้ สรุปได้คำเดียวว่า ผิดเละเทะ ทั้งศัพท์และแกรมม่าที่ใช้ ดูมั่วไปหมด ถ้าหากเอาภาษาจีนออกไป ก็จะไม่รู้ความหมายเลย” พร้อมกับยกคำว่า กุ้ยหยัง มาเป็นตัวอย่าง อาจารย์กล่าวว่า คำว่า กุ้ยหยัง เป็นศัพท์เฉพาะ เป็นชื่อสถานที่ ควรใช้ภาษาอังกฤษเขียนทับเสียงมากกว่า แปลความหมายแบบนี้ก็รังแต่จะกลายเป็นที่หัวเราะเยาะเสียเปล่า อาจารย์เย่ทิ้งท้ายว่า ด้วยความรู้ภาษาอังกฤษระดับประถมต้น ยังแปลได้ดีกว่านี้เสียอีก!!
เมื่อนักข่าวโทรศัพท์ไปสอบถามเรื่องดังกล่าวกับหัวหน้าแผนกผู้โดยสารประจำสถานีรถไฟกุ้ยหยังได้ความว่า ทางแผนกให้ความสำคัญกับข่าวดังกล่าวเป็นอย่างมาก และจัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและแก้ไขส่วนที่ผิดพลาดแล้ว อีกทั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการเลย
เช่นเดียวกันในเมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง ก็ได้มีการปรับปรุงภาษาอังกฤษตามป้ายสาธารณะต่างๆ ของเมือง โดยมีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับภาษาอังกฤษที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ อาทิ สุสานวีรบุรุษผู้สละชีพเพื่อชาติ (烈士陵园) จาก LIESHI LINGYUAN ก็จะปรับมาใช้คำว่า “The Martyr’s Park” แทน แต่หวง เกา ชาวจีนซึ่งเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษกลับรู้สึกว่า คำว่า “Martyr” นั้นอาจแปลได้ว่า “ผู้ยอมสละชีวิตเพื่อศาสนาหรือความเชื่อของตน” ซึ่งแฝงนัยยะเกี่ยวกับความเชื่อหรือศาสนา จึงแนะนำให้ใช้คำว่า “Hero” ดีกว่า
หรืออย่างคำว่าห้องน้ำนั้น นอกจากคำว่า Toilet แล้ว ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางรายเสนอให้ใช้คำว่า “Lavatory”, “Washroom” หรือ “Restroom” แทนด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดแล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญจะทำการพิจารณา และสรุปผลในเร็ววัน