xs
xsm
sm
md
lg

เทียนลู่สิง (&天&路&行)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เส้นทางรถไฟสายสูงที่สุดในโลก ชิงไห่-ทิเบต ได้ฤกษ์เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2549 สำหรับทางรถไฟสายนี้รัฐบาลจีนใช้เงินลงทุนก่อสร้างราว 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ มีความยาวทั้งสิ้น 1,956 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นที่เมืองซีหนิง ในมณฑลชิงไห่ และไปสิ้นสุดที่เมืองลาซาของเขตปกครองตนเองทิเบต

ทางรถไฟสายนี้เริ่มต้นก่อสร้างส่วนแรกในส่วนของเส้นทางจากเมืองซีหนิงไปเมืองเก๋อเอ่อร์มู่ (โกลมุด) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 และเปิดใช้ในปี พ.ศ.2527 โดยมีความยาว 814 กิโลเมตร และส่วนที่สองจากเมืองเก๋อเอ่อร์มู่ต่อไปยังลาซาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2544 โดยแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2549 มีความยาว 1,142 กิโลเมตร โดยทางรถไฟสายนี้ถือเป็นทางรถไฟสายแรกที่เชื่อมระหว่างทิเบตกับส่วนอื่นๆ ของประเทศจีน

ปีถัดมาในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิเดือนเมษายน 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ได้เสด็จเยือนประเทศจีนเป็นครั้งที่ 24 (นับจากปี พ.ศ.2524 ที่พระองค์เสด็จเยือนประเทศจีนเป็นครั้งแรก) โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2550 พระองค์ตรัสกับผู้สื่อข่าวจีนถึงความรู้สึกในการมาเยือนทิเบตโดยทางรถไฟว่า

“ได้อ่านในหนังสือ ได้ดูโทรทัศน์ และดูทางอินเตอร์เนต เรื่องนี้ก็สนใจมาก ดีใจและถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะลองไปบ้าง ที่จริงนั่งไปไหนทางรถไฟนี่มีประโยชน์ได้มีโอกาสเห็นสองข้างทางมากกว่าที่จะไปทางเครื่องบิน รถไฟจีนเคยนั่งแต่หลายปีมาแล้ว ที่ไปทางซินเกียงก็นั่งรถไฟไป ได้เห็นทั้งภูมิประเทศและผู้คนมากกว่าที่จะนั่งเครื่องบิน เรื่องนี้พอมีเวลาก็เลยใช้วิธีนั่งรถไฟและรถไฟเท่าที่ทราบมาต้องใช้เทคโนโลยีในการสร้าง จึงรู้สึกสนใจอยากจะได้ไปดู ไปเห็น ฟังจากคนที่เขาทำงานว่าจะเป็นอย่างไร”

สำหรับเส้นทางการเสด็จพระราชดำเนินเยือนทิเบตทางรถไฟของสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นที่เมืองซีหนิง (西宁) เมืองหลวงของมณฑลชิงไห่ ผ่านเมืองเตอลิ่งฮา (德令哈) – เก๋อเอ่อร์มู่ (格尔木) – สถานีรถไฟยวี่จูเฟิง (玉珠峰站) – สถานีรถไฟคุนหลินซัน (昆仑山站) – สถานีรถไฟถังกู่ลา (唐古拉站) – สถานีรถไฟทะเลสาบชั่วน่า (措那湖站) – สถานีรถไฟน่าฉวี่ (那曲站) และไปสิ้นสุดที่เมืองลาซา (拉萨) เมืองหลวงของทิเบต

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งดังกล่าวของสมเด็จพระเทพฯ ทั้งเรื่องราวและภาพถ่ายถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดโดยทางการจีน ซึ่งในเวลาต่อมา China Pictorial Publishing House ได้นำมารวบรวมและตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพสี่สีทั้งเล่มขนาดหนากว่า 140 หน้า ขณะที่เนื้อหาก็มีการพิมพ์ออกมาเป็นสองภาษา ไทย-จีน ในเล่มเดียวกัน โดยมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิชาวไทยมาร่วมแปลด้วย

นอกจากหนังสือเล่มนี้จะมีเรื่องราวและภาพอันงดงามของการเสด็จพระราชดำเนินตามเส้นทางที่ราบสูง ชิงไห่-ทิเบต ของสมเด็จพระเทพฯ แล้ว ในภาคผนวกท้ายเล่มยังมีการสรุปรายละเอียดการเสด็จเยือนประเทศจีนตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 24 (ระหว่างวันที่ 2-13 เมษายน พ.ศ.2550) ของสมเด็จพระเทพฯ รวมถึงคำแนะนำเส้นทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบตโดยสังเขปอีกด้วย

รายละเอียดหนังสือ
ชื่อหนังสือ การเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามเส้นทางสู่ที่ราบสูง (诗琳通公主天路行)
ผู้จัดพิมพ์ China Pictorial Publishing House (中国画报出版社)
ISBN 978-7-80220-129-3
พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2550
ราคา 300 บาท (ในประเทศไทย), 129 หยวน (ในประเทศจีน)
กำลังโหลดความคิดเห็น