xs
xsm
sm
md
lg

มังกรปล่อยปลานับล้านเขมือบสาหร่ายปีศาจ หวังกู้วิกฤตทะเลสาบน้ำเสีย-ฟื้นอุตฯประมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาหร่ายปีศาจแห่งทะเลสาบเชาหู
เอเจนซี – สำนักประมงจีนมาไม้ใหม่ สั่งปล่อยปลาลิ่นและปลาไวท์เบทนับล้านตัว ลงสู่ทะเลสาบน้ำเสียในมณฑลทางตะวันออก หวังผลให้ผนึกกำลังเขมือบสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว (Blue-green algae) ตัวการทำให้น้ำเปลี่ยนสี สัตว์น้ำล้มตาย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือน ปล่อยปลาเยอะเกิน ระวังมูลปลาจะกลายเป็นอาหารโอชะของสาหร่ายปีศาจแทน

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ทะเลสาบเชาหู ในมณฑลอันฮุย ทางฟากตะวันออกของจีน ก็เริ่มถูกสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวกลับมาคุกคามอีกครั้ง โดยสาหร่ายดังกล่าวเป็นพืชชั้นต่ำ ที่สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น ในสภาพน้ำที่มีปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสระดับสูง อากาศที่อบอุ่น และได้อาหารชั้นดีจากสิ่งปฏิกูล น้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมและการเกษตร

แต่ทางการจีนก็ยังไม่สิ้นหวังที่จะบรรลุเป้าลดมลพิษในทะเลสาบต่างๆ ของประเทศภายในปี 2030 ล่าสุดเดินเครื่องสู้สาหร่ายปีศาจด้วยวิธีใหม่ โดยการปล่อยปลาจอมเขมือบหลายตันลงไปกินสาหร่ายในทะเลสาบ ซึ่งหลายประเทศก็ได้ลองนำวิธีนี้ไปใช้ในบ่อบำบัดน้ำเสีย และแหล่งสำรองน้ำดื่มต่างๆ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดในโลก ที่ทดลองปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำขนาดใหญ่เช่นจีนมาก่อน

กลุ่มชาวประมงได้เริ่มปฏิบัติการปล่อยลูกปลาเกล็ดเงิน หรือ ปลาลิ่น จำนวน 1.6 ล้านตัวลงในทะเลสาบเชาหู มณฑลอันฮุย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นโครงการปล่อยปลาบำบัดน้ำที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยคาดว่าปลาแต่ละตัวเมื่อโตเต็มวัยแล้ว จะสามารถเขมือบสาหร่ายได้มากถึง 45 กิโลกรัม ช่วยให้ประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนมีน้ำสะอาดบริโภค

“พวกเรากำลังพยายามฟื้นฟูสมดุลของระบบนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นภารกิจหลักของเรา” เช่อ เจียหู เจ้าหน้าที่สำนักประมงประจำท้องถิ่นกล่าว โดยทางสำนักประมงหวังว่า ปลาลิ่นเหล่านี้จะสามารถฟื้นฟูอุตสาหกรรมการประมงของท้องถิ่น ที่เกือบพังครืนมาครั้งหนึ่งแล้วเพราะมลพิษในแหล่งน้ำเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม วิธีการแก้ปัญหาข้างต้นนี้ ได้นำมาซึ่งการตั้งคำถามตามมาว่า แล้วปลาที่แหวกว่ายอยู่ในแหล่งน้ำที่เต็มไปด้วยสารพิษ และกินสาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวเป็นอาหารนี้ จะสามารถนำมาบริโภคได้หรือไม่
สาหร่ายน้ำเงินแกมเขียวเล่นงานทะเลสาบไท่หู
ต่อข้อสงสัยดังกล่าว เช่อกล่าวว่า “เรายังไม่เคยได้ยินว่ามีใครทานปลาในทะเลสาบเชาหูแล้วล้มป่วยนะ” อย่างไรก็ตาม เช่อก็ยอมรับว่า รสชาติปลาที่เขารับประทานอยู่ในตอนนี้ไม่อร่อยเท่าเมื่อก่อน แต่ก็ยังคงเชื่อมั่นว่า “ปลาที่กินสาหร่ายรับรองทานได้ ไม่อันตราย”

นอกจากทะเลสาบเชาหูแล้ว ห่างออกไปอีกประมาณ 200 กิโลเมตร ชาวประมงได้ปล่อยลูกปลาตัวเล็กๆ ที่เรียกว่า “ปลาไวท์เบท” ลงไปในทะเลสาบไท่หู มณฑลเจียงซู เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยหวังว่ามันจะช่วยลดจำนวนไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สาหร่ายบลูม จนทำให้ชาวบ้านนับล้านรายไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เมื่อช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว

และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการปล่อยปลาไวท์เบทและปลาลิ่นเพิ่มอีก 50 ตันลงในทะเลสาบไท่หู เพื่อต่อสู้กับสาหร่ายปีศาจที่ปีนี้มาเร็วกว่าปกติ ฟั่น เซียว เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงไท่หูกล่าว

การแก้ปัญหาข้างต้นนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนงัดกลยุทธแปลกใหม่มาต่อสู้กับปัญหาที่คาราคาซัง ดังเช่นเมื่อทศวรรษที่ 1950 ประธานเหมา เจ๋อตง ได้เคยออกคำสั่งให้ชาวนาตีหม้อ เคาะกระทะเสียงดัง เพื่อไล่นกกระจอกไปจากนาข้าว แต่ผลกลับเลวร้ายกว่าที่คาด กลับกลายเป็นว่านกทุกชนิดเกิดตกใจกลัวเสียงจนตกลงมาตายเพราะหมดแรง ทำให้แมลงกินพืช ที่เคยเป็นอาหารของนกบางชนิด แห่เข้ามากัดกินพืชผลเสียหาย

และการที่จีนนำปลาลิ่นมาใช้กำจัดสาหร่ายในครั้งนี้นั้น ผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่า หากใส่ปลาลงในแหล่งน้ำน้อยเกินไป สาหร่ายก็ยังแพร่พันธุ์ต่อไป แต่ถ้ามากเกินไป ของเสียจากปลา ก็อาจจะกลายเป็นอาหารชั้นดี ให้สาหร่ายเจริญงอกงามยิ่งกว่าเดิม

ด้านซิเลีย เฉิน ศาสตราจารย์วิทยาลัย ดาร์ทเมาธ์ ซึ่งทำการวิจัยเรื่องมลพิษส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารก็เปิดเผยว่า “แม้ปลาลิ่นจะบริโภคสาหร่ายปนเปื้อนสารพิษได้ โดยไม่ทิ้งสารพิษไว้ในตัวมันเองก็ตาม แต่พวกมันก็สามารถดูดซับเอาเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวมันได้เช่นกัน” เฉินยังทิ้งท้ายว่า “เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าปลาเหล่านี้ไม่มีสารปนเปื้อน เพราะปลาส่วนใหญ่ของจีนไม่เคยมีการตรวจสอบ เนื่องจากค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง”
กำลังโหลดความคิดเห็น