เอเจนซี่-ใกล้เขตภูเขาหลายแห่งในมณฑลฝูเจี้ยน ทางภาคใต้ของจีน เป็นที่ตั้งของบ่อปลาขนาดใหญ่หลายสิบบ่อ ภายในบ่อน้ำสีน้ำตาลขุ่น มีปลาไหล,กุ้ง และปลานิล แหวกว่ายอยู่เต็ม ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปยังตลาดในญี่ปุ่นและตะวันตก
ฝูชิง เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมเลี้ยงปลาของจีนอีกหลายแห่งที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนจีนให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่สุดของโลก และเป็นซัพพลายเออร์ของสหรัฐฯที่เติบโตเร็วที่สุด
แต่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมฟาร์มปลาเหล่านี้ ต้องหยุดชะงักลงจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเรื้อรังของจีน คือการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง และแหล่งน้ำปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล,ขยะจากอุตสาหกรรม และน้ำทิ้งจากการเกษตร ซึ่งมียาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่ และการที่ฟาร์มปลาทิ้งน้ำเสียซ้ำเติมปัญหามลพิษทางน้ำ
“น้ำที่นี่สกปรกมาก และบริเวณนี้ก็มีฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากเกินไป”เหย่เชา เกษตรกรเลี้ยงปลาไหลและกุ้ง เจ้าของบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ 20 แห่งทางฝั่งตะวันตกของฝูชิงกล่าว
เกษตรกรรับมือกับปัญหาน้ำเสียด้วยวิธีผสมยาสัตว์ที่ผิดกฎหมายในอาหารสัตว์น้ำ ทำให้สัตว์น้ำสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำเสียได้ ผลคือ เกิดสารพิษและสารก่อมะเร็งตกค้างอยู่ในอาหารทะเล ซึ่งเป็นภัยคุกคามผู้บริโภคในที่สุด ด้านเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำจีนให้เหตุผลว่า อัตรารอดของสัตว์น้ำลดลงถึง 30% หากพวกเขาไม่ใช้ยาสัตว์ซึ่งทางการสั่งห้าม
“ก่อนปี 2005 เราใช้ยากับสัตว์น้ำกันอย่างแพร่หลาย เพราะมันมีประสิทธิภาพสูงในการต่อสู้กับโรค”หวังเว่ยฝู ประธานสถาบันปลาไหลท้องถิ่น
ผลจากการลักลอบใช้ยาผิดกฎหมายเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้ไม่กี่ปีมานี้ มีการส่งกลับและสั่งทำลายปลาไหลจากจีนที่ส่งออกไปยังยุโรป,ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ เนื่องจากพบยาสัตว์ที่ทางการแต่ละประเทศห้ามใช้ในสินค้า ซึ่งยอดส่งออกปลาไหลไปญี่ปุ่นตลอดเดือนสิงหาคมปีนี้ลดลงถึง 50% โดยฝูชิงเป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำในจีนที่ถูกระงับคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากที่สุด ช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2007 ถูกปฏิเสธไป 43 ราย ซึ่งสถิติของสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯชี้ว่า ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาสัตว์ที่ผิดกฎหมาย เมื่อเทียบกับไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ไปยังสหรัฐฯ มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ถูกปฏิเสธจากสาเหตุเดียวกัน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมกลายเป็นปัญหาความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า การบริโภคอาหารทะเลที่มีสารปนเปื้อนในระยะยาว อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง,โรคตับ และโรคอื่นๆมากมาย ซึ่งไม่มีใครจะเสี่ยงมากไปกว่าชาวจีนอีกแล้วเพราะอาหารทะเลที่ชาวจีนบริโภค ส่วนใหญ่ผลิตในประเทศ
ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าต่างชาติก็กังวลในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหประชาชาติ และญี่ปุ่นสั่งระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากจีน เนื่องจากตรวจพบการปนเปื้อนของยาเลี้ยงสัตว์ที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน ในปี 2007 สหรัฐฯห้ามนำเข้าปลาหลายชนิดจากจีน หลังจากตรวจพบยาผิดกฎหมายซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งช่วงกลางเดือนธันวาคมของปี 2007 ทางการสหรัฐฯและจีนได้ลงนามข้อตกลงในปักกิ่ง ให้เพิ่มการตรวจฟาร์มปลาในจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงครั้งใหญ่ด้านความปลอดภัยอาหารและยาระหว่าง 2 ชาติ
“ 50 ปีที่ผ่านมา เราเน้นขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไล่ตามเป้าจีดีพีที่ตั้งไว้ ตอนนี้ เราเห็นแล้วว่า น้ำเริ่มเน่าเสีย และอาหารทะเลก็อันตราย ซึ่งทุกปีจะมีอุบัติเหตุด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยด้านอาหาร” หวังหวู่ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยประมงเซี่ยงไฮ้กล่าว
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คุกคามอาหารทะเล เป็นลางร้ายของอุตสาหกรรมภาคนี้ ปัจจุบันสัตว์น้ำในทะเลกำลังลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ความต้องการอาหารทะเลในโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “อาหารทะเลเพาะเลี้ยง”หรือ “ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ”จึงเป็นทางเลือกใหม่ในอนาคต ซึ่งไม่มีประเทศใดในโลกที่จะทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากเท่าจีน โดยปีที่แล้วมีจำนวนบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำถึงราว 115,000 ล้านบ่อ
ทั้งนี้ จีนผลิตปลาเลี้ยงราว 70% ของโลก ส่วนหนึ่งเก็บเกี่ยวจากฟาร์มแบบโรงงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีอยู่หลายพันแห่ง กระจายตัวบริเวณชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกทั้งหมดของจีน ซึ่งเกษตรกรจะเพาะเลี้ยงปลาทะเลเพื่อการพาณิชย์เพื่อส่งออกเท่านั้น
จีนเริ่มก้าวเป็นมหาอำนาจในอุตสาหกรรมอาหารทะเลในทศวรรษ 1990 ซึ่งตรงกับช่วงที่จีนให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมาเป็นอันดับแรก ผลที่ตามมาในปัจจุบันคือ ปัญหาคุณภาพน้ำและวิกฤตแหล่งอาหารของจีน อย่างในมณฑลกว่างตง(กวางตุ้ง) ก็พบปลามีสารเคมีเป็นพิษตกค้าง เช่น ดีดีที ซึ่งขณะนี้เริ่มสร้างปัญหาด้านสุขภาพในประชาชนแล้ว
“เราตรวจพบโลหะหนัก,ปรอท ในตัวอย่างปลา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหยุดการไหลเข้าของสารพิษสู่ระบบอาหาร”หมิงฮุงหว่อง ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัย ฮ่องกง แบ็ปติส กล่าว
ปัจจุบัน มีแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งน้ำกว่าครึ่งของจีนกำลังประสบปัญหามลพิษ ทะเลสาบขนาดใหญ่หลายแห่งเกิดการแพร่กระจายของสาหร่ายอย่างหนักจนส่งผลให้น้ำเน่าเสีย ซึ่งผู้ผลิตอาหารทะเลมีส่วนก่อให้เกิดปัญหานี้ ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษฟาร์มฯเหล่านี้ ที่ปล่อยน้ำปนเปื้อนยาสัตว์ สิ่งปฏิกูลจากปลาลงสู่แม่น้ำลำธาร และตามชายฝั่งทะเล โดยไม่ได้บำบัด
เพาะปลาหวังรวย
เมื่อสิบปีที่แล้ว ประชากรหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในฝูชิง ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่ในทะเลจีนตะวันออก ต่างหนีไปอยู่ต่างประเทศโดยอาศัยการแอบโดยสารไปกับเรือขนส่งสินค้า และในทศวรรษ 1980 คนเหล่านี้เริ่มส่งเงินกลับบ้านเกิด ซึ่งตรงกับช่วงที่นักลงทุนจำนวนมากจากญี่ปุ่นและไต้หวันข้ามาลงทุนในจีน โดยให้สัญญาว่าจะช่วยจีนสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงปลา
หวังเว่ยฝู เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาไหลมานานแล้วกล่าวว่า ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น เขาจึงมองเห็นอนาคตของธุรกิจนี้
ด้วยเหตุนี้ เกษตรกรหลายพันคนซึ่งทำมาหากินด้วยความยากลำบากจากการเก็บเกี่ยวข้าวและมะเขือเทศ ก็เริ่มแบ่งสรรที่ดินผืนใหญ่เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา จากนั้น พื้นที่อื่นๆในจีนก็เริ่มทำตาม โดยสร้างบ่อเลี้ยงปลาใกล้แม่น้ำลำธาร,ทะเลสาบขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำ
ในขณะนั้น รัฐบาลหวังว่า อุตสาหกรรมด้านนี้ จะช่วยประชากรหลายล้านคนให้หลุดพ้นจากความยากจน และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ซึ่งสถิติสำนักงานประมงจีนชี้ว่า ปัจจุบัน มีเกษตรกรเลี้ยงปลาในจีนกว่า 4.5 ล้านราย
หลินปินกุ้ย วัย 50 ปี ก็เป็นหนึ่งในนั้น อดีตช่างปูนซึ่งปัจจุบันบันเป็นเจ้าของบ่อขนาดใหญ่ 20 แห่งทางฝั่งตะวันออกของฝูชิง ซึ่งเพาะเลี้ยงกุ้ง และปลาไหล กล่าวว่า “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ต้องใช้เทคโนโลยีมากมาย คุณแค่เรียนรู้จากการลงมือทำเท่านั้น”
อย่างไรก็ดี ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาคนี้ ให้ผลลัพธ์มากกว่าการสร้างงาน มันทำให้จีนกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ผลิตปลาจากฟาร์มมากกว่าทะเล นอกจากนี้ยังสร้างความร่ำรวยให้แก่ประชาชน โดยประชาชนจำนวนมากที่นี้กลายเป็นมหาเศรษฐี อย่างเช่น หลินซุนเปา ซึ่งลูกชายวัย 25 ปีของเขากำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในอังกฤษกล่าวว่า “ช่วงที่ดีที่สุดของธุรกิจผมคือปี 1992-1994 ตอนนั้นผมมีฟาร์มแค่แห่งเดียวแต่ทำเงินได้ถึง 500,000 เหรียญสหรัฐต่อปี”
ช่วงกลางทศวรรษ 1990 เริ่มเกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมในฝูชิง หลังจากที่โรงงานผลิตไฟฟ้าและสิ่งทอต่างแห่กันเข้ามาสร้างฐานการผลิตทางตอนกลางของฝูชิง เริ่มมีการขาดแคลนน้ำทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ขณะที่เกษตรกรบางรายบอกว่า น้ำเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำ
บันทึกข้อมูลของรัฐบาลด้านความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในบริเวณนี้ชี้ว่า อ่างเก็บน้ำตงจาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำการเกษตรของประชากรกว่า 700,000 คน ระดับมลพิษอยู่ระดับ 5 เกือบเข้าใกล้ระดับรุนแรงสูงสุดที่รัฐบาลตั้งไว้ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เหมาะแก่การทำฟาร์มปลา,ว่ายน้ำ หรือแม้แต่สัมผัสกับผิวหนังมนุษย์
หาทางออก
ห่างจากฝูชิงไปทางตะวันตก 20 ไมล์เป็นเมืองซันหมิง เป็นที่ตั้งของภูเขาเขียวชอุ่ม และเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรป่าไม้และไผ่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจีน เกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำจำนวนมากจากฝูชิงเลือกที่นี่เป็นที่ตั้งอีกแห่งของฟาร์มเพาะลี้ยงสัตว์น้ำ มีการเจาะท่อส่งน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากเข้าไปบริเวณไหล่เขา เพื่อใช้เลี้ยงปลาไหลหลายล้านตัว
จางชิวเจิน เกษตรกรเพาะเลี้ยงปลาไหลบริเวณนี้กล่าวว่า ที่นี่ใช้ต้นทุนสูงกว่าในฝูชิงมาก แต่ก็ต้องทำ เนื่องจากที่ฝูชิงประสบปัญหามลพิษทางน้ำอย่างหนัก
การแสวงหาแหล่งเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาแห่งใหม่ โดยไม่รู้จักบำบัดน้ำเสีย ทำให้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจีน ไม่ใช่เป็นเพียงเหยื่อของมลพิษทางน้ำ แต่ชณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมตัวฉกาจเช่นกัน อาทิ กรณีการบลูมของสาหร่ายในทะเลสาบไท่หู แหล่งน้ำสำคัญของประชาชนหลายล้านคนในเขตใจกลางการค้าพาณชย์ใหญ่ของประเทศ ทำให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณออกซิเจนลดลง สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ธุรกิจฟาร์มปลาในซันหมิงอาจอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากอุตสาหกรรมหนักต่างหลั่งไหลกันเข้ามาตั้งที่นี่ เพราะอุดมไปด้วยแหล่งแร่ และเงื่อนไขจูงใจของรัฐบาลท้องถิ่น ที่กำลังผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจในซันหมิง ประกอบกับการขาดระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีในฟาร์มแต่ละแห่ง
ปัจจุบัน ซันหมิงมีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาไหลขนาดใหญ่ถึง 72 แห่ง ผลิตอาหารทะเลปีละ 5,000 ตัน ฟาร์มเหล่านี้สูบน้ำมาใช้รวมกันวันละ 280 ล้านแกลลอน และปล่อยน้ำทิ้งลงสู่แหล่งน้ำรอบซันหมิงในวันถัดมา
อย่างไรก็ดี ชณะที่หลายประเทศกำลังพยายามคิดค้นวิธีทำฟาร์มปลาอย่างยั่งยืน เช่น นอร์เวย์ ผู้ผลิตปลาแซลมอนจะใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งรวมถึง การติดกล้องใต้น้ำเพื่อวัดคุณภาพน้ำ และปริมาณอาหารปลาที่แน่นอน แต่ในจีน ไม่มีการทำอะไรเช่นนี้ ซึ่งหลี่ซื่อฟา ผู้เชี่ยวชาญของ มหาวิทยาลัยประมงเซี่ยงไฮ้ยืนยันว่า กฎระเบียบของจีนมีความหละหลวม และรัฐบาลก็ไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง
“จีนอาจต้องเปลี่ยนไปใช้ทะเลเปิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพราะปัจจุบันหาแหล่งน้ำสะอาดในแผ่นดินยากขึ้นเรื่อยๆ และทุกปีก็มักเกิดปัญหาความปลอดภัยของอาหารทะเล หากวันหนึ่ง ไม่มีใครกล้าทานปลาที่มาจากแหล่งน้ำสกปรก เกษตรกรจะทำอย่างไรต่อไป” อันไท่ฉาง บัณฑิตยสถานด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนกล่าว.