xs
xsm
sm
md
lg

จีนหวั่นพายุหิมะทำพิษวิ่งคบเพลิงเอเวอร์เรสต์สะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมงานติดตั้งธงสัญลักษณ์โอลิมปิกบริเวณเอเวอร์เรสต์ เบสแคมป์ ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 5,400 เมตร ซึ่งถือเป็นด่านแรกก่อนที่จะไต่สู่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก
เอเจนซี – หลังจากจีนได้ปรับปรุงเส้นทางวิ่งคบเพลิงสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์แล้วเสร็จไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยใช้แรงงานจีนขยายถนนยาวกว่า 100 กิโลเมตรนานกว่า 10 เดือน พร้อมทั้งปูผิวถนนใหม่และติดตั้งราวจับตรงจุดที่อันตราย ซึ่งจะช่วยให้คนขับรถ นักท่องเที่ยว นักปีนเขา และผู้ถือคบเพลิงโอลิมปิก วิ่งขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก ได้อย่างปลอดภัย

แต่ล่าสุดสำนักข่าวซินหัวของจีนรายงาน สภาพอากาศที่เลวร้าย พายุหิมะที่โหมกระหน่ำอาจเป็นอุปสรรคให้การวิ่งคบเพลิงนัดสำคัญสู่ยอดเขาสูงสุดแห่งเทือกเขาหิมาลัยจากทางฝั่งทิเบตต้องล่าช้ากว่ากำหนดเดิม โดยจาง จื้อกัง เจ้าหน้าที่จากสำนักงานให้บริการข้อมูลอากาศเอเวอร์เรสต์เปิดเผยว่า “เส้นทางวิ่งอาจจะลื่นเพราะหิมะ หากหิมะยังคงตกอย่างต่อเนื่อง เส้นทางวิ่งที่ปกคลุมด้วยหิมะหนาทึบอาจจะสร้างความลำบากให้แก่นักปีนเขา”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวซินหัวมิได้ระบุว่า สภาพอากาศที่รุนแรงนี้จะทำให้กำหนดการวิ่งคบเพลิงสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ต้องล่าช้าไปนานแค่ไหน ทั้งนี้ นักปีนเขาที่รับหน้าที่วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้มารอท่าอยู่ที่เอเวอร์เรสต์ แอดวานซ์ เบสแคมป์ ซึ่งมีความสูงประมาณ 6,500 เมตรแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และกำลังรอให้สภาพอากาศเป็นใจกว่านี้

เป็นที่ทราบกันว่าแผนการเชิญไฟโอลิมปิกขึ้นสู่ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในทิเบตเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความไม่พอใจต่อการปกครองของจีนเหนือดินแดนหลังคาโลกมานานนับทศวรรษ และการใช้กำลังกวาดล้างม็อบทิเบต รวมทั้งประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีน ก็กลายเป็นประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง และชุมนุมประท้วงการวิ่งคบเพลิงของจีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

อนึ่ง การวิ่งคบเพลิงมุ่งสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ ถือเป็นเส้นทางที่ได้รับความสนใจที่สุดในการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกครั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวมองว่า จีนจัดเส้นทางวิ่งคบเพลิงผ่านยอดเขาเอเวอร์เรสต์ เพราะต้องการตอกย้ำให้เห็นว่า ทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน เนื่องจากยอดเขาดังกล่าวตั้งอยู่ตรงพรมแดนที่กั้นกลางระหว่างทิเบตกับเนปาลพอดี ส่วนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มองว่าการปรับปรุงพื้นผิวถนนที่มุ่งสู่ยอดเขาจะทำให้ชั้นน้ำแข็ง “เพอร์มาฟรอสต์“ ตรงผิวดินถูกทำลาย แต่จีนย้ำว่าสภาพแวดล้อมไม่เสียหายแน่นอนจากโครงการปรับปรุงถนนดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น