เอเชียน วอลล์สตรีท – นักรณรงค์วิจารณ์วิ่งคบเพลิงโอลิมปิกสู่เอเวอเรสต์ไม่เหมาะสม ชี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตผู้คน ส่วนนักวิเคราะห์เผยนัยเบื้องหลังจีนเลือกเอเวอเรสต์ ชี้ต้องการสื่อว่า “เป็นมหาอำนาจแล้ว”
นับแต่ไฟโอลิมปิกถูกจุดขึ้นที่กรีซ การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกปักกิ่งต้องเผชิญกับความท้าทายตลอด ทว่าหนึ่งในเส้นทางวิ่งที่ถูกวิจารณ์เรื่องความเหมาะสมมากที่สุดคือ เส้นทางสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่งคาดว่านักปีนเขาจีนจะพยายามขึ้นสู่ยอดเขาภายในช่วงวันที่ 1-10 พ.ค.
เพื่อให้แน่ใจว่าการวิ่งคบเพลิงสู่เอเวอเรสต์จะดำเนินไปอย่างราบรื่น ทางการจีนได้ทุ่มเททรัพยากรไปอย่างมหาศาล ทั้งการตัดถนนสู่ค่ายที่พักเชิงเขาเอเวอเรสต์, ระงับการปีนเขาเพื่อไม่ให้นักปีนเขาเข้ามายุ่มยาม, คิดค้นคบเพลิงพิเศษสำหรับภารกิจนี้ และยังมีการฝึกช่างภาพให้พร้อมสำหรับการถ่ายภาพงานใหญ่ครั้งนี้เป็นเวลาถึง 2 ปี
อย่างไรก็ตามการวิ่งคบเพลิงครั้งนี้ก็หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์ บรรดาผู้ประกอบกิจการนำนักปีนเขาสู่เอเวอเรสต์ต่างวิจารณ์มาตรการปิด ห้ามใช้เส้นทางปีนเขาสู่เอเวอเรสต์ตั้งแต่วันที่ 1-10 พ.ค. ว่าทำให้พวกเขาต้องสูญรายได้มหาศาล เนื่องจากทัวร์ปีนเอเวอเรสต์ครั้งหนึ่งมีมูลค่าราว 35,000-80,000 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านนักรณรงค์ชาวทิเบตชี้ว่า เนื่องจากเอเวอเรสต์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต การวิ่งคบเพลิงสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์จึงเป็นการคุกคามทางวัฒนธรรม ส่งสัญญาณย้ำเตือนว่า จีนอยู่เหนือชาวทิเบต นอกจากนี้การวิ่งคบเพลิงสู่เอเวอเรสต์หลังจากจีนเพิ่งปราบปรามชาวทิเบตไปไม่นาน จะทำให้ชาวทิเบตยิ่งทุกข์หนัก เพราะจีนจะเข้มงวดต่อชาวทิเบตมากกว่าเดิม เพื่อให้มั่นใจว่า การวิ่งคบเพลิงสู่เอเวอเรสต์ดำเนินไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้เมื่อวันอังคาร ทางการจีนเพิ่งประกาศว่าได้ตัดสินจำคุกชาวทิเบตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุจลาจลเมื่อเดือนมี.ค.ไป 30 ราย โดยมีการตัดสินโทษตั้งแต่จำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีการคุมขังชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในมณฑลใกล้เคียงกับเขตปกครองตนเองทิเบตอาทิ กันซู่ และชิ่งไห่เป็นจำนวน 2,000 คน อย่างไรก็ตามมีการประมาณว่าจำนวนที่แท้จจริงน่าจะสูงกว่านี้
เทนซิน ดอร์จี นักรณรงค์ทิเบตกล่าวว่า “ชาวทิเบตยืนยันชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้คบเพลิงโอลิมปิกเข้ามาในทิเบต ทว่าสำหรับการวิ่งคบเพลิงช่วงทิเบตมีความเป็นไปได้ 2 ทางคือ ชาวทิเบตประท้วง และถูกจับลงโทษอย่างรุนแรง หรือไม่ก็ไม่มีการประท้วงเลย เนื่องจากปักกิ่งดำเนินการคุมขังและลงโทษผู้คนอย่างรุนแรง จนเกิดเป็นบรรยากาศแห่งความกลัว”
อย่างไรก็ตามชาวจีนต่างตั้งความหวังสูงต่อการวิ่งคบเพลิงสู่เอเวอเรสต์ผ่านทิเบต หลายคนมองเห็นแต่ภาพในแง่บวก บล็อกเกอร์รายหนึ่งแสดงทัศนะว่า “จีนได้ไต่สู่สถานะมหาอำนาจ คบเพลิงสู่เอเวอเรสต์สะท้อนว่า ชาวจีนไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะให้ใครมากดขี่ง่ายๆอีกต่อไป ประเทศชาติของเรากำลังก้าวไปข้างหน้า ประชาชนสามัคคีกันมากกว่าเดิม และประเทศชาติก็แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ”
เฉิน เจี้ยน รองประธานสมาคมวิจัยเศรษฐกิจโอลิมปิกปักกิ่ง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเทศบาลมหานครปักกิ่งระบุว่า “การนำคบเพลิงสู่ทิเบตจะทำให้ผู้คนเข้าใจชาวทิเบตมากขึ้น และชาวทิเบตก็ต้อนรับการวิ่งคบเพลิง”
ตาชิ เทนซิง ซึ่งเป็นหลานชายของเทนซิง นอร์เก ผู้ขึ้นถึงยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคนแรกพร้อมกับเอดมันด์ ฮิลลารี เมื่อปี 1953 กล่าวว่า “ผู้ประท้วงไม่มีโอกาสขึ้นไปประท้วงที่ยอดเขาหรอก มีแต่ซูเปอร์แมนเท่านั้นที่ทำอย่างนั้นได้”
ส่วนนักรณรงค์ที่พยายามเคลื่อนไหวบริเวณค่ายที่พัก จะต้องเผชิญกับการคุมเข้มของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำการตรวจเช็คกระเป๋าอย่างละเอียด แถมมีการจำกัดการใช้โทรศัพท์อีกต่างหาก
ทั้งนี้จีนได้สร้างถนนลูกรังสู่ค่ายที่พักเชิงเขา และเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2007 จีนได้ทดลองส่งนักปีนเขา 7 คน พร้อมกับคบเพลิงพิเศษ ที่บรรจุเชื้อเพลิงต่างกันหลายชนิด เพื่อทดสอบว่า เชื้อเพลิงชนิดใดเผาไหม้ดีที่สุดในสถานที่ ที่อากาศเบาบาง การทดลองครั้งนั้นซีซีทีวีทำการถ่ายทอดโดยใช้มาตรฐานธรรมดา ทว่าสำหรับการวิ่งคบเพลิงจริงซีซีทีวีจะใช้การถ่ายทอดความละเอียดสูง โดยซีซีทีวีได้ส่งนักข่าวจำนวน 83 คนไปยังเอเวอเรสต์แล้ว
นอกจากประเด็นเรื่องการเมืองและสิทธิมนุษยชน นักอนุรักษ์ยังแสดงทัศนะห่วงใยสิ่งแวดล้อมว่า “การสร้างทางลูกรังยาว 107 กม.มูลค่า 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สู่ค่ายเชิงเขาเอเวอเรสต์จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงบริเวณดังกล่าวง่ายขึ้น ถนนดังกล่าวย่นเวลาในการเดินทางถึงค่ายมากถึง 4 เท่าเมื่อเทียบกับการเดินทางสู่ค่ายจากฝั่งเนปาล เมื่อมีผู้คนมากเกินไป แถมยังปราศจากการจัดการที่ดีจนระบบนิเวศไม่สามารถรับได้ สิ่งแวดล้อมย่อมถูกกระทบกระเทือน” เจ้าหน้าที่กรีนพีซรายหนึ่งกล่าว