xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมะกันครวญถูกจีนโจมตียับ งิ้ว-เพลงสวดศพ ระงมทั่วสถานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้านค้าแห่งหนึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมหลังเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ทั้งนี้วิทยุเอเชียเสรีเป็นสื่อที่เกาะติดสถานการณ์ทิเบตอย่างใกล้ชิด จนสร้างความหงุดหงิดให้กับรัฐบาลจีน - เอเยนซี
เอเชียน วอลล์สตรีท – วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia) เผยถูกจีนปล่อยสัญญาณรบกวนวิทยุคลื่นสั้น คลื่นแทรก, งิ้ว, เพลงสวดศพระงม หลังทางสถานีบังอาจเกาะติดรายงานข่าวทิเบต

เอเชียน วอลล์สตรีทเผย รายงานข่าวเหตุการณ์รุนแรงทิเบตชิ้นแรกๆเมื่อเดือนมี.ค. มาจากวิทยุเอเชียเสรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ โดยสถานีวิทยุดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสภาครองเกรสเป็นรายปีมูลค่า 34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้สถานีวิทยุเอเชียเสรีมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ทำการออกอากาศใน 9 ภาษารวมทั้งภาษาจีนกลาง, ทิเบต และอุยกูร์ บทบาทการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นทิเบต และซินเจียงทำให้ทางสถานีต้องเผชิญกับข้อวิจารณ์จากฝ่ายจีนว่า เป็นการพยายามโฆษณาชวนเชื่อ เหมือนที่อเมริกันทำช่วงสงครามเย็น นอกจากนี้ประชาชนบางส่วนยังกังขากับการรายงานข่าวว่าเป็นกลางเพียงใด

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า “เอเชียเสรีรายงานข่าวไม่เป็นกลาง และไม่ยุติธรรมกับจีนมาเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้สื่อต่างชาติจำนวนมากก็นำรายงานข่าวของสถานีไปรายงานต่ออีกทอด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิจีนไปทั่ว”

อย่างไรก็ตามซาร่าห์ แจ็คสัน-ฮัน โฆษกของวิทยุเอเชียเสรีโต้ว่า “เราต่อสู้เพื่อให้ได้รายงานข่าวที่ดีที่สุด และน่าเชื่อถือที่สุดเป็นรายแรก”

ทั้งนี้ทางสถานีไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในทิเบต มีเพียงการจ้างฟรีแลนซ์ 2 รายซึ่งเข้าไปยังทิเบตบ่อยครั้ง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จลาจล นอกจากนี้ทางสถานียังจ้างชาวทิเบต 30 คนทำงานที่วอชิงตันเพื่อรายงานข่าวเป็นภาษาทิเบต พระในเขตปกครองตนเองทิเบตบางรูปกล่าวว่า ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามข่าวจากวิทยุเอเชียเสรี

การายงานข่าวเกี่ยวกับชนวนเหตุการณ์ปะทะในทิเบตขั้นต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ผู้สื่อข่าววิทยุเอเชียเสรีในวอชิงตันได้รับข้อความผ่าน โปรแกรมสไกป์ (Skype) ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับคุยโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตรายงานว่า “พระ 300 รูปที่มุ่งหน้าไปยังลาซาปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บางรูปได้รับบาดเจ็บ ราว 50-60 รูปถูกจับ”

หลังจากนั้นวิทยุเอเชียเสรีก็รายงานข่าวดังกล่าวไปทั่ว โปรแกรมสไกป์ทำให้ทางวิทยุสามารถเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆทันเหตุการณ์ แม้ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้เอเชียเสรียังเป็นสื่อรายแรก ที่รายงานข่าวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงในทิเบต

ข่าวของเอเชียเสรีถูกสื่อทั่วโลกนำไปใช้รายงานต่ออีกทอดหนึ่ง หลังการรายงานข่าวเหตุการณ์ในทิเบตได้ไม่นาน ทางสถานียังรายงานต่ออีกว่า เกิดเหตุการณ์ประท้วงในซินเจียง (ซินเกียง) จนนำไปสู่การปะทะระหว่างชาวอุยกูร์กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้วิทยุเอเชียเสรีมีการตั้งสถานีรายงานข่าวในเอเชีย ในที่ที่ไม่เปิดเผยหลายแห่ง ด้วยการอาศัยระบบวิทยุคลื่นสั้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อังกฤษพัฒนาขึ้นเมื่อทศวรรษ 1920 สำหรับใช้ติดต่อระหว่างลอนดอนกับอาณานิคมที่ห่างไกล

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนไม่ได้ปล่อยให้สื่อมะกันรายงานข่าวอย่างสะดวกสบาย ปักกิ่งได้ส่งสัญญาณรบกวนด้วยการแพร่เสียงงิ้ว, เพลงสวดศพ, ฆ้อง และคลื่นรบกวนอื่นๆ แม้แต่เวบไซต์ของวิทยุเอเชียเสรี ที่สอนวิธีการปรับเสาอากาศด้วยอุปกรณ์ง่ายๆอาทิ ยางลบ, หนังสติ๊ก และเส้นลวด ก็ยังถูกบล็อก

นอกจากรัฐบาลจีนแล้ววิทยุเอเชียยังเผชิญกับข้อกังขาจากฝ่ายอื่นๆว่า รายงานข่าวลำเอียงมีอคติ และอาจมีส่วนเกี่ยวของกับซีไอเอ

เมื่อปี 1999 มาร์ค ฮ็อปกินส์ อดีตผู้อำนวยการของเสียงอเมริกา (วีโอเอ) เขียนบทความวิจารณ์การรายงานข่าวของเสียงอเมริกาและ วิทยุเอเชียเสรีว่า “มีอคติอย่างชัดเจน” นอกจากนี้ฮ็อปกินส์ยังเชื่อว่า สถานีวิทยุทั้งสองมีภารกิจครอบงำความคิด, วิถีชีวิต และการเมืองของต่างชาติ

ผู้สื่อข่าวของทางสถานีไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำข่าวในหลายประเทศ ที่สถานีดำเนินการเสนอข่าวเกี่ยวกับประเทศนั้น การหาข่าวจึงอาศัยการโทรศัพท์เข้ามาแลกเปลี่ยนในรายการ และโปรแกรมอินเทอร์เน็ตเช่น สไกป์ นอกจากนี้บางครั้งทางสถานียังซื้อข่าวจากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรสิทธิมนุษยชนและแรงงาน เนื่องจากพวกเขาเป็นแหล่งข่าวที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น