xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลยืมชื่อ ‘อุยกูร์ – ซินเจียง’ สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – นักวิชาการสงสัยภัยคุกคามจากซินเจียง (ซินเกียง) เรื่องจริงหรือสร้างภาพ? นักรณรงค์ชี้ จีนพูดเวอร์ หวังใช้ชื่อก่อการร้ายซินเจียงเป็นเครื่องมือ สร้างความชอบธรรมปราบปรามผู้ต่อต้าน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อผู้ก่อการร้ายชนชาติอุยกูร์ ปรากฏเป็นข่าวเด่นตามสื่อจีนและเทศ หลังจากรัฐบาลประกาศว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายอุยกูร์ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ในอูหลู่มู่ฉี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์-ซินเจียง เมื่อต้นเดือนม.ค. ซุ่มวางแผนแผนก่อการร้ายระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปักกิ่งเดือนสิงหาคมปีนี้

หลังจากนั้นไม่นานทางการจีนก็ปล่อยข่าวผ่านหน้าสื่อว่า เมื่อวันศุกร์ (7 มี.ค.) เกิดเหตุก่อการร้ายเครื่องบินของสายการบินไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ ที่มุ่งหน้าจากอูหลู่มู่ฉี ไปยังปักกิ่ง ทว่าเจ้าหน้าที่สามารถระงับเหตุได้ โดยสงสัยว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายอุยกูร์

อย่างไรก็ตามรายละเอียดเชิงลึก เกี่ยวกับการก่อการร้ายไม่ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้การที่รัฐบาลจีนพยายามอ้างตลอดว่า กลุ่มก่อการร้ายอุยกูร์-ซินเจียง เล็งก่อการร้ายโอลิมปิก ทำให้กลายฝ่ายเกิดความสงสัยว่า “ที่จริงแล้วรัฐบาลตั้งใจ ประโคมข่าวสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจับกุมและปราบปรามบุคคลที่ถูกตราหน้าว่าเป็นภัยต่อรัฐ”

“ประเด็นก่อการก่อร้ายที่เชื่อมโยงกับซินเจียงไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด อย่างไรก็ตามการก่อการร้ายที่มาจากซินเจียงก็มีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าโดยส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่า จะเกิดเหตุก่อการร้ายครั้งใหญ่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก สิ่งที่เราอาจจะเผชิญคงเป็นเพียงการรวมกลุ่ม รณรงค์ต่อต้านอย่างจำกัดและไม่รุนแรง โดยกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับซินเจียง” จาง เจียต้ง นักวิชาการด้านการต่อต้านการก่อการร้าย แห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น มหานครเซี่ยงไฮ้เผย

ทั้งนี้จีนมักกล่าวหาว่า ขบวนการแห่งอิสลามเตอร์กีสถานตะวันออก หรือ อีทีไอเอ็ม ซึ่งสหประชาชาติขึ้นบัญชีดำเป็นกลุ่มก่อการร้าย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวก่อการร้ายในจีน

แม้ไม่มีการบ่งชี้ชัดเจนว่า ขนาดและความรุนแรงของการก่อการร้ายอยู่ในระดับใด ทว่าชนชาติอุยกูร์มักต่อต้านนโยบายของรัฐบาลจีน ที่สนับสนุนการอพยพชาวฮั่นไปตั้งรกรากในซินเจียง ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิดของชาวอุยกูร์ นอกจากนี้จีนยังเข้าไปหาผลประโยชน์จากแร่ธาตุในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน

นักสังเกตการณ์ชาวต่างประเทศวิจารณ์ว่า รัฐบาลจีนปิดบัง ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในซินเจียงให้ชัดเจน ผู้สื่อข่าวต่างชาติมักถูกขัดขวาง มิให้เสนอข่าวเกี่ยวกับซินเจียงอย่างอิสระ

“เราไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่า มีการก่อการร้ายที่รุนแรง กลุ่มใดเป็นผู้ก่อการ เราไม่ทราบ ข้อมูลอย่างเดียวที่เรามีคือข้อมูลจากฝ่ายจีน” เจมส์ มิลล์เวิร์ด นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ผู้โด่งดัง จากงานเขียนประวัติศาสตร์ซินเจียงเผย

เฟลิม ไคน์ จากฮิวแมนต์ ไรทส์ วอทช์ ชี้ว่า “รัฐบาลจีนประโคมข่าวซินเจียง เพื่ออาศัยเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้ที่ต่อต้านรัฐ”

“รัฐบาลจีนใช้ข้ออ้าง ป้ายสีให้ซินเจียงเป็นดินแดนแห่งการก่อการร้าย เพื่ออาศัยเป็นข้ออ้างปราบปราม และสยบ การก่อเหตุประท้วงต่อต้านรัฐในซินเจียง ก่อนหน้าที่โอลิมปิก 2008 จะเปิดม่าน” ไคน์กล่าว

นอกจากการอ้างซินเจียงแล้ว ทางจีนยังเผยข่าวว่า ทะไล ลามะมีบทบาทสำคัญ ในการวางแผนแบ่งแยกดินแดนทิเบต

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่จีนโต้ว่า ต่างชาติมักใช้มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียม เมื่อพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับจีน “ผมเพิ่งไปเยือนซินเจียงมา สถานการณ์น่าตกใจ ประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต มีการใช้อาวุธนำเข้าและที่ผู้ก่อการประดิษฐ์ด้วยตนเอง” จาง เสี่ยวตง แห่งสถาบันศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเผย

ทั้งนี้ซินเจียงเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิมอุยกูร์กว่า 8 ล้านคน จัดเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเขตปกครองแห่งนี้ โดยชาวอุยกูร์เป็นชาติพันธุ์มุสลิม เติร์ก ที่อาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวมายาวนาน ในปี 1930 และ 1949 ชาวอุยกูร์ เคยประกาศตั้งสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออกในบริเวณดังกล่าว ก่อนที่จะถูกจีนผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ โดยเรียกชื่อดินแดนในปัจจุบันว่าซินเจียง
กำลังโหลดความคิดเห็น