เอเยนซี – เหลือเวลาอีกราว 100 วัน มหกรรมโอลิมปิกปักกิ่งก็จะรูดม่านเปิดฉากขึ้น ทว่ากระแสความตึงเครียดที่ถาโถมใส่รัฐบาลจีน โดยเฉพาะประเด็นทิเบต ทำให้ล่าสุดรัฐบาลจีนต้องยื่นข้อเสนอเจรจากับองค์ทะไล ลามะ เพื่อลดกระแสกดดันจากนานาชาติ
หลังจากเมื่อวันศุกร์ (25 เม.ย.) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลจีนจะพบปะกับตัวแทนของทะไล ลามะ ในไม่กี่วันข้างหน้า เพื่อปรึกษาหารือหนทางแก้ปัญหาประเด็นทิเบต ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ องค์ทะไล ลามะได้ตรัสตอบรับข้อเสนอดังกล่าว โดยพระองค์ย้ำว่า การเจรจาดังกล่าวจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการเจรจาที่จริงจังเพื่อหาทางออกของปัญหา มิใช่เพียงการสร้างภาพอวดชาวโลก
ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสรรเสริญจากนานาประเทศอาทิ สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และยุโรป ทว่าหลายฝ่ายยังคงวิตกว่า ความเคลื่อนไหวของฝ่ายจีนครั้งนี้ อาจแค่จุดประกายความหวัง แต่ท้ายสุดแล้วไม่นาน เปลวไฟแห่งความหวังของทิเบตและองค์ทะไล ลามะ อาจจะมอดลงจนดับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างชี้ว่า การที่จีนเป็นฝ่ายยื่นไมตรีครั้งนี้เป็นเกมการเมืองอย่างหนึ่ง เพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ในทางที่ดี
ที่ผ่านมาเจ้าภาพโอลิมปิกปักกิ่งถูกท้าทายอย่างหนัก ด้วยกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากได้รวมตัวกันตามเส้นทางวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก จนกลายเป็นข่าวดังทั่วโลก สะเทือนภาพลักษณ์ของจีนอย่างรุนแรง นอกจากนี้บรรดาผู้นำรัฐต่างๆยังขู่ที่จะคว่ำบาตร ไม่เข้าร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกปักกิ่ง หากมองต้นรากของปัญหาทั้งหมดทั้งมวล จุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงจีนและมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งคือ การใช้กำลังเข้าปราบการจลาจลในทิเบตเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ซึ่งกลายเป็นชนวนจุดระเบิดสร้างกระแสต่อต้านโอลิมปิกปักกิ่ง
ฉะนั้นเมื่อมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปักกิ่งจะเปิดฉากขึ้นในอีกราว 100 วัน ความตึงเครียดจึงเขม็งเกลียวเข้าหารัฐบาลจีนอย่างเข้มข้น เนื่องจากทางการจีนให้ความสำคัญกับงานครั้งนี้มาก การเจรจากับผู้แทนขององค์ทะไล ลามะ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อลดกระแสกดดันจากนานาชาติ ช่วยผลักดันให้โอลิมปิกครั้งนี้ผ่านไปโดยมีบาดแผลน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนดูการเจรจาครั้งที่ผ่านมาระหว่าง 2 ฝ่ายที่จัดขึ้นแล้วถึง 6 ครั้งตั้งแต่ปี 2002 ทว่าสุดท้ายการเจรจาแต่ละครั้งก็เหลวไม่เป็นท่า เพราะจีนไม่ยอมโอนอ่อนตามข้อเสนอขององค์ทะไล ลามะ ความคาดหวังว่าการเจรจาครั้งนี้จะประสบความสำเร็จจึงเป็นความหวังที่ริบหรี่
ทางสายกลางกับการต่อรองเพื่อทิเบต
นับแต่ทศวรรษ 1970 องค์ทะไล ลามะได้ใช้นโยบายทางสายกลาง 8 ประการ เน้นเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของทิเบตภายใต้ร่มธงของจีน มากกว่าการแยกประเทศเป็นเอกราช มาเป็นหลักการในการเจรจากับฝ่ายจีน
ทั้งนี้หลัก 8 ประการดังกล่าวประกอบด้วย
1) สำนักบริหารกลางแห่งทิเบตไม่ได้แสวงหาเอกราช แต่พยายามสร้างหน่วยทางการเมืองอันประกอบด้วยจังหวัดดั้งเดิมของทิเบต 3 จังหวัด
2) หน่วยทางการเมืองดังกล่าวต้องมีสถานะการปกครองตนเอง (Autonomy) ในเชิงภูมิภาคและเชื้อชาติอย่างแท้จริง
3) การปกครองตนเองนี้ต้องปกครองด้วยหน่วยนิติบัญญัติและบริหาร ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนด้วยกระบวนการประชาธิปไตย
4) ทันทีที่จีนยอมรับสถานะดังกล่าว ทิเบตจะไม่มุ่งแบ่งแยก จะยังคงอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป
5) จีนสามารถคงกำลังติดอาวุธจำนวนจำกัดในทิเบตได้เพื่อการคุ้มครอง จนกว่าทิเบตจะเปลี่ยนแปลงเป็น เขตแห่งสันติภาพและปลอดความรุนแรง
6) รัฐบาลจีนเป็นผู้รับผิดชอบกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการป้องกันประเทศสำหรับทิเบต แต่ชาวทิเบตจะเป็นฝ่ายดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับตนเช่น ศาสนาและวัฒนธรรม, การศึกษา, เศรษฐกิจ, สุขภาพ, สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
7) รัฐบาลจีนต้องหยุดนโยบายละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต และการย้ายประชากรจีนเข้ามาในทิเบต
8) การแก้ไขปัญหาทิเบต ทะไล ลามะจะทรงเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อการเจรจาและการตกลงกับรัฐบาลจีนด้วยความจริงใจ
อย่างไรก็ตามจีนปฏิเสธข้อเรียกร้องขององค์ทะไล ลามะ พร้อมกล่าวหาว่าพระองค์ต้องการแยกทิเบตเป็นประเทศเอกราช
กระทั่งไมตรีที่หยิบยื่นให้ครั้งนี้ ทางฝ่ายจีนก็ไม่ได้ลดละน้ำเสียงกล่าวประฌามองค์ทะไล ลามะ หลังจากสำนักข่าวซินหัวเสนอข่าวเรื่องการเจรจา ซึ่งมีรายละเอียดที่คลุมเครือ ไม่ชี้ชัดว่าจะมีการเจรจาขึ้นที่ไหน และเมื่อไหร่ สำนักข่าวจีนอื่นๆก็ได้ออกมารายงานข่าวโจมตีองค์ทะไล ลามะ
พีเพิ่ล เดลี่, ไชน่า เดลี่ และทิเบต เดลี่ รายงานข่าวโดยเน้นใจความว่า “ฝ่ายองค์ทะไล ลามะละเมิดคำสอนพื้นฐานของพุทธศาสนา เป็นพวกใช้ความรุนแรง วางแผนก่อวินาศกรรมโอลิมปิกปักกิ่ง”
แม้ทางธรรมศาลาจะออกมาโต้ว่า การกระทำที่สวนทางดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดผลในแง่บวกสำหรับการเจรจา เนื่องจากการรายงานข่าวป้ายสีองค์ทะไล ลามะสวนทางกับปฏิบัติการยื่นไมตรีของปักกิ่ง ทว่านักวิเคราะห์แสดงทัศนะว่า “การกระทำที่สวนทางดังกล่าว เป็นเพราะว่าฝ่ายจีนต้องการสร้างอำนาจต่อรองเหนือองค์ทะไล ลามะ การรายงานข่าวโจมตีพระองค์ หลังตัดสินใจยื่นไมตรี ด้านหนึ่งเป็นความพยายามในการรักษาหน้าของจีนว่า ไม่ได้ลดตัวยอมเจรจาอย่างหมดท่า นอกจากนี้การโจมตีอย่างแข็งกร้าวยังช่วยสร้างอำนาจต่อรองให้กับฝ่ายจีน สำหรับการต่อรองที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต”
ทั้งนี้หลังซินหัวเผยว่า รัฐบาลจีนอาจจัดเจรจากับผู้แทนขององค์ทะไล ลามะ ประชาชนจีนได้ออกมาแสดงความเห็นวิจารณ์อย่างหลากหลาย กระดานสนทนาออนไลน์เต็มไปด้วยข้อความที่เผ็ดร้อน
นักท่องเน็ตรายหนึ่งระบายอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อรัฐบาลว่า “การกระทำครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอ่อนแอ เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังโลกภายนอกว่า แค่คุณสั่งสม มีอำนาจอยู่ต่างประเทศ คุณก็สามารถก้าวเข้ามาบงการ ก่อการจลาจลในจีนได้”
ส่วนอีกรายหนึ่งแสดงทัศนะในเชิงปฏิบัตินิยมโต้ว่า “ขณะนี้เราต้องสยบคลื่นลมให้สงบ หลังโอลิมปิกผ่านพ้นไปแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจทะไล ลามะหรอก”
ธรรมศาลาเตรียมตัวเปิดเจรจา
อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ โฆษกขององค์ทะไล ลามะเผยว่า ผู้แทนพิเศษขององค์ทะไล ลามะ ที่รับหน้าที่เจรจากับจีนในครั้งที่ผ่านมา จะเดินทางมาถึงอินเดียในวันพุธ (30) โดยเขาจะเดินทางมาที่ธรรมศาลาเพื่อปรึกษากับองค์ทะไล ลามะ นอกจากนี้ทางโฆษกขององค์ทะไล ลามะยังย้ำว่า ต้องการเปิดเจรจากับจีนให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนทิเบต ที่รุนแรงขึ้นทุกที
โดยสำนักข่าวเอเอฟพีเผยว่า เมื่อวันอาทิตย์ เครือข่ายนานาชาติสนับสนุนชาวทิเบต (International Tibetan Support Network) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลด้านนโยบายผู้อพยพชาวทิเบต กำลังประชุมที่ธรรมศาลา ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งยังได้ถกเถียงเกี่ยวกับข้อเสนอของฝ่ายจีน ที่เสนอเจรจากับผู้แทนขององค์ทะไล ลามะ
ขณะเดียวกันมาซาฮิโก โคมูระ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้ออกมาเรียกร้องให้จีนเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับประเด็นทิเบต โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน เนื่องจากการรายงานข่าวที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับองค์ทะไล ลามะ ทำให้เกิดความสับสน อย่างไรก็ตามรมต.ต่างประเทศญี่ปุ่นเชื่อว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต ทว่าไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นรุนแรงระดับใด ฉะนั้นหากจีนเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับประเด็นนี้ ก็จะช่วยให้เกิดความกระจ่างกับนานาชาติ