xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสมงคล “เงื่อนมังกร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผงขายของจีนๆ แถวเยาวราช
สองข้างทางของถนนเยาวราช ที่ทอดยาวดุจลำตัวมังกร เต็มไปด้วยแผงขายวัตถุมงคลต่างๆ จากจีน ทั้งรูปปั้นเทพเจ้า กำไลลายหยก รวมถึงเงื่อนมงคลที่ถักร้อยในรูปแบบต่างๆ......แต่นอกเหนือจากความงามในแง่ของงานศิลปะแล้ว เงื่อนเหล่านี้ยังมีอะไรให้น่าค้นหามากกว่านั้น.....

เงื่อนมงคล (中国结) ที่ถักร้อยเป็นรูปร่างต่างๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์นั้น อยู่คู่สังคมมังกรมาเนิ่นนาน หล่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมประเพณีจีนอย่างแนบแน่น และกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกความเป็นจีนได้อย่างชัดเจน

ในช่วงหนึ่งของวัฒนธรรมจีน ได้เคยมีการเคารพบูชาเชือก เนื่องด้วยคำว่า “เสิง” (绳 แปลว่า “เชือก”) อ่านออกเสียงคล้ายคำว่า “เสิน” (神 แปลว่า เทพเจ้า, เทวดา) อีกทั้งตามตำนานกำเนิดมนุษยชาติฉบับจีนยังมีการกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “หนี่ว์วา เทพมารดรแห่งมนุษยชาติ ได้ดึงเชือกขึ้นมาจากดินโคลนแล้วสะบัด เศษโคลนตกลงพื้นกลายเป็นมนุษย์” ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากเชือกนั้นแลดูคล้ายกับมังกรที่โค้งงอ ดังนั้นช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์จีน ได้มีการนำเชือกมาถักทอให้เป็นรูปสมมติของเทพเจ้ามังกร ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของพวกตน จึงทำให้เชือกกลายเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความมีสิริมงคล

นอกจากนี้สมัยอดีตกาลเชือกยังมีอีกบทบาทที่สำคัญยิ่ง ในบันทึกของเจิ้งเสวียนสมัยฮั่นตะวันออกได้ระบุไว้ว่ามีการใช้เงื่อนเชือกเป็นตัวแทนของคำมั่นสัญญา หากเป็นคำมั่นสัญญาในเรื่องใหญ่และสำคัญจะขมวดปมให้ใหญ่ หากเป็นเรื่องเล็ก ก็ขมวดเป็นปมเล็ก ดังนั้นเงื่อนจึงกลายเป็นสิ่งที่ชาวจีนเคารพยกย่องนับแต่นั้นมา

คำว่า “เงื่อน” (结) ในภาษาจีนอ่านว่า “เจี๋ย” มีนัยยะของ พละกำลัง ความปรองดอง ความสมบูรณ์พร้อม นอกจากนี้คำว่า “เจี๋ย” ยังออกเสียงคล้ายกับคำว่า “จี๋” (吉 - สิริมงคล) ซึ่งคำว่า “จี๋” นั้นเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมนัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความมั่งมี อายุมั่นขวัญยืน สันติสุข สุขภาพแข็งแรง ดังนั้น “เสิงเจี๋ย” (绳结 – เชือกเงื่อน) จึงเป็นศิลปะที่มีนัยยะแห่งมงคล ซึ่งหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมจีน และสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

เงื่อนมงคลนั้นมีหลายแบบ แต่ละแบบมีชื่อเรียกตามลักษณะของเงื่อน และแต่ละอันก็มีนัยยะอันมงคลแฝงอยู่ทั้งสิ้น ดังเช่น “เงื่อนผานฉาง” (盘长结 – เงื่อนขมวดยาว) เรามักเห็นเงื่อนประเภทนี้ในงานมงคลสมรส เนื่องจากหมายถึงให้บ่าวสาวรักใคร่กลมเกลียว ไม่แยกจากกันชั่วนิรันดร หรือจะแขวนหยกไว้กับเงื่อนหรูอี้ (如意 – เงื่อนสมปรารถนา) ให้ผู้ที่พกพาคิดสิ่งใดสมความปรารถนา แขวนเงื่อนฝ่าหลุน (法轮结 - เงื่อนธรรมจักร) ไว้ที่ด้ามกระบี่ หมายถึง การเวียนธรรมจักรในใจ กล่าวคือ การละทิ้งความชั่ว เผยแผ่ความดีงามนั่นเอง

และในคืนก่อนวันตรุษจีน ตามประเพณีดั้งเดิมผู้มีอาวุโสนิยมใช้เชือกแดงร้อยเหรียญซึ่งมีรูตรงกลางให้เป็นพวง แล้วมอบให้แก่ลูกหลาน เรียกว่า “ยาซุ่ยเฉียน” (压岁钱) หรือก็คือต้นกำเนิดของอั่งเปาในเวลาต่อมา เพื่อให้เด็กๆ อายุยืนยาว ประเพณีสารทขนมจ้าง หรือ ตวนอู่เจี๋ย ชาวจีนก็นิยมใช้ด้ายสีสันต่างๆ ถักเป็นเชือก คล้องคอเด็ก เพื่อขับไล่ปีศาจ เรียกว่า “ด้ายอายุยืน”

นอกจากนี้ ชาวจีนเพื่อแสดงออกถึงความรัก ก็มักใช้สิ่งที่มีความหมายแฝงเพื่อบ่งบอกความในใจ ดังนั้น “เงื่อน” ซึ่งแฝงนัยถึงความรักที่มั่นคงยืนยาว ไม่มีวันเสื่อมคลายจึงได้กลายเป็นของแทนใจระหว่างหนุ่มสาวด้วย




เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น