xs
xsm
sm
md
lg

“มังกรเชิดเศียร” เทศกาลขอฝนบรรเทาแล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขึ้น 2 ค่ำเดือน 2 ตามปฏิทินจันทรคติจีนของทุกปี เป็นเวลาของเทศกาลขอฝนจีนที่เรียกว่า “เทศกาลมังกรเชิดเศียร” (龙抬头节) บ้างเรียก “เทศกาลมังกรฤดูใบไม้ผลิ” (春龙节) หรือ “เทศกาลมังกรเขียว” (青龙节) ซึ่งปีนี้โคจรมาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคมพอดี

ตามทฤษฎีของนักดาราศาสตร์ วันขึ้น 2 ค่ำเดือน 2 เป็นช่วง “แมลงตื่น” กล่าวคือเป็นช่วงระยะดินฟ้าอากาศ 1 ใน 24 ช่วง ซึ่งตรงกับช่วงต้นเดือนมีนาคม พื้นดินเริ่มคลายความหนาว อากาศค่อยๆ อบอุ่นขึ้น ชาวนาชาวไร่อำลาช่วงพักหลังเก็บเกี่ยว กลับมาเริ่มต้นทำงานอีกครั้ง โดยคนโบราณยังเรียกวันนี้ว่าเป็น “เทศกาลไถหว่านฤดูใบไม้ผลิ” ด้วย ดังนั้นช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่พวกเขาต้องการน้ำฝนเป็นอย่างมากเพื่อให้เมล็ดพืชที่หว่านไปเจริญงอกงาม ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “ฝนฤดูใบไม้ผลิมีค่าดุจน้ำมัน” ฉะนั้นกิจกรรมขอฝนจากพญามังกร ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นผู้บรรดาฝนให้ตกจึงได้เริ่มอุบัติขึ้น.....

นอกจากทฤษฎีข้างต้นแล้ว ยังมีตำนานเล่าขานถึงจุดเริ่มต้นของเทศกาลมังกรเชิดเศียรว่าเริ่มต้น ณ สมัยถัง (ค.ศ.618-907) ..ว่ากันว่า เมื่อครั้งที่ “บูเช็คเทียน” (อู่เจ๋อเทียน) สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิหญิงองค์แรกของประวัติศาสตร์จีนนั้น ได้ล่วงเกินเง็กเซียนฮ่องเต้ ทำให้พระองค์ทรงพิโรธเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระบัญชาให้พญามังกรจาก 4 คาบสมุทร งดปล่อยฝนยังโลกมนุษย์ 3 ปี นำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ราษฎรทุกหย่อมหญ้า เสียงร้องไห้โอดครวญดังระงมไปทั่วปฐพี

มังกรหยก (玉龙) ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าธารสวรรค์ไม่อาจทนเห็นชาวบ้านได้รับทุขเวทนาได้ จึงอาศัยตอนที่เง็กเซียนบรรทม แอบบันดาลให้ฝนตกลงมายังโลกมนุษย์ เมื่อเง็กเซียนทราบเรื่องก็พิโรธหนัก ลงโทษมังกรหยกให้ตกสวรรค์ไปอยู่โลกมนุษย์ และเนรมิตเขาลูกใหญ่ทับไว้ ตรงตีนเขามีป้ายปักไว้ว่า “พญามังกรปล่อยฝนขัดมติฟ้า ลงโทษสู่โลกมนุษย์ขังใต้เขา หากคิดหวนคืนตำหนักเทพ ให้รอจนถั่วสีทองออกดอก”

เพื่อช่วยมังกรผู้มีคุณ ชาวบ้านต่างพยายามเสาะแสวงหาถั่วทองที่ออกดอกมาช่วย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึงวันขึ้น 2 ค่ำเดือน 2 ชาวบ้านพากันนำเมล็ดข้าวโพดออกมาตากแดด จู่ๆ ชาวนาคนหนึ่งเฉลียวใจพูดขึ้นว่า “พวกเราดูข้าวโพดสีเหลืองทองนี่สิ มองดูคล้ายถั่วสีทองนัก เอาไปคั่วให้เมล็ดแตก ก็ประหนึ่งถั่วสีทองออกดอกแล้วสิ”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ชาวบ้านต่างพากันคั่วเมล็ดข้าวโพดให้แตกออก และจุดธูป หวังสื่อไปถึงเง็กเซียนและมังกรหยก เมื่อเง็กเซียนเห็นว่า ถั่วทองออกดอกแล้วจริงๆ จึงได้บัญชาปล่อยพญามังกรออกมา และอนุญาตให้กลับขึ้นสวรรค์

เพื่อเป็นการตอบแทนมนุษย์ที่ได้ช่วยเหลือไว้ พญามังกรเชิดเศียรเหินขึ้นฟ้า และพ่นน้ำลงมากลายเป็นสายฝนโปรยปรายสร้างความชุ่มชื่นแก่โลกมนุษย์

อย่างไรก็ตาม แม้ตำนานเกี่ยวกับมังกรเชิดเศียรจะเริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง แต่กว่าจะมีการกำหนดให้วันขึ้น 2 ค่ำเดือน 2 เป็นวันเทศกาลมังกรเชิดเศียรกันจริงๆ จังๆ ก็ล่วงมาถึงราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368) แล้ว โดยเทศกาลนี้ได้รับความนิยมอย่างมากทางตอนเหนือของจีน ตามประเพณีท้องถิ่นชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดตะเกียงออกไปหาบน้ำ ระหว่างทางกลับก็ราดน้ำไปตลอดทาง เรียกประเพณีนี้ว่า “เชิญมังกรหวน” มีนัยยะต้องการให้ฟ้าบันดาลฝนให้ตกในที่นาของตน

นอกจากนั้นในวันนี้ชาวบ้านยังนิยมทานก๋วยเตี๋ยวที่เรียกว่า “ก๋วยเตี๋ยวหนวดมังกร” ทานเกี๊ยวน้ำที่เรียกว่า “ฟันมังกร” ทานแป้งแผ่นที่เรียกว่า “เกล็ดมังกร” ทานข้าวโพดคั่ว ซึ่งแฝงนัยยะว่า “ถั่วทองออกดอก พญามังกรขึ้นสวรรค์ บันดาลฝนตก ทั่วหล้าอุดมสมบูรณ์” และยังมีกิจกรรมรื่นเริงมากมาย รวมไปถึงการเชิดมังกรขอฝน และการตัดผม ซึ่งมีนัยของการทิ้งสิ่งเก่า ต้อนรับสิ่งใหม่ ด้วย




เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น