xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นมังกรละลายเงิน7ล้านๆ เชื่อไม่ซ้ำรอยวิกฤติญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ – ปัจจัยจากทั้งในและนอกประเทศที่ได้โหมรุมตลาดหลักทรัพย์มังกรในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ได้ทำให้มูลค่าตลาดรวมเมื่อไม่นับหุ้นที่จดทะเบียนเข้ามาใหม่นั้น สูญไปแล้วกว่า 7 ล้านล้านหยวน ขณะที่ราคาหุ้นเฉลี่ยในตลาดลดลงกว่า 18% อย่างไรก็ตาม นายอี้กัง รองผู้ว่าฯแบงก์ชาติจีนยืนยันว่าแม้จีนขณะนี้จะคล้ายกับญี่ปุ่นตอนฟองสบู่แตก แต่จีนจะไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

นับตั้งแต่ต้นปี 2008 เป็นต้นมา แม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้จะมีการรีบาวน์ขึ้นมาบ้างเล็กน้อย ทว่าหลังการที่มีหุ้นหลายบริษัทที่หลุดจากการบังคับห้ามจำหน่าย บวกกับการระดมทุนรอบสอง ที่เพิ่มแรงกดดันให้กับตลาดที่กำลังร่วงอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้นับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2007 เป็นต้นมา การปรับตัวลงของมาตรฐานราคาหุ้นจีนได้ลดลงเป็นอย่างมาก

โดยจากการรวบรวมสถิติในวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้นในกระดานเอมีมูลค่าตลาดรวม (market cap) อยู่ที่ 33.67 ล้านล้านหยวน ต่ำกว่าเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2007 ที่มีอยู่ 35.86 ล้านล้านหยวน ซึ่งในความเป็นจริง หากหักลบมูลค่าหุ้นของบริษัท ปิโตรไชน่า , ไชน่า แปซิฟิก อันชัวรันซ์ ,ไชน่า เรลเวย์ และไชน่า โอเวอร์ซี ที่เพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดแล้ว ปัจจุบันมูลค่าตลาดรวมเดิมจะเหลืออยู่เพียง 28.65 ล้านล้านหยวน ซึ่งหากเทียบกับวันที่ 16 ต.ค.แล้ว หายไปถึง 7.21 ล้านล้ายหยวน ซึ่งเพียงแค่หุ้นหลักๆ 3 รายการอย่างไชน่า ไลฟ์ อันชัวรันซ์,ไชน่า เสินหัว เอ็นเนอร์จี และไชน่า ปิโตรเลียม แอนด์ เคมิคอล (ซิโนเปค) ก็ทำให้มูลค่าตลาดหายไปแล้วมากกว่า 70 ล้านหยวน

นอกจากนั้น ในขณะที่มูลค่าตลาดรวมกำลังลดลงอย่างมหาศาล ราคาของหุ้นในตลาดกระดานเอก็ลดลงไปเป็นเงาตามตัว จากสถิติชี้ให้เห็นว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ตลาดหลักทรัพย์มีบริษัทจดทะเบียนที่สามารถซื้อขายได้ทั้งสิ้น 1,463 บริษัท ตลาดหุ้นมีราคาเฉลี่ยหุ้นละ 24.65 หยวน แต่เมื่อมาถึงวันที่ 29 ก.พ. 2008 จำนวนบริษัทเพิ่มเป็น 1,514 บริษัท แต่ราคาหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 20.7 หยวนหรือตกลง 4.58 หยวนต่อหุ้น คิดเป็น 18.59%

จากการที่ราคาโดยรวมตกวูบลง ยังส่งผลให้อัตราการทำกำไรในตลาดกระดานเอลดลงตามไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อคำนวณตัวเลขผลกำไรสุทธิหลังไตรมาส 3 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปี 2007 หุ้นกระดานเอในช่วง 4 เดือนนี้มีอัตราการทำกำไรเฉลี่ยลดลง 27.04%

ศึกชิงลดค่าคอมมิชชั่น

นับจากเดือนต.ค. 2007 การเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แบบถล่มทลายเหมือนช่วงตลอดปีที่เป็นมาเริ่มหายไป ผู้ลงทุนที่เริ่มทำเงินได้น้อยลง หรือทำเงินในตลาดหลักทรัพย์ได้ยากขึ้นก็เริ่มที่จะเพิ่งเล็งประเด็นไปที่การลดต้นทุนในการเล่นหุ้น ซึ่งตัวเดียวที่พอจะยืดหยุ่นได้ก็คือค่าคอมมิชชั่น และโปรโมชั่นอื่นๆ โดยเฉพาะหลังจากเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2007 ทางการจีนได้มีการปรับอัตราภาษีอากรแสตมป์ขึ้นจาก 1% เป็น 3% ทำให้การซื้อขายแต่ละครั้งนั้นจะมีค่าใช้จ่ายได้แก่ภาษีอากรแสตมป์ 3% ค่าธรรมเนียมต่างๆราว 0.2% และคอมมิชชั่น 1-2% ทำให้การซื้อขายนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 4.7%-5% จากการที่ผู้ลงทุนไม่มีสิทธิ์อะไรในการต่อรองอัตราภาษีอากรแสตมป์ ยิ่งทำให้หลายคนรวมถึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนค่าคอมมิชชั่นมากขึ้น จนกลายเป็นแนวทางในการแย่งลูกค้าของบรรดาโบรกเกอร์

อย่างเช่นธนาคารแห่งหนึ่ง หากใครเปิดบัญชีสำหรับซื้อขายหุ้น ก็จะมีการมอบของที่ระลึกให้ฟรี หรือบางธนาคารก็ใช้วิธีการลดค่าธรรมเนียมในการเปิดบัญชี 15% และในขณะนี้ก็จะพบว่า โบรกเกอร์เริ่มมีการบอกลดราคาค่าคอมมิชชั่นกันแบบตรงๆ เช่นเมื่อเดินเข้าไปเราอาจจะพบโบรกเกอร์ที่เดินมาบอกว่า “ที่จริงค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทกำหนดไว้อยู่ที่ 1.5% แต่ว่าผมสามารถช่วยจัดการให้คุณในราคาเพียง 0.8% เท่านั้น หลังจากนั้นก็แสดงทีท่ามั่นใจระบุว่า ถ้าหากเงินลงทุนของคุณมากกว่า 1,000,000 หยวนขึ้นไป ผมยังสามารถลดราคาให้คุณเหลือแค่ 0.6% หรือต่ำกว่านั้นได้”

มั่นใจไม่เกิดวิกฤติการเงิน

ปัญหาตลาดหุ้นจีนที่ตกวูบนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจมหภาคในตลาดโลก จนทำให้หลายฝ่ายวิตกว่า อาจจะยังผลให้เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้นกับจีน และทำให้จีนเดินตามรอยฟองสูบู่แตกเหมือนกับญี่ปุ่น ต่อประเด็นดังกล่าวคุณอี้กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) ได้ออกมาระบุว่า “ ปัจจุบัน แม้สภาพเศรษฐกิจของจีนมีส่วนคล้ายคลึงกับญี่ปุ่นในสมัยนั้นอยู่บ้าง แต่ก็มีส่วนที่ยังแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด”

โดยคุณอี้กังมองว่า เรื่องค่าเงินเป็นความแตกต่างของจีนกับญี่ปุ่นในอดีต เนื่องจากค่าเงินสกุลเหรินหมินปี้ในขณะนี้อยู่ในระดับที่กำลังพอเหมาะ ไม่เหมือนกับญี่ปุ่นก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยนโยบายการเงินของจีนในปัจจุบันจะต้องรักษาสถานะ “รุกได้ - ถอยได้” ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวประกันไม่ให้เกิดวิกฤติขึ้น

อี้กังได้อธิบายว่า การที่ขณะนี้ค่าเงินจีนเกิดสภาพแปลกประหลาด กล่าวคือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ แต่มีมูลค่าน้อยลงในประเทศนั้น แท้จริงเป็นการปรับสภาพ อันเนื่องมาจากสินค้าและทุนจีนนั้นยังมีราคาที่ถูกมากในตลาดต่างประเทศ จึงบังเกิดเป็นสภาพเช่นนี้

การที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นนั้น ยังมีเบื้องหลังมาจากการที่ “เงินทุนจากตลาดใหม่ไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก” นี่เป็นขั้นตอนการปรับสภาพทางการเงินของทั่วโลก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบการแข็งค่าของเงินหยวนกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังจัดอยู่ในระดับกลางล่าง

อย่างไรก็ตาม อี้กังได้ระบุว่า การที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆนั้น จะเป็นการเพิ่มกำลังการซื้อสินค้าและบริการจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น เช่นในปัจจุบันจีนมีปริมาณการนำเข้าน้ำมัน ถั่วเหลืองและทรัพยากรต่างๆเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถได้สินค้าจำเป็นเหล่านี้ในราคาที่ถูกลง
กำลังโหลดความคิดเห็น