ซินหัว – นักโบราณคดีจีนต่อจิ๊กซอว์ภาพประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) ได้อีกชิ้นหนึ่ง เมื่อผลการศึกษาจารึกบนแผ่นป้ายหลุมฝังศพสมัยศตวรรษที่ 9 เปิดเผยให้เห็นความเป็นไปได้อย่างมากที่สุดว่า ศาสนาคริสต์อาจได้รับความนิยมศรัทธาในหมู่ราษฎรสมัยนั้น
แผ่นป้ายหลุมฝังศพชิ้นดังกล่าวขุดพบในเมืองลั่วหยัง,มณฑลเหอหนัน ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของจีนเมื่อปีค.ศ.2006 มีลักษณะแปดด้าน อยู่ในสภาพที่ยังไม่พังเสียหายทั้งหมด บนแผ่นป้ายมีจารึกคัมภีร์ไบเบิ้ลของศาสนาคริสต์นิกายเนสเทอเรียน(NESTORIAN CHURCH) หรือจิงเจี้ยว(คัมภีร์คำสอนศาสนา) โดยนิกายดังกล่าวมีต้นกำเนิดในเปอร์เซีย นอกจากนั้น ยังมีรูปไม้กางเขนสลักบนแผ่นป้ายอีกด้วย
“ จริง ๆ แล้ว เนื้อหาในจารึกนั้นเป็นการแสดงความรู้เกี่ยวกับพระธรรมในศาสนาคริสต์ เขียนโดยบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งอาศัยในจีนมานานในช่วงปลายศตวรรษที่ 8” หลัวจ้าว นักวิจัยด้านศาสนาของสถาบันรัฐศาสตร์จีนอธิบาย
เขาระบุว่า นับเป็นการค้นพบแผ่นป้ายหลุมศพ ซึ่งจารึกเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิ้ลนิกายเนสเทอเรียนเป็นครั้งแรก ในขณะที่แผ่นป้ายหลุมศพ ซึ่งจารึกพระธรรมในพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคทองแห่งพุทธศาสนาของจีน
นักโบราณคดีจีนเชื่อว่า การค้นพบครั้งนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการค้นพบแผ่นหินโบราณของนิกายเนสเทอเรียนในนครซีอาน (ฉางอัน) เมืองหลวงสมัยราชวงศ์ถังเมื่อปี ค.ศ.1623 แผ่นหินชิ้นนั้น จารึกในปีค.ศ.781 ซึ่งได้ช่วยให้คนยุคหลังได้ทราบเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับการแผ่ขยายของศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าวในช่วง 50 ปี ภายหลังจากนิกายนี้ได้เผยแผ่มาถึงดินแดนจีน โดยมาตามเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าเชื่อมระหว่างจีนกับชาติในเอเชีย และยุโรป
“ใครจะไปนึกนะครับว่า มีคริสต์ศาสนิกชนชาวจีนได้จารึกถ้อยความในคัมภีร์ไบเบิ้ลบนป้ายหลุมศพ ซึ่งเป็นถ้อยความที่ใช้อ่านในพิธีศพ เพื่อสวดส่งวิญญาณผู้ตาย”หลินอู่ซูศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยซุนยัตเซนในเมืองกว่างโจวกล่าว โดยเขาเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง ที่อุทิศตัวศึกษาเกี่ยวกับจิงเจี้ยว
แผ่นป้ายหลุมศพที่เมืองลั่วหยังเป็นของคนในตระกูลอัน นอกจากจารึกเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนาแล้ว ยังให้ข้อมูลสำคัญอื่น ๆ อีกหลายอย่าง เช่นข้อมูลเกี่ยวกับโบสถ์ และกลุ่มผู้นับถือในสมัยโบราณนั้น