ซินหัวเน็ต-สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของจีน(CMA)กล่าวเมื่อวันพุธ(20 ก.พ.)ว่า ช่วงฤดูใบไม้ผลิ(มกราคม-มีนาคม) พื้นที่ทางภาคเหนือของจีนมีโอกาสประสบกับพายุทรายรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น ขณะที่พื้นที่ทางภาคตะวันออกของจีนจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว
สำนักงานฯคาดการณ์ว่า พายุทรายจะเพิ่มความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และมณฑลเหอเป่ย ขณะที่พื้นที่ทางภาคตะวันออก จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยลง โดยเฉพาะในมณฑลจี๋หลินและเหลียวหนิงที่อาจประสบภัยแล้งรุนแรง สำนักงานฯจึงเตือนกรมป่าไม้ให้เพิ่มความระมัดระวังเรื่องไฟป่า
นอกจากนี้นักอุตุนิยมวิทยายังกล่าวว่า การคาดการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ลานีญาซึ่งตรงข้ามกับปรากฏการณ์เอลนีโญ และการไหลเวียนของชั้นบรรยากาศที่ผิดปรกติ และปรากฏการณ์ลานีญายังเป็นสาเหตุของพายุหิมะครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีที่พัดถล่มมณฑลต่างๆ 21 แห่งทางภาคกลางและภาคเหนือของจีน รวมถึงอุณหภูมิที่ลดต่ำลง สังหารชีวิตประชาชนไป 107 ราย สร้างความเสียหายมูลค่า 111,100 ล้านหยวน
ทั้งนี้ เอล นิโญ (El Nino) คือ การไหลย้อนกลับของผิวน้ำทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่งๆ จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกไปแทนที่กระแสน้ำเย็นที่พัดอยู่เดิมตามบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและบริเวณชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ (เอกวาดอร์ เปรูและซิลีตอนเหนือ) ขณะที่ลานีญา (La Nina) คือความผันผวนของสภาพอากาศโลก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ช่วงระยะเวลาเย็นลงของน้ำทะเลของปรากฏการณ์เอลนิโญ โดยจะส่งผลให้พื้นที่ที่เคยมีอากาศหนาวเย็นอยู่แล้วมีอุณหภูมิลดต่ำลงไปอีก และในบริเวณที่มีฝนตกเป็นประจำจะมีฝนตกชุกยิ่งขึ้น
เจียวเหมยเหยียน ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติกล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดจากสภาพอากาศรุนแรงจะทวีความรุนแรงขึ้น หากจีนยังไม่สามารถแก้จุดอ่อนในการพยากรณ์สภาพอากาศ เนื่องจากการพยากรณ์อากาศจะทำให้มนุษย์เตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากสภาพอากาศได้ เช่น นักพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่าจะมีหิมะตกหนักในหลายพื้นที่ของจีน แต่ไม่ได้คาดการณ์ระยะเวลาและปริมาณหิมะ หรือผลกระทบต่อการจราจรและการแจกจ่ายพลังงานแต่อย่างใด ทำให้ที่ผ่านมาจีนต้องสูญทั้งเงินและชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนมาก.