xs
xsm
sm
md
lg

คลื่นลูกใหม่ตบเท้าพลิกโฉมฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลุ่มคนจีนระดับหัวกะทิจากทั่วโลกที่ไม่ได้เป็นชาวฮ่องกงโดยกำเนิดและพูดภาษากวางตุ้งไม่ได้ แต่เข้ามามีอิทธิพลในสายอาชีพสำคัญที่ส่งผลต่อความเป็นไปของเกาะฮ่องกง กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนก่อเกิดเป็นตำนานหน้าใหม่ของ “คนฮ่องกงรุ่นใหม่”

ยุคสมัยใหม่ของฮ่องกงเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 1985 หลังจากที่รัฐบาลจีนและอังกฤษร่วมลงนามในแถลงการณ์คืนเกาะฮ่องกงสู่มาตุภูมิ ในเวลานั้นคนฮ่องกงจำนวนมากที่ไม่แน่ใจต่ออนาคตของฮ่องกง ได้พากันย้ายถิ่นฐานระลอกใหญ่ไปยังต่างประเทศ แต่ “คนฮ่องกงรุ่นใหม่” กลับทยอยเดินทางสู่ดินแดนแห่งนี้เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ตามที่พวกเขาฝันไว้

เมื่อถึงปี 1995 ทางการจีนผ่อนปรนให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ย้ายถิ่นฐานมายังฮ่องกงจากวันละ 75 คนเพิ่มเป็นอีกเท่าตัว ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่อพยพมายังฮ่องกงเฉลี่ยปีละราว 50,000 คน เมื่อคำนวณตั้งแต่ช่วงปี 80 จนถึงปัจจุบัน จำนวนคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่มาจากทุกมุมโลก คาดว่ารวมแล้วมากเกือบ 1 ล้านคน หรือ 1 ใน 7 ของจำนวนประชากรฮ่องกง

ทั้งนี้ 4 ใน 5 ของประชากรฮ่องกงที่มีอยู่ทั้งหมดราว 7 ล้านคน ไม่ใช่คนฮ่องกงโดยกำเนิด ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวจีนที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และที่อื่นๆ เช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ รวมทั้งจากทั่วทุกมุมโลก

ระดับการศึกษาของผู้ย้ายถิ่นฐานสูงขึ้น

รัฐบาลฮ่องกงทำการสำรวจในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2005 พบว่า ระดับการศึกษาของชาวจีนที่เพิ่งอพยพมายังฮ่องกงจำนวน 12,000 กว่าคน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่อพยพมาเมื่อปี 2000 ผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 57.7% เป็น 75.8% ส่วนผู้ที่ได้รับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยและสูงขึ้นไปก็เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 93% ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สมาคมไห่เสียว์เหลียน (居港大陆海外学人联合会(海学联)- Association of Mainland Overseas - Returned Scholars in Hong Kong) ซึ่งสมาชิกเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศและกลับมาตั้งรกราก ทำงาน สร้างตัวที่ฮ่องกง มีสมาชิกมากถึง 50,000 คน

นอกจากนี้ หลังจากปี 1997 ที่รัฐบาลปักกิ่งเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างจีนและฮ่องกง ทำให้หนุ่มสาวที่มาศึกษาต่อด้วยทุนตัวเองหรือผู้ที่ถือใบอนุญาตทำงานในฮ่องกงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงในปี 2006 ผู้ที่ถือใบอนุญาตทำงานมีจำนวน 5,656 คน และผู้ที่มาศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยมีจำนวน 5,000 คน รวมแล้วในช่วง 10 ปีหลังจากที่ฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิ นักศึกษาจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนราว 30,000 กว่าคนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของฮ่องกง

กลุ่มคนฮ่องกงรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นชาวจีนระดับหัวกะทิ ที่ทั้งเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกและสามารถหลอมรวมเข้ากับสังคมฮ่องกง อีกทั้งยังคุ้นเคยกับความเป็นจีน คนกลุ่มนี้ไม่โต้เถียงระหว่างแนวคิด “รักชาติรักฮ่องกง” กับ “นิยมประชาธิปไตย” ทั้งไม่ขัดแย้งหรือเข้าพวกกับกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มธุรกิจใด ยิ่งไม่ใช่พวกที่ต่อต้านรัฐบาลปักกิ่ง คนกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยคุ้นเคยกับประชาธิปไตยแบบตะวันตก และมีประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมืองในไต้หวัน สิงคโปร์ หรือจีนแผ่นดินใหญ่

คนกลุ่มนี้จึงมองความขัดแย้งทางการเมืองและในสังคมของฮ่องกงอย่างมีเหตุมีผล และมีจำนวนไม่น้อยที่หลังจากประสบความสำเร็จในวิชาชีพที่เชี่ยวชาญแล้ว พวกเขายังต้องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้านการเมืองและสังคมของฮ่องกงอีกด้วย โดยหลังจากที่ฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิและมีการตั้งคณะนโยบายกลางเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ทางการได้เชิญให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา คนฮ่องกงรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งซึ่งมาจากสายวิชาชีพต่างๆ เช่น วิชาการ ธุรกิจ และสื่อสารมวลชน เป็นต้น ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ดร. จูเหวินฮุย นักวิเคราะห์ประจำสถานีโทรทัศน์ฟีนิกซ์ เป็นหนึ่งในคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาไม่ประจำของคณะนโยบายฯ เมื่อปลายปี 2005

ดร. จู เดินทางมาฮ่องกงเมื่อปี 1994 ในฐานะนักวิชาการที่มาเยือน และเพราะความจำเป็นประกอบกับความชอบจึงตัดสินใจตั้งรกรากที่ฮ่องกง ระหว่างนั้นเขาทำวิจัยและศึกษาในหลายโครงการ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ความสมานฉันท์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ และเขายังเคยได้รับเชิญจากสถาบันบรุกกิ้งส์ ให้เป็นตัวแทนจากฮ่องกงเยี่ยมชมสถาบันเมื่อปี 2004

ในความเห็นของดร. จู ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีอิทธิพลต่อความรุ่งโรจน์ของจีน ในด้านซอฟต์แวร์ฮ่องกงมีความใกล้ชิดกับตะวันตก แต่ในด้านฮาร์ดแวร์ฮ่องกงใกล้ชิดกับจีนมากกว่า ด้านหนึ่งฮ่องกงจำเป็นต้องแสดงภาพลักษณ์การเป็นเวทีนานาชาติ ที่ต้องการความฟู่ฟ่าแบบสากล และอีกด้านจำต้องเร่งหลอมรวมเข้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งต้องการมีแนวคิดแบบจีนมากขึ้น

นอกจากนี้ ดร. จูเห็นว่าเนื่องจากลักษณะเฉพาะทางสังคมของฮ่องกง เมื่อฮ่องกงกลับสู่มาตุภูมิได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ พัฒนาการและการกำหนดฐานะใหม่ของฮ่องกง เป็นตัวกำหนดแล้วว่าฮ่องกงต้องการคนหน้าใหม่จำนวนมากขึ้นให้เข้ามามีส่วนร่วม

ที่ผ่านมารัฐบาลฮ่องกงผลักดันโครงการต่างๆ ที่มุ่งดึงดูดผู้มีความสามารถมาสู่ฮ่องกงอยู่ตลอดเวลา เช่น ส่งเสริมนักเรียนจีนเรียนต่อที่ฮ่องกง โครงการคนเก่งโพ้นทะเล เป็นต้น ทำให้ผู้มีความสามารถจากนานาประเทศหลั่งไหลสู่ฮ่องกงกลายเป็นกลุ่มคนฮ่องกงรุ่นใหม่ เช่น หลี่หยุนตี๋และล่างล่างนักเปียโนฝีมือดี หลี่จิ้งและเกาหลี่เจ๋อนักกีฬาปิงปอง ต่างทยอยเข้ามาเป็นประชากรฮ่องกงและเป็นที่ชื่นชอบของคนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีคนฮ่องกงรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่เป็นระดับหัวกะทิคึกคักอยู่ในวงการการเงิน วิชาการ ธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

หูเหยี่ยปี้ ประธานวิชั่น ไฟแนนซ์ กรุ๊ป เป็นหนึ่งในคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทด้านธุรกิจของฮ่องกง พื้นเพเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ได้ละทิ้งยุโรปมาตั้งรกรากที่ฮ่องกงเมื่อปี 1991 เขาเป็น 1 ใน 3 ผู้เชี่ยวชาญรุ่นแรกที่ฮ่องกงนำเข้ามา ทั้งนี้หูเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และอุทิศตนในภาคการเงินของฮ่องกงมาเกือบ 10 ปีแล้ว เมื่อปี 2000 หูเริ่มตั้งบริษัทของตนเองในฮ่องกงคือธนาคารเพื่อการลงทุนที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและความคึกคักของภาคการเงินฮ่องกง ช่วยส่งให้กิจการของวิชั่น ไฟแนนซ์ กรุ๊ปมั่นคงขึ้นเป็นลำดับ

หูเป็นนักธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเขาเข้าร่วมสมาคมนักเรียนนอก และเป็นประธานสมาพันธ์เยาวชนของคนฮ่องกง เข้าร่วมกิจกรรมมากมาย นอกจากนี้ เขายังใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนในละแวกที่เขาอยู่อาศัย มีครั้งหนึ่งรถแท็กซี่หยุดบริการในท้องที่ที่เขาอาศัยอยู่ ทำให้ผู้อยู่อาศัยในย่านนั้นเดินทางไม่สะดวก เขาจึงขอเป็นตัวแทนเจรจากับรัฐบาล หูกล่าวว่าแม้เขาจะไม่ใช่คนฮ่องกงโดยกำเนิด ไม่ได้รับการศึกษาในฮ่องกง แต่ฮ่องกงในปัจจุบันและอนาคตมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับคนฮ่องกงทุกคนที่อาศัยอยู่ในที่นี้

คนฮ่องกงรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในฮ่องกงมากว่า 20 ปี มักไม่พอใจอยู่เพียงในสายวิชาชีพที่เชี่ยวชาญ พวกเขายังต้องการก้าวออกมาอุทิศตนแก่สังคมและการเมืองของฮ่องกง ดังเช่นเมื่อแผนปฏิรูปการเมืองของโดนัลด์ เจิง ผู้ว่าการฮ่องกงคนปัจจุบันถูกปฏิเสธเมื่อปี 2006 การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหารัฐบาลชุดแรกของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง (The Selection Committee for the First Government of the Hong Kong Special Administrative Region) จำนวน 800 คนจึงเกิดขึ้น ซึ่งคนฮ่องกงรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งร่วมแข่งขันด้วย จากเดิมที่มักมีแต่นักการเมืองหน้าเก่าๆ ลงสนาม

ตัวอย่างที่ชัดเจนของคนฮ่องกงรุ่นใหม่ ที่มีความตั้งใจจริงอยากมีส่วนร่วมในสังคมของฮ่องกง เช่น เหยียนหง อาจารย์ประจำภาควิชาลอจิสติกส์มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง เป็นชาวเสฉวน จบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา และมาทำงานเป็นอาจารย์ที่ฮ่องกงตั้งแต่ปี 1993 เหยียนหงเห็นว่า สังคมของฮ่องกงเป็นสังคมที่สร้างสรรค์โดยคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง “สมัยที่พวกต่งเจี้ยนหัวเข้ามามาพร้อมเงิน และคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งนำแรงงานเข้ามา ส่วนพวกเรานำเข้าความรู้”

เหยียนหงเป็นหนึ่งในกลุ่มคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ก้าวออกมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมไห่เสียว์เหลียน ถึงเขาจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น แต่เขาจะยังคงหาโอกาสก้าวเข้ามามีส่วนร่วมต่อไป นอกจากนี้ เหยียนหงและระดับแกนนำของสมาคมไห่เสียว์เหลียน ยังร่วมกันวิจัยและออกหนังสือเสนอแนะการปฏิรูประบบการเมืองของฮ่องกง

ด้วยลักษณะเฉพาะของฮ่องกง ที่มีการปกครองแบบหนึ่งประเทศสองระบบ มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองหลวงด้านเศรษฐกิจของประเทศจีน และเป็นไปได้ที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งการค้นคว้าด้านวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์อีกด้วย นอกจากนี้ ลักษณะเฉพาะของฮ่องกงยังทำให้ฮ่องกงมีความหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคม ดังนั้นรัฐบาลฮ่องกงจึงตระหนักดีถึงความจำเป็นที่ต้องต้อนรับผู้มีความสามารถจากทุกมุมโลก และยินดีรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลเหล่านี้

อีกตัวอย่างของคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ต้องการอุทิศตนแก่สังคมที่เขาพึ่งพาได้แก่ พานอี้ว์เสียง เขาย้ายครอบครัวจากออสเตรเลียมายังฮ่องกง เนื่องจากภรรยาต้องมาทำงานด้านการเงินที่ฮ่องกง เมื่อช่วงปลายปี 80 ของศตวรรษที่แล้วพานได้จากบ้านเกิดเซี่ยงไฮ้เพื่อไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย และคว้าปริญญาเอกมาได้หลังจากนั้น 5 ปี จากนั้นเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบริการธนบดีรุ่นแรกของธนาคาร Westpac Bank ของออสเตรเลีย

พานเริ่มทำงานด้านสังคมครั้งแรก โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยในออสเตรเลีย รับผิดชอบดูแลชาวจีนในชุมชนที่มีจำนวนราว 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนจากฮ่องกงและไต้หวันที่อพยพไปออสเตรเลียช่วงราวปี 1997 ก่อนที่ฮ่องกงจะกลับสู่มาตุภูมิ นอกจากนี้พานยังก่อตั้งสมาคมสิงโตเพื่อดูแลด้านสาธารณสุขในเขต พานจึงมีผ่านประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมมามาก

ปี 2005 ที่พานย้ายมาฮ่องกง เขาทำงานด้านการเงินในสถาบันการเงินข้ามชาติ ซึ่งคลุกคลีกับกลุ่มนักเรียนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เคยศึกษาในต่างประเทศ พานกล่าวว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนคนอพยพมายังฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก และคนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ทางชีวิตและการทำงานที่หลากหลาย แต่หากจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของฮ่องกง จำต้องได้รับการสนับสนุนจากคนท้องถิ่น ซึ่งการทำตัวกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นก็เป็นหนทางหนึ่ง พานเห็นว่า “นักเรียนนอกระดับหัวกะทิที่กลับมาทำงานในฮ่องกงล้วนทำงานในระดับสูง ให้ความรู้สึกไม่ติดดิน จำเป็นต้องลดระดับลงมา”

ในปัจจุบันฮ่องกงได้เข้าสู่ยุคสังคมของความรู้ หัวกะทิของคนรุ่นใหม่ฮ่องกงส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาสูงและมีแนวคิดแบบสากล ซึ่งเป็นอีกแรงหนึ่งที่ผลักดันให้รูปแบบสังคมฮ่องกงเปลี่ยนไป หัวกะทิเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จในสายวิชาชีพของตนแล้ว และเริ่มแสดงความตั้งใจที่จะมีส่วนร่วมทำงานรับผิดชอบสังคมและทำงานด้านการเมือง ซึ่งจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงฮ่องกง

ปัจจุบันกลุ่มคนฮ่องกงรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสายวิชาชีพต่างๆ เช่น ทนายความ นักการธนาคาร นักบัญชี อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้จัดการกองทุน เป็นต้น ได้รวมกลุ่มกันเป็น คอนคอร์ด ซาลอน (协和沙龙 - Concord Salon) ทุกสุดสัปดาห์ของทุกเดือนหรือสองเดือนจะรวมตัวกันใช้ภาษาจีนกลางคำอังกฤษคำ และภาษากวางตุ้งที่ออกเสียงไม่ชัดเจนนัก ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองและสังคมของฮ่องกง ซึ่งแต่ละครั้งจะเชิญวิทยากรหรือนักพูดที่มีชื่อเสียงมาร่วมแสดงความเห็นและให้ข้อมูลด้วย

ในการชุมนุมครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2007 คอนคอร์ด ซาลอนได้เชิญเหลียงเจิ้นอิง ผู้ประสานงานของคณะกรรมการบริหาร (行政会议- Executive Council - หน่วยงานราชการซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกงในการตัดสินใจนโยบายต่างๆ) มาเป็นวิทยากรรับเชิญมาพูดในหัวข้อ ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างฮ่องกงและประเทศจีนด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ในครั้งนั้นมีคนร่วมชุมนุมราว 30 คน และความสนใจร่วมซักถามเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาฮ่องกง วิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคต และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เหลียงเจิ้นอิงตอบข้อซักถามพร้อมแสดงความเห็น หวังว่าคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวเฉพาะสายวิชาชีพต่างๆ จะมีส่วนร่วมกับฮ่องกงมากขึ้น

บุคคลที่ประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงในสายวิชาชีพต่างๆ เช่น การเมือง ธุรกิจ หรือวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้เริ่มต้นมาจากคนฮ่องกงรุ่นใหม่ที่ย้ายถิ่นฐานมายังฮ่องกงเมื่อช่วงปี 40-50 ของศตวรรษที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นต่งเจี้ยนหัว ผู้ว่าการคนแรกของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง หลี่เจียเฉิง มหาเศรษฐีติดอันดับโลก หรือแม้แต่กิมย้ง นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของผลงานอมตะ ‘มังกรหยก’ ล้วนเป็นคนฮ่องกงรุ่นใหม่ในยุคสมัยนั้น ซึ่งร่วมกันถักทอความฝันอันงดงามของฮ่องกง บนผืนแผ่นดินที่มีอิสระที่สุดภายใต้ระบบกฎหมายแห่งนี้ในประเทศจีน

ช่วงก่อนและหลังที่การกลับสู่มาตุภูมิ ฮ่องกงได้เริ่มต้นความฝันใหม่ เพื่อเปลี่ยนโฉมหน้าสู่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ให้ความสำคัญแก่การสร้างความปรองดองและประชาธิปไตย.
กำลังโหลดความคิดเห็น