ในวันวาเลนไทน์ของทุกปี วิวาทะว่าด้วย คุณค่าระหว่างค่านิยมตะวันออก กับ ตะวันตกมักกลายเป็นเรื่องถกเถียงอยู่เสมอ จนวันแห่งความรัก ถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นสมรภูมิรบประหนึ่งสงครามระหว่างศีลธรรม(?) กับ SEX บาปที่ต้องควบคุม
ประเด็นที่ถูกหยิบยกมา เป็นหัวข้อวิวาทะในสมรภูมิวาเลนไทน์ตลอดคือเรื่อง “เซ็กซ์” อาทิ “การเสียตัวของวัยรุ่น” และ “ความรักเชิงชู้สาว” ประเด็นเหล่านี้ล้วนถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเสื่อมทรามของศีลธรรม และคุณค่าแบบตะวันออก โดยความเสื่อมเหล่านี้ มักถูกตีตราอย่างมักง่ายว่า เป็นความประหลาด ผิดเพี้ยน ที่รับมากจากกระแสวัฒนธรรมตะวันตก
อย่างไรก็ตามมิติเกี่ยวกับ “ความคิดเรื่องเพศ” และ “ศีลธรรมทางเพศ” ในแต่ละสังคมต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงของบริบททางเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคม ทั้งสิ้น ฉะนั้นการรับวัฒนธรรม และค่านิยมตะวันตกอย่างเดียวจึงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างโดดๆ
เหมือนสังคมไทยที่พยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวาเลนไทน์ฉบับไทย จีนเองก็พยายามรณรงค์ให้วันชีซี1 หรือ วันแห่งความรักของจีน ซึ่งตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติเป็นวันวาเลนไทน์ฉบับจีน ทว่าความพยายามของทั้งไทยและจีนต่างประสบความล้มเหลว “วาเลนไทน์ฝรั่ง” กลับได้รับความนิยมกว่า
ที่เป็นเช่นนี้เพราะสภาพเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคมในปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อวาเลนไทน์ฉบับตะวันออกที่พยายามเน้นสร้าง “ความรักในรูปแบบอื่นที่มิใช่ชู้สาว และไม่มีความสัมพันธ์ทางเพศมาเกี่ยว”
เรื่องเพศ แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่แท้จริงแล้วมิสามารถแยกออกจากปัจจัยภายนอกอื่นๆได้ ความหฤหรรษ์ทางเพศล้วนถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจ2 การเสพเพศรสระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในซ่องย่อมแตกต่างกัน ด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า นักเที่ยวสามารถซื้อความสุขทางเพศ และเสพความหฤหรรษ์ได้อย่างอิ่มเอม ทว่าในมุมกลับ ผู้ให้บริการขายเรือนร่างมิได้เสพความหฤหรรษ์อย่างอิ่มเอมเฉกเช่นผู้ซื้อ เนื่องจากร่างกายของเธอถูกเปลี่ยนเป็นเพียงสินค้า ที่สร้างอรรถประโยชน์ให้กับผู้ซื้อ ท่วงท่า และทำนองเริงรัก จึงขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า เธอมิสามารถต่อต้าน ขัดขืนทำตามความต้องการของตนได้ การบรรลุเพศรสจึงต่างกันด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ
ส่วนเงื่อนไขทางการเมืองนั้น “เรื่องเพศเป็นเรื่องการเมืองเสมอ” นอกจากความขัดแย้งระหว่างอำนาจ ของ “ผู้ชาย” กับ “ผู้หญิง” แล้ว เพศยังเป็นการต่อสู้ขัดขืนระหว่างอำนาจรัฐกับพลเมือง
ฟูโกต์3 ชี้ว่า สมัยก่อนเทคโนโลยีแห่งอำนาจของรัฐ เป็นเรื่องของการผูกขาดชี้เป็นชี้ตาย (To take life or let live) ชะตาชีวิตของพลเมือง ทว่าจากการควบคุมอย่าง “หยาบๆ” เทคโนโลยีแห่งอำนาจถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นการส่งเสริมชีวิต และปัดป้องห้ามพลเมืองตาย (To foster life or disallow it to the point of death) เนื่องจากความตายเท่ากับการหลุดพ้นจากการควบคุมของรัฐ รัฐสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลควบคุมการกระทำ และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในทุกมิติไม่เว้นแม้แต่เรื่อง “เพศ”4
รัฐเข้าควมคุมพฤติกรรม และความคิดเรื่องเพศผ่านสถาบันการสมรส, ศาสนา, การแพทย์, สาธารณสุข, และวิทยาศาสตร์ การควบคุมเรื่องเพศของรัฐเป็นไปอย่างแนบเนียนจนเรื่องเพศถูกถอนความเป็นการเมืองออกไป (Depoliticize) กล่าวคือ ห้ามถกเถียง หรือตั้งข้อสงสัยต่อศีลธรรม และความประพฤติทางเพศที่เป็นบรรทัดฐานหลักในสังคม หากใครริอาจตั้งคำถามก็อาจถูกตราหน้าได้ง่ายๆว่า “ไร้ศีลธรรม”
เมื่อเพศถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และการเมือง ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-การเมือง อันส่งผลกระทบต่อสภาพสังคม ย่อมสร้างแรงสะเทือนต่อเรื่องเพศ
การฉลองวันแห่งความรักฉบับจีนในวัน ชีซี หรือวาเลนไทน์มาฆบูชาฉบับไทยซึ่งเน้นเรื่องความรัก ความผูกพันเชิงจิตวิญญาณ จึงเป็นเรื่องเชยๆ และไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน
นับแต่การปฏิรูปและเปิดประเทศในทศววรษ 1970s การพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้รับรูปแบบแนวทางทุนนิยมมาใช้ เกิดการผ่อนคลายเปิดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการเมืองก็เริ่มผ่อนคลายบ้างในระดับหนึ่ง เนื่องจากการควบคุมทางการเมืองอย่างสุดขั้ว เช่นช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) ไม่สามารถสนองตอบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ-การเมืองนำมาสู่ การขยายตัวของชนชั้นกลาง และกระบวนการนคราภิวัตน์ (Urbanization) ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและสังคมของจีน ภาวะการณ์ดังกล่าวทำให้สำนึกของความเป็นชุมชนถูกลดทอนลง ต่างคนต่างใช้ชีวิตอย่างปัจเจกนิยม “ชีวิตใครชีวิตมัน” มาตรการ ความคิดเชิงศีลธรรมที่แต่เดิมถูกกำกับ และตรวจสอบโดยชุมชนถูกสลายลง เนื่องด้วยต่างคนต่างอยู่ ใช้ชีวิตที่แยกกันต่างหาก
ศีลธรรมและพฤติกรรมทางเพศ ที่แต่เดิมที่ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ตรวจสอบอย่าง “โจ่งแจ้ง” ผ่านกลไกการกำกับโดยชุมชนจึงกลายเป็นเรื่องเชยๆ หมดความศักดิ์สิทธิ์ลง การแสดงออกเรื่องเพศสามารถกระทำได้อย่างโจ๋งครึ่ม ในเมื่อปัจจุบันต่างคนต่างอาศัยอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆของตนในเมือง การกระทำของปัจเจกบุคคลหนึ่งๆไม่ได้เป็นเรื่องหรือภาระที่เขาต้องแบกรับความรับผิดชอบต่อชุมชนอีกต่อไป
การแสดงออกซึ่งความรักอย่างดูดดื่มของวัยรุ่นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จึงเกิดจากความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ฉะนั้นเราจึงมิสามารถวิจารณ์ ก่นด่าพฤติกรรมวัยรุ่นอย่างตื้นเขิน เพียงโทษวัฒนธรรมตะวันตก หรือความเหลวแหลกของวัยรุ่น เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ใหญ่เหลือเกิน และหากต้องการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศแล้ว เราต้องดำเนินการคืนความเป็นการเมือง (Politicize) เพื่อนำไปสู่การถกเถียง ถึงอิทธิพลเบื้องหลัง, นิยามศีลธรรมทางเพศ, และปัจจัยต่างๆที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง มิใช่นิ่งอึ้ง มิกล้าล่วงละเมิดนำเรื่องเพศมาพูด หรือถกเถียง ด้วยเกรงว่าจะถูกตราหน้าว่า “ไอ้หื่น, ลามกจรกเปรต, ไร้ยางอาย ฯลฯ”
กุหลาบ VS. ถั่วแดง
พ้นจากประเด็นที่กล่าวไปแล้ว กระแสคลั่งไคล้วาเลนไทน์ฝรั่ง ในสังคมจีนและไทยยังถูกโหมกระพือด้วยสภาพแวดล้อม และปัจจัยหลายๆด้านมิใช่เฉพาะความคลั่งไคล้ของวัยรุ่นอย่างโดดเดี่ยวเท่านั้น
โรงแรม, พ่อค้าแม่ขาย, ห้างสรรพสินค้า, สื่อ, บริษัทผลิตถุงยาง, เกษตรกร ฯลฯ ล้วนรักวาเลนไทน์ เนื่องด้วยพวกเขาเหล่านั้นสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากวันธรรมดาที่ไม่ธรรมดานี่เอง ดอกไม้ (โดยเฉพาะกุหลาบ) สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับความรัก ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทุนนิยมได้เปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นสินค้า แม้แต่ความรักยังถูกหยิบฉวย แปรเปลี่ยนเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ที่ผูกพันและสามารถแสดงออกเป็นรูปธรรมได้ด้วยการให้วัตถุเท่านั้น กระแสโฆษณาที่โหมกระพือเน้นค่านิยม “ซื้อสินค้าหรือบริการหลากประเภทอาทิ แหวน, ดอกไม้, และดินเนอร์ใต้แสงเทียน”
เสียงหลอกลอน กึกก้องในโสตประสาท “วันนี้คุณมอบ....... (สินค้าบางอย่าง).......ให้คนรักแล้วรึยัง, เฮ้ย! วาเลนไทน์นี้ให้อะไรแฟนว่ะ?” ได้ตอกย้ำการกลายเป็นสินค้าของความรักอย่างชัดเจน เพราะความรักถูกประเมินค่าและตีราคาไม่ต่างอะไรกับวัตถุ
แต่เดิมในวันชีซี วันแห่งความรักของจีน “ถั่วแดง” และ “ดอกไม้” ไม่กี่อย่างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความรัก ทว่าการให้ “ถั่วแดง” กับ “ดอกไม้ธรรมดาๆ” และ “ความผูกพันเชิงจิตวิญญาณ” ไม่เหมาะกับการหากินในโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยม เพราะนายทุนทำกำไรไม่ได้มาก กุหลาบ, สินค้า, และบริการหลากชนิดต่างหากที่สามารถสนองตอบต่อการสร้างเงินทองได้ แถมด้วยความเป็นสากลของวาเลนไทน์ฝรั่ง ทำให้สามารถขายสินค้าให้กับชนชาติ ผิวสีอะไรก็ได้ในประเทศนั้นๆ ซึ่งดีกว่าเน้นขายของให้เฉพาะแต่คนจีนเป็นไหนๆ
นอกจากนี้การปฏิบัติ สืบสานประเพณีเทศกาลฉลองตามวัฒนธรรมดั้งเดิมในปัจจุบันนั้น กลายเป็นเรื่องของพิธีกรรมล้วนๆ ไร้พลัง มิสามารถสื่อถึงรากเหง้า, ความเป็นมา, หรือสารที่บรรพชนพยายามส่งต่อผ่านพิธีกรรมนั้นๆ ประเพณีเดิมจึงปราศจากความศักดิ์สิทธิ์ แถมถูกมองเป็นเรื่องงมงายไร้สาระในทัศนะของคนสมัยใหม่
ผลสำรวจความคิดเห็นวัยรุ่นเกี่ยวกับเทศกาลฝรั่งและเทศกาลจีนของสำนักงานสำรวจสภาพสังคมแห่งชาติจีนในปี 2006 ระบุว่า วัยรุ่นจีนชอบฉลองเทศกาลตามแบบวัฒนธรรมตะวันตก โดยแบ่งเป็นวันคริสต์มาส 68.5% วันวาเลนไทน์ 61.8% วันแม่ 59.4% วันพ่อ 52.7% ทั้งนี้ วัยรุ่นจำนวน 53.6% บอกว่านิยม ‘เทศกาลฝรั่ง’ เพราะเห็นว่าสนุกสนาน โดยผู้ชายจำนวน 57.1% ยังเห็นว่า “เทศกาลจีนมีแต่เรื่องการบริโภคและอุปโภค แต่เทศกาลของชาวตะวันตกให้ความสนใจเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ”5
ทัศนคติข้างต้นของวัยรุ่นเป็นผลผลิตของสังคม และยุคสมัยที่เขาเกิดและเติบโตขึ้น
สงครามสมรภูมิวาเลนไทน์จึงมิใช่การสู้รบระหว่าง ค่านิยมตะวันออก กับ ตะวันตก ทว่าคือ สมรภูมิการช่วงชิงพื้นที่นิยามพฤติกรรม และศีลธรรมทางเพศระหว่างรัฐ ที่จำต้องปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, การเมือง, และสังคม
ยุคสมัยของการควบคุมพฤติกรรมทางเพศอย่างหยาบๆ ด้วยการออกกฎควบคุม วิจารณ์ด่าว่า ประโคมข่าวออกสื่อ อย่างที่เจ๊ๆในรัฐไทยกระทำ กลายเป็นเรื่องล้าสมัยเสียแล้ว เนื่องจากเป็นพฤติกรรมที่ไร้สาระ และปราศจากประโยชน์ นอกจากสร้างความสะใจเท่านั้น
สังคมตะวันตกอย่างสหรัฐฯเองก็มีความเคร่งครัดเรื่องเพศสูงเหมือนกัน มิใช่ฟรีเซ็กซ์อย่างที่เข้าใจตามหนังฮอลลีวู้ด (ภาพยนตร์คือ ภาพยนตร์ครับ ไม่เวอร์สนองความตัณหาของมนุษย์จะขายได้หรือ?) ในการรณรงค์หาเสียงประเด็นเรื่องเพศ อาทิสิทธิในการทำแท้ง หรือสิทธิในการแต่งงานของเพศเดียวกัน มักเป็นประเด็นสำคัญในการเมืองสหรัฐฯเสมอ
การสรุปความคิดอะไร รวบรัดอย่างง่ายๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเพศของวัยรุ่น จึงมิก่อให้เกิดความก้าวหน้าใดๆ หากไม่พยายามทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า ต้นตอมาจากไหน?, ทำไมจึงเกิดขึ้น? และมีแนวโน้มอย่างไร? มัวแต่ก่นด่า บ่นกันเรื่อยๆ ก็คงได้แต่บ่นตลอดไปยันชาติหน้า! เพราะไม่เกิดการถกเถียงเพื่อพัฒนากลไกทางสังคม ให้เท่าทันโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พัฒนาไปอักโข
สุขสันต์วาเลนไทน์!
เอกสารอ้างอิง
[1] รายละเอียดวันแห่งความรักฉบับจีนโปรดดู สุขสันต์ วิเวกเมธากร, “วันแห่งความรัก,” [http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=4525883156657], 11 สิงหาคม 2545.
[2] Dennis Altman, “Sex, Politics, and Political Economy,”
[http://www.mundanebehavior.org/issues/v3n1/altman.htm], 5 February 2008.
[3] มิเชล ฟูโกต์ นักคิก นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงและเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อแนวคิด หลังสมัยใหม่ (Post-modernism)
[4] ดู Michel Foucault, The History of Sexuality: An Introduction, trans. Robert Hurley (New York: Vintage Books, 1990)
[5] ผู้จัดการออนไลน์, “‘ช็อคโกแลต-กุหลาบ’ตี‘บัวลอย’กระจุย สะท้อนจีนรุ่นใหม่พิสมัยเทศกาลฝรั่ง,” [http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9490000019937], 13 กุมภาพันธ์ 2549.