xs
xsm
sm
md
lg

เทียบผู้นำกับการเมือง ของไทยและสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ลองคิดเล่นๆ การเมืองสหรัฐอเมริกาก็เหมือนกับการเมืองไทยอยู่ไม่น้อย เพราะถ้าดูในเชิงพื้นที่ การเมืองของสหรัฐฯ ในบรรดาเมืองที่อยู่ติดกับชายทะเลทั้งหลายมักเลือกพรรคเดโมแครต เหมือนกับการเมืองของไทยที่บรรดาเมืองในเขตที่อยู่ติดกับชายทะเลทั้งหลาย ตั้งแต่ ตราด ระยอง ชลบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึงปลายด้ามขวานทอง ทั้งฝั่งอ่าวไทยและข้ามไปถึงฝั่งอันดามัน ก็ล้วนเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์

ที่คล้ายกันคือ คำว่า “เดโมแครต” ถ้าแปลเป็นไทย ก็คือ “ประชาธิปัตย์” นี่เอง

ที่คล้ายกันอีกอย่างคือ ในพื้นที่ส่วนกลางทวีปของสหรัฐฯ หรือบริเวณตอนกลางๆ ลึกเข้าไปข้างในจากชายฝั่งทะเล พื้นฐานความคิดของคนส่วนใหญ่จะอนุรักษนิยม มักจะมองเห็นว่าสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลางของโลก เป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง ประเทศอื่นๆ ในโลกนี้แทบไม่มีความหมาย ไม่มีผลต่อความคิด การคิดตัดสินใจทุกเรื่องมักจะมองแค่ตนเอง เรียกว่า ประเทศเม็กซิโกคือสิ่งที่อยู่ไกลสุดปลายสายตาแล้ว

สันนิษฐานว่า ประเทศไทยก็คล้ายกัน

ขณะนี้ การเมืองสหรัฐฯ กำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในขณะที่การเมืองไทย ก็กำลังจะมีการจัดตั้งรัฐบาล เลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้น่าลองคิดเปรียบเทียบผู้นำของทั้งสองประเทศกันดู

พจมาน กับ ฮิลลารี

O ทั้ง 2 คน เป็นสาวใหญ่ แต่งตัวด้วยอาภรณ์หรู งดงาม บรรจงสั่งตัด ประณีตเข้ากับเรือนร่าง จัดทรงผมเข้ากับใบหน้าที่อวบใหญ่หรือเรียวบาง

O ทั้ง 2 คน เคยเป็นสตรีหมายเลขหนึ่ง เคยเคียงข้างกายผู้นำรัฐบาล อยู่ในตึกไทยคู่ฟ้าหรือทำเนียบขาวมามากกว่า 5-6 ปี

O ฮิลลารี ประกาศตัวเป็นนักการเมือง เป็นตัวของตัวเอง โดยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (Senator) และประกาศจะทำงานการเมืองต่อจนถึงประธานาธิบดี

พจมาน พยายามแสดงตัวให้เห็นว่าไม่ยุ่งกับการเมือง ไม่เคยให้สัมภาษณ์ แต่สังคมก็รู้สึกและแอบรับรู้ว่า เธอทำงานการเมืองที่สำคัญอยู่เบื้องหลัง อาทิ

เมื่อครั้งเสนาะ เทียนทอง โกรธเคืองไทยรักไทย พจมานก็เข้าพบ เพื่อเคลียร์ใจ

เมื่อหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 พจมานก็พยายามและได้เข้าพบพลเอกเปรม

เมื่อพรรคพลังประชาชนมีคะแนนนำในการเลือกตั้ง ก็เดินทางกลับประเทศไทย ยอมเป็น “หินถามทาง” วัดอุณหภูมิ และประสานจะเข้าเจรจาต่อรองกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยทอดผ่านทางสาวใหญ่ใจถึง ที่คุ้นเคยกันดี

เมื่อพรรคการเมืองต้องการเงิน ก็บริจาคเงินให้พรรคไทยรักไทย และพรรคอื่นๆ อย่างสำคัญ

เมื่อพรรคและสามีต้องการการตัดสินใจ เธอก็ช่วยจัดคนลงสมัครและวางตัวคนเป็นรัฐมนตรีหรือแม้แต่ตำแหน่งราชการที่สำคัญ


O ฮิลลารี เป็นนักกฎหมาย ที่มีทางเดินเป็นของตนเอง จบจาก Wellesley College มหาวิทยาลัยหญิงล้วน เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ บ่มเพาะนักศึกษาหญิงให้เป็นผู้นำสังคม ให้เปลี่ยนแปลงสังคม ให้ทำงานการเมืองเปิดเผยโปร่งใส

พจมาน เป็นนักธุรกิจ พัฒนาธุรกิจที่ต้องอาศัย เชื่อมโยงอำนาจทางการเมือง การสัมปทาน การผูกขาด ซึ่งต้องอาศัยพลังการเจรจา ต่อรอง เอื้อประโยชน์อย่าง “สมานฉันท์” คือแบ่งปันผลประโยชน์กินร่วมกัน

O ฮิลลารี เจ็บปวดต่อกรณีผู้นำสหรัฐ สามีของเธอมีความสัมพันธ์ชู้สาวกับลูวินสกี้ นักศึกษาฝึกงาน เธอเก็บความรู้สึก ไม่แสดงความเจ็บปวด แต่แสดงให้สาธารณะรับรู้ว่าเห็นใจสามีที่เป็นผู้นำประเทศ

พจมาน ไม่แสดงความเจ็บปวดให้สังคมได้รับรู้ กรณีข่าวอื้อฉาวของสามี และข่าวลือในเชิงความสัมพันธ์กับหญิงอื่น ไม่ว่าจะเป็น สาวใหญ่ใจถึงในพรรค สาวสวยหมวยเล็กในพรรค รวมไปถึงสาวนักร้องรุ่นลูก หรือแม้แต่แคดดี้ ฯลฯ การเก็บความรู้สึกและการแสดงออก ทำให้เรื่องที่จะขยายตัว กลับเบาบาง แคบลง

อภิสิทธิ์ กับ โอบามา

O ทั้ง 2 คน อายุใกล้เคียงกัน โดยอภิสิทธิ์อ่อนวัยกว่า 1 ปี เป็นคนหนุ่มไฟแรง เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

O ทั้ง 2 คน สังกัดพรรคชื่อเหมือนกัน คือ ประธิปัตย์ หรือ เดโมแครต (Democrat) โดยทั้ง 2 พรรคค่อนข้างเสรีนิยมก้าวหน้า และทั้งคู่ต้องพบกับคู่แข่งทางการเมืองที่ขวาจัด และเป็นคนแก่ เป็นผู้สูงอายุที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศ

O ทั้ง 2 คน ถูกกล่าวหาในการรณรงค์หาเสียงว่า มีประสบการณ์น้อย ชึ่งอภิสิทธิ์เคยเป็นรัฐมนตรี โอบามาเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่ทั้งสองก็โต้ตอบในทำนองเดียวกันว่า ถ้ามีประสบการณ์ในทางชั่วร้าย การไม่มีประสบการณ์จะดีกว่า

อภิสิทธิ์ถูกคุณสมัคร คู่แข่งกล่าวหาว่าเป็น “มะม่วงจำบ่ม” คือ มะม่วงที่เก็บเร็วเกินไป จะไม่หวาน แต่มีผู้แก้ว่า มะม่วงที่ไม่สุกคาต้น แต่นำมาบ่มให้ดีจะมีคุณภาพและหวานกว่า ขณะที่สมัครเป็น “ยาหมดอายุ” นอกจากรักษาไม่หายแล้ว ผู้กินยังอาจตายได้

O ทั้ง 2 คน เป็นคนฉลาด ไหวพริบดี คมคาย เข้าใจปัญหา เข้าใจสังคมได้รวดเร็ว สามารถใช้ภาษาและศัพท์ง่ายๆ เพื่อให้คนเข้าใจได้อย่างคมคาย

O ทั้ง 2 คน ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมของตน

โอบามา ประกาศต้องการเปลี่ยนแปลงความเหลวแลกในวอชิงตัน และรณรงค์คำว่า Change

อภิสิทธิ์ ประกาศต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับ “ระบอบทักษิณ” ไม่ร่วมตั้งรัฐบาลหรือบริหารงานกับไทยรักไทยหรือพลังประชาชน

สะท้อนว่า ทั้งคู่ต้องการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ต้องการแก้ไขการทุจริตโกงกิน

ความลงท้าย

กรณีการเมืองสหรัฐ โอบามา รู้ชัดเจนว่า คู่แข่ง คือ ฮิลลารี จากพรรคเดียวกัน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ผู้คนไม่ชอบสงครามอิรัก และนโยบายขวาจัดของพรรครีพับลิกัน

โอบามา จึงมีคู่แข่งในพรรคเดียวกัน มีเป้าหมาย มีตัวตนชัดเจน ว่าแข่งกับใคร

กรณีการเมืองไทย อภิสิทธิ์ กำลังสู้กับใคร ?

ใครคือตัวตนของคู่ต่อสู้ที่แท้จริง ? สมัคร หรือ ทักษิณ หรือ พจมาน ฯลฯ ?

น่าคิดว่า สหรัฐฯ อย่างน้อยก็มีการเมืองที่โปร่งใส ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศได้บ้าง (ผู้นำที่แท้จริง) แต่ของไทย หากการประนอมอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย คือ คมช. กับ ระบอบทักษิณ เพราะเห็นว่าคะแนนก้ำกึ่ง คนที่เอากับระบอบทักษิณซึ่งดูได้จากคะแนนของพรรคพลังประชาชน เทียบกับคนที่ไม่เอาระบอบทักษิณซึ่งดูได้จากคะแนนที่ไม่ลงให้พลังประชาชน แต่เสียงแตกไปหลายพรรคแล้ว ก็มีคะแนนคู่คี่สูสี

หากการเจรจาระหว่างคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เกิดขึ้นจริงจากการประสานและลูกล่อลูกชนอันแพรวพราวของสาวใหญ่ใจถึงคนนั้นจริง

หากการพบปะเจรจาต่อรอง ที่คนระดับประธานองคมนตรีจะลดตัว ยอมเจรจากับอดีตนายกรัฐมนตรีในระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องคดีร้ายแรง เป็นจริง

หากการอ้าง “สมานฉันท์” สัมฤทธิผล เพื่อให้มีการจัดตั้งเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ได้จริง อย่างที่คนบางคนต้องการ

หากการอ้างว่า “ให้อภัยกันก็จบ” หรือ “อภัยเพื่อชาติ” เกิดขึ้นจริงดังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เอ่ยออกมา หรือที่นายเสนาะ เทียนทอง ได้โยนหินถามทางก่อนหน้านี้ ว่าให้พรรคพลังประชาชนและพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เป็นจริง


น่าคิดว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ประกาศอุดมการณ์พรรค ร่วมกับกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะไม่มีวันร่วมรัฐบาลหรือร่วมบริหารงานกับระบอบทักษิณ ไม่ว่าจะผ่านพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชนแล้ว จะทำอย่างไร ?

จะเปลี่ยนจุดยืน (อันหมายถึงไม่มีจุดยืน) จะกลืนน้ำลายตัวเอง หรือจะยอมให้บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี

หมากเกมนี้ หากอภิสิทธิ์เดินพลาด คิดง่ายใจง่าย เส้นทางการเมืองอันยาวไกล ทุนทางสังคมที่สะสมมายาวนาน คงจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า และอาจถึงขั้นหมดอนาคตทางการเมือง

น่าคิดว่า นักการเมืองตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ความหวังของการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย จะยืนหยัดจุดยืนของตนเอง หรือจะยอมให้การเมืองแบบไทยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเขาเอง ?


เป็นฝ่ายค้านที่ดี ฝ่ายตรวจสอบที่ดี ก็ทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองได้อย่างมหาศาล ย่อมดีกว่าเป็นฝ่ายบริหารร่วมกับคนเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวที่รวมกันเล่นลิเกเพื่อกอบโกยเยี่ยงรัฐบาลเลวๆ

เหลือนักการเมืองดีๆ ไว้ให้ประชาชนได้มีความหวังบ้างเถอะครับ !
...000....
กำลังโหลดความคิดเห็น