xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์เตือน “อย่าเพิ่งด่วนสรุป” มังกรจับมืออินเดียแทนที่ศก.สหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – นักวิเคราะห์เตือน อย่าเพิ่งด่วนสรุป เศรษฐกิจแดนมังกรจับมืออินเดียสามารถแทนที่สหรัฐฯได้ หลังมะกันเจอพิษซับไพรม์ทำเศรษฐกิจถดถอย ชี้ 2 ยักษ์เอเชียเป็นทางเลือกช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นกลจักรขับเคลื่อนแทนที่พญาอินทรี

หลังกระแสวิตกเศรษฐกิจโลกชะลอตัวครั้งใหญ่จากผลกระทบวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ประเด็นยักษ์เอเชียอย่างจีนและอินเดีย ที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แถมเติบโตอย่างร้อนแรงไม่หยุดยั้ง อาจกลายมาเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนสรัฐฯก็ถูกจุด กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรงอีกครั้ง ด้วยหลายฝ่ายเล็งว่า มะกันอาจล้มหนักจนยักษ์เอเชียเข้ามาแทนที่ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า จีนกับอินเดียช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นเข้าแทนที่สหรัฐฯ

ภาษิตเดิมที่ว่า “เศรษฐกิจโลกสะเทือน เมื่อสหรัฐฯจาม” ยังคงสะท้อนความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน หลังวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงกราวรูดในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ไม่เว้นแม่แต่จีน และอินเดีย

“สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ การเติบโตของเศรษฐกิจอื่น เพื่อถ่วงดุลสหรัฐฯ และสถานการณ์นี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเผชิญปัญหา อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัญหาวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ต่อเศรษฐกิจโลกจะทุเลาลง เนื่องจากเศรษฐกิจอื่นอย่างเช่น จีนกับอินเดียช่วยลดผลกระทบของปัญหา กลไกระเบียบโลกใหม่กำลังทำงานไปได้ดี” คริสต์ เดวอนไชร์ ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการค้าจีนและอินเดียเผย

เมื่อปี 2007 เศรษฐกิจจีนขยายตัวถึง 11.4% ขณะที่อินเดียไล่ตามมาด้วยสถิติ 9.4% แถมแนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจทั้งสองประเทศยังมั่นคงสูง

“เราคาดว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดีย จะช่วยหนุนเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เติบโตต่อไปขณะที่สหรัฐฯเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอย” ปรากาช สักปาล นักเศรษฐศาสตร์ผู้เกาะติดความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจเอเชีย สังกัดไอเอ็นจีกล่าว

นอกจากผลสะเทือนต่อหน้าที่การงาน และชีวิตความเป็นอยู่ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ยังมีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกดังที่ จอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินชื่อดังเปรยไว้กับไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า “ปัญหาครั้งนี้อาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ”

“วิกฤตการเงินครั้งนี้ นอกจากส่งผลกระทบต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังมีความสำคัญตรงที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก ขณะที่สหรัฐฯกำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจขาลง จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆก็กำลังผงาดขึ้นมาแทนที่” โซรอสเผย

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์จากจีนชี้ว่า ความคาดหวังดังกล่าวยังอีกไกล เศรษฐกิจจีนกับอินเดียเองก็ได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นอิสระจากสหรัฐฯ หากพญาอินทรีจาม ทั่วโลกย่อมสะเทือน

จางหมิง นักเศรษฐศาสตร์จากบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์กล่าวว่า “หากคุณกำลังมองหาว่า ใครคือกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก คุณต้องพิจารณาว่า ใครคือตลาดบริโภคใหญ่ที่สุดของโลก ในระยะสั้นอเมริกายังคงตำแหน่งเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุด จีนยังเหลือหนทางที่ต้องเดินอีกยาวไกล”

สตีเฟ่น กรีน แห่งสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดแสดงทัศนะว่า รายได้ 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีนที่มีมูลค่า 3.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯมาจากการส่งออก หากอัตราการเจริษเติบโตของเศรษฐกิจลดลงราว 2.5% ด้วยปัจจัยด้านการค้า จีนจะเผชิญปัญหาหนักแน่นอน

เนื่องด้วยจีนพึ่งพาการส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศในระดับสูง แม้ระยะหลังจะมีการกระตุ้นใช้อุปสงค์ภายในเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทว่าปัจจัยจากภายนอกยังมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่มาก หากสหรัฐฯล้มจีนจะต้องเจ็บไม่น้อย

ที่ผ่านมาปัญหาเงินเฟ้อภายในประเทศรุมเร้า บวกกับการที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงทำให้จีนต้องปล่อยค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2007 ส่วนแนวโน้มปีนี้คาดว่า อัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบ ต่อผลกำไรของธุรกิจส่งออกหนักกว่าปี 2007 มาก โดยเฉพาะธุรกิจที่ส่งออกไปยังประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรและเงินปอนด์ บวกกับในปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกและอุปสงค์จากต่างประเทศอาจมีการชะลอตัวลง เนื่องด้วยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ทำให้ส่วนหนึ่งของธุรกิจส่งออกจีนได้รับผลกระทบไม่น้อย

นอกจากนี้การที่จีนบริหารทุนสำรองมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ ด้วยการซื้อพันธบัตรอเมริกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการปล่อยกู้สหรัฐกลายๆ เพราะเมื่อถึงเวลาอเมริกันต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย แถมค่าเงินหยวนของจีนนั้น แม้จะเปลี่ยนจากการผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐฯมาเป็นระบบตระกร้าเงิน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2005 ทว่าจีนยังคงให้น้ำหนักเงินดอลลาร์ในตระกร้าเงินอยู่มาก หากวิกฤตซับไพรม์มลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จนดอลลาร์หมดอำนาจครองบทบาทเงินสกุลหลักของโลกแล้ว เศรษฐกิจจีนย่อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ก่อนที่จะผงาดขึ้นมาแทนที่พญาอินทรี

ส่วนทางด้านอินเดียนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า เศรษฐกิจแดนภารตะได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯน้อยกว่าจีน เนื่องจากการเจริญเติบโตของอินเดียพึ่งพาอุปสงค์ภายในเป็นหลักตั้งแต่ต้น แถมภาคการส่งออกยังมีสัดส่วนเพียงแค่ 17% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่มีมูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยสหรัฐฯย่อมส่งผลกระทบต่ออินเดียน้อยกว่าจีน

“เศรษฐกิจของเราขับดันด้วยอุปสงค์ภายใน เรามีฉนวนปกป้อง ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินเดียโดยตรง อย่างไรก็ตามตัวเลขส่วนแบ่งการค้าโลกของอินเดียในปี 2006 ที่มียอดสัดส่วนเพียง 1.5% ของการค้าโลกทั้งหมด สะท้อนว่า แม้อินเดียไม่ได้รับผลกระทบหนัก แต่อินเดียก็ยังไม่สามารถเป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้” อันจัน รอย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของสมาพันธ์หอการค้าอุตสาหกรรมอินเดียกล่าว

ตามข้อมูลที่องค์การการค้าโลกพิมพ์เผยแผ่ การค้าส่งออกจีนเมื่อปี 2007 มีสัดส่วนเป็น 8% ของมูลค่าการค้าโลกทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าจีนมีสัดส่วน 6.4%

อย่างไรก็ตาม สตีเฟ่น โร้ช นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้า จากวาณิชธนกิจชื่อดัง มอร์แกน สแตนเลย์ เอเชีย วิจารณ์ว่า “ความคิดที่ว่าจีนกับอินเดียจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้ด้วยตัวเอง ลงท้ายอาจเป็นเพียงแค่ความฝัน”

โร้ช ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำนายภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯมาก่อนแล้วยังโต้ว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคอเมริกันประสบปัญหา เศรษฐกิจโลกย่อมได้รับผลกระเทือนหนัก

โร้ชคำนวณว่าปีที่แล้ว ผู้บริโภคอเมริกันใช้จ่ายรวมเป็นมูลค่า 9.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนและอินเดียใช้จ่ายเป็นจำนวนเพียง 1 ล้านล้าน และ 650,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

“จากผลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ความคาดหวังที่จีนกับอินเดียจะมาชดเชย แทนที่พลังการบริโภคของสหรัฐฯนั้นเป็นไปไม่ได้” โร้ชย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น