เซี่ยงไฮ้เดลี่ - เซี่ยงไฮ้มีแผนปิดโรงเรียนเถื่อนสอนบุตรหลานแรงงานอพยพหลายร้อยแห่งภายใน2ปี หวังผลักดันเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาของรัฐให้ได้มากที่สุด
ปัญหาโรงเรียนเถื่อน ที่เปิดสอนดาษดื่นในนครเซี่ยงไฮ้เป็นผลมาจากการไหลบ่าของแรงงานอพยพในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สู่นครซึ่งมีประชากรมากที่สุดในจีนแห่งนี้ โดยมีแรงงานอพยพในเมืองกว่า 3 ล้านคน เข้ามาใช้แรงงานตามโรงงาน, ภัตตาคาร, การก่อสร้าง และภาคบริการ แต่ขณะเดียวกัน รัฐไม่สามารถจัดหาสถานศึกษาให้แก่บุตรหลานของแรงงานได้เพียงพอ ผู้อพยพจึงต้องดิ้นรน ตั้งโรงเรียนขึ้นมากันเอง
อิน โหวชิงรองผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการด้านการศึกษาแห่งเซี่ยงไฮ้ ระบุว่า โรงเรียนผู้อพยพหลายแห่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการสอนในระดับเลว เนื่องจากผู้อพยพไม่มีหลักฐานแสดงตนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย , ขาดเงินทุนสนับสนุนจากรัฐ และมีเงินทองอย่างจำกัดจำเขี่ย
ตามแผนการของคณะผู้บริหารนครเซี่ยงไฮ้ โรงเรียนเถื่อนกว่า 240 แห่ง ซึ่งสอนเด็ก 380,000 คน อาจบริหารกิจการต่อไป โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ หรืออาจต้องปิดตัวลง ทั้งนี้ จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2553
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนชี้ว่า รัฐปล่อยปละละเลยให้ความช่วยเหลือแรงงานอพยพและครอบครัว จึงทำให้โรงเรียนเถื่อนมีสภาพครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทางด้านกฎหมายมานานหลายปี ขณะที่แรงงานผู้อพยพโอดครวญว่า โรงเรียนในเซี่ยงไฮ้ ค่าเล่าเรียนแพงเกินไป ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยแต่ละเดือนเมื่อปีที่แล้ว ตกประมาณ 1,200 หยวน หรือ 165 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจของรัฐบาลเมื่อเร็ว ๆ นี้
เมื่อปีที่แล้ว ชะตากรรมของพวกแรงงานอพยพกลายเป็นจุดสนใจ หลังจากทางการบีบให้ปิดโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งสอนบุตรแรงงานอพยพ ที่ยากจนประมาณ 2,000 คน เพื่อนำที่ดินบริเวณนั้นไปพัฒนา โดยที่ผ่านมา มีข่าวออกมาบ่อยครั้งเรื่องเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทุจริต และนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ายึดครองที่ดิน โดยไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยอย่างเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม เซี่ยงไฮ้เดลี่ รายงานว่า คณะผู้บริหารนครเซี่ยงไฮ้ได้จัดสรรงบประมาณปีละ 30 ล้านหยวนนับตั้งแต่ปี 2547 สำหรับพัฒนาโรงเรียนผู้อพยพ และปัจจุบัน บุตรหลานแรงงานอพยพร้อยละ 57 ในเมือง ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนของรัฐ
สำหรับแผนการดำเนินการนั้น เด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมเถื่อนทั้งหมด ซึ่งมีอายุ 12-15 ปี จะยุบรวมเข้ากับโรงเรียนที่มีอยู่ในเมือง ส่วนโรงเรียนประถมเถื่อนจะได้รับการแปลงสภาพเป็นโรงเรียนถูกกฎหมาย และเข้าสู่ระบบโรงเรียนรัฐ โดยที่โรงเรียนนั้นต้องได้มาตรฐาน เช่น จ้างครู ที่มีใบรับรองการสอนถูกต้องตามกฎหมาย และมีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปี
“เป็นนโยบายที่ดี เพราะเราจะได้รับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากรัฐ นำไปปรับปรุงสถานที่ และอุปกรณ์การสอน” เมิ่งฟานฉี ครูใหญ่โรงเรียน Bright Migrant School ในย่านชานนครเซี่ยงไฮ้ ขานรับข่าวนี้
ขณะที่ เริ่นหยวนศาสตราจารย์ด้านนโยบายรัฐของมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเซี่ยงไฮ้เห็นด้วย แต่มองว่า ออกจะดำเนินการเร่งรีบไปสักหน่อย