xs
xsm
sm
md
lg

ราคาน้ำมันจีนไม่เพิ่ม ราคาน้ำมันโลกไม่ลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานกำลังเติมน้ำมันให้กับรถในเจียงซู ขณะที่ราคาน้ำมันจีนยังถูกควบคุมโดยทางการ - รอยเตอร์
รอยเตอร์ – ในห้วงเวลาที่ประชาคมโลกกำลังเผชิญหน้ากับยุคที่ราคาน้ำมันแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่สำหรับผู้บริโภคจีนแล้วราคาน้ำมันในประเทศยังวนเวียนอยู่ที่ราว 50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเท่านั้น และเมื่อจีนต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าก็มีคำสั่งไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูป ทว่าตราบใดที่ราคาน้ำมันของจีนไม่เพิ่ม ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคาดหวังที่ตลาดโลกมีต่ออุปสงค์ของจีนได้ และหากราคาน้ำมันสากลยังไต่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้ ก็จะส่งผลคุกคามต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

การที่ราคาน้ำมันโลกสามารถพุ่งขึ้นสู่ราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางภาวะแวดล้อมที่อุปสงค์กับอุปทานนั้นคานสมดุลกันอยู่นั้น เป็นเพราะผู้ลงทุนได้เล็งเห็นถึงความต้องการน้ำมันของจีนที่เพิ่มพูนขึ้น ทว่าผู้บริโภคน้ำมันในจีนกลับคล้ายมีชีวิตอยู่ท่ามกลางห้องอันอบอุ่น เนื่องจากทางการได้ควบคุมราคาน้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ค่าไฟฟ้า จนทำให้ชาวจีนไม่ต้องรู้สึกถึงความกดดันอันเกิดจากราคาน้ำมันโลกที่แพงขึ้น

“ถ้าหากจีนยอมปล่อยให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของจีนขึ้นกับราคาสากล จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง เพราะอุปสงค์จากจีนนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันตลาดโลก” คุณวั่งเทา นักเศรษศาสตร์แบงก์ ออฟ อเมริกา (บีโอเอ) ประจำประเทศจีนระบุ

ดังนั้น หากรัฐบาลจีนยอมปรับเพิ่มราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตัวเลขที่มากพอ อุปสงค์ภายในประเทศก็จะบางเบาลง คนที่ขับรถยนต์ส่วนตัวก็จะลดลงไปในระดับหนึ่ง คนที่จะซื้อรถก็อาจจะชะลอการตัดสินใจไปก่อน ช่วงครึ่งปีที่ราคาน้ำมันโลกทะยานขึ้น ได้ทำให้รถเล็กกลายเป็นรถยอดนิยมในสหรัฐฯกับญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทพลังงานขนาดเล็กผุดตัวขึ้น พลังงานทางเลือกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นศักยภาพการปรับตัวของกลไกตลาด

อันที่จริง ปัญหาการปรับราคาน้ำมันดิบภายในประเทศให้เทียบเท่ากับราคาตลาดเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนได้หารือมาตลอดทุกปี ทว่าทุกครั้งก็ขาดความกล้าหาญเพียงพอที่จะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย เพราะการที่ราคาน้ำมันแพง จะทำให้ต้นทุนทางด้านก๊าซธรรมชาติ น้ำ ไฟฟ้าแพงตามไปด้วย สิ่งนี้อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงภาวการณ์ที่จีนกำลังเผชิญหน้ากับเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 11 ปี ซ้ำยังเป็นช่วงเวลาที่ทั่วทั้งประเทศกำลังอยู่ในบรรยากาศแห่งการต้อนรับโอลิมปิกนั้น การตัดสินใจที่จะกดราคาน้ำมันเอาไว้อีกครั้งก็เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้

ไร้แรงผลักดันการประหยัดพลังงาน

ตราบใดที่ไม่ขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูป ก็ยากที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีแรงจูงใจที่จะประหยัดพลังงาน ปี 2007 ที่ผ่านมา จีนได้เรียกว่าเป็นปีแห่งการประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษ ทว่าในยามที่ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งติดเพดาน แต่ธุรกิจเหล็ก โลหะ ก่อสร้าง ปิโตรเลียม เคมี และไฟฟ้าซึ่งจัดเป็น 6 ธุรกิจที่สิ้นเปลืองพลังงานมากของจีนกลับเติบโตถึง 20.1% สูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆราว 1.6%

ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี) เองก็เคยเปิดเผยว่า จะมีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจที่ไม่ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆก็ทยอยกันนำเรื่องการประหยัดพลังงานและการควบคุมมลพิษมาเป็นหนึ่งในตัววัดผลงานเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้นทางการจีนยังได้ยกเลิกการคืนภาษีส่งออกสำหรับธุรกิจที่สร้างมลพิษสูง ทว่านโยบายเหล่านี้กลับเหมือนเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน เพราะตราบที่จีนยังใช้นโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน สิ่งเหล่านี้ก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลง ผลประโยชน์ทางธุรกิจจะยังผลักดันให้ธุรกิจสิ้นเปลืองพลังงานทั้งหลายเติบโตต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางการเองก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยสำหรับการควบคุมราคาน้ำมัน ซึ่งในระยะยาวแล้วอาจจะถึงขั้นแบกรับไม่ไหว การที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันขาดทุนอย่างมหาศาล บริษัทไชน่า ปิโตรเลียม แอนด์ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น (ซิโนเปค) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจโรงกลั่นของจีน ถือว่าได้รับผลกระทบ

จากนโยบายดังกล่าวมากที่สุด ซึ่งคาดว่าในปีนี้ทางการจีนอาจจะยอมควักกระเป๋าถึง 10,000 ล้านหยวน เพื่อชดเชยความสูญเสียให้กับธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งในความเป็นจริงนั้นในปี 2005 และปี 2006 ทางการจีนได้เคยจ่ายเงินชดเชยให้แล้วเป็นจำนวน 5,000 ล้านหยวนและ 10,000 ล้านหยวนตามลำดับ ทว่าก็ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการขาดซัปพลายน้ำมันสำเร็จรูป

ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น ในเอเชียมีประเทศไม่น้อยที่ควบคุมราคาน้ำมันประเทศเอาไว้ ทว่าผลที่ได้กลับไม่ดีนัก ช่วงที่ผ่านมาการที่ราคาอาหารพุ่งขึ้น ทำให้รัสเซีย อินเดีย อาร์เจนตินาได้เลือกใช้นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเช่นกัน ในขณะที่ในคณะรัฐมนตรีจีนก็มีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทรกแซงราคา เพื่อควบคุมราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประชาชนไว้ พร้อมเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ไม่ใช่มุ่งแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีจิตสำนักในการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

ดูจากเปลือกนอกนโยบายดังกล่าวจะสามารถส่งผลดีในระยะสั้น ทว่าเมื่อมองในระยะยาว นโยบายเหล่านี้จะส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการผลิต และเป็นการเดินย้อนกลับไปสู่แผนเศรษฐกิจแบบเก่า ทั้งๆที่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจีนเองก็พยายามปล่อยราคาสินค้าบริโภคอื่นให้เป็นไปตามกลไกโดยควบคุมราคาของน้ำมัน ไฟฟ้า และน้ำไว้เท่านั้น ทว่าการกระทำเช่นนี้ได้ทำให้การเป็นเศรษฐกิจตลาดของจีนกลับต้องเดินถอยหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น