นิทรรศการแสดงโบราณวัตถุของจีน (“Treasures Unearthed: Chinese Archaeological Artefacts from Shang to Tang 16thC BCE – 10th C CE”) ที่เปิดการแสดงระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน 2007 -2 มีนาคม 2008 ที่ Art Gallery of Greater Victoria ประเทศแคนาดา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าสมควรอนุญาตให้โบราณวัตถุที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายนำออกแสดงหรือไม่ เนื่องจากโบราณวัตถุเกือบ 500 ชิ้นที่จัดแสดงอยู่ได้มาจากการปล้นสุสานจีนโบราณ และมีที่มาที่ไปไม่ชัดเจน สื่อท้องถิ่นจำนวนหนึ่งเห็นว่านิทรรศการดังกล่าวน่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น “นิทรรศการนักปล้นสุสาน” แทน
หลังจากที่โบราณวัตถุจีนถูกขโมยออกมาจากสุสาน ผ่านการเปลี่ยนมือหลายครั้ง และสุดท้ายก็มักมาตกอยู่ในมือของนักสะสมต่างชาติ ด้วยจำนวนที่มากและความสวยงามถึงขั้นนำออกแสดง ได้สะท้อนถึงความบ้าคลั่งของปรากฏการณ์การปล้นสะดมสุสานโบราณในประเทศจีน
โบราณวัตถุที่นำออกแสดงครั้งนี้ล้วนเป็นศิลปวัตถุที่ทำขึ้นด้วยฝีมือที่ประณีตงดงามและสะท้อนถึงวัฒนธรรมจีนโบราณ มีอายุย้อนไปตั้งแต่สมัยถังขึ้นไปจนถึงสมัยซาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องสำริด มีทั้งภาชนะใส่เหล้านานาชนิด มีดสั้น กริช และที่นั่งของชนเผ่าเร่ร่อนชิ้นหนึ่งสลักเป็นรูปเสือดาวและวัวตัวผู้กำลังแยกเขี้ยวต่อสู้กันอยู่ ซึ่งมีความละเอียดมาก ทั้งนี้ โบราณวัตถุจำนวนเกือบ 500 ชิ้นที่จัดแสดงในห้องโถงใหญ่เต็ม 2 ห้องนั้น ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นของสะสมส่วนตัวของ Joey Tannenbaum นักธุรกิจชาวแคนาดาจากโตรอนโต
แบร์รี่ ทิลล์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวยอมรับว่าการจัดแสดงครั้งเป็นที่ถกเถียงกัน แต่ “ความสำเร็จทางศิลปะที่รุ่งโรจน์ที่สุดของศิลปะจีนถูกฝังอยู่ใต้พื้นดิน และผลงานยอดเยี่ยมทางวัฒนธรรมโบราณเหล่านี้ล้วนผ่านมือของหัวขโมยจึงได้ปรากฏต่อสายตาโลก และแน่นอนว่าเรื่องราวประเภทนี้เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก”
ในประเทศจีนมีโบราณสถานขนาดเล็กถึงใหญ่กระจายอยู่ทั่วมากกว่า 400,000 แห่ง และส่วนใหญ่เป็นสุสาน การจัดระบบป้องกันรอบโบราณสถานเหล่านี้ทั้งหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการปล้นสะดมสุสานจึงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการซื้อขายโบราณวัตถุกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และราคาในตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล้วนส่งผลให้สมบัติล้ำค่าในสุสานโบราณถูกคุกคามโดยพวกหัวขโมยมากยิ่งขึ้นในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลักลอบซื้อขายโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมายจำนวนหนึ่งและเหล่าหัวขโมยได้แอบสร้างเครือข่ายซื้อขายที่มั่นคงขึ้นอย่างลับๆ ขณะที่ในปัจจุบันจีนยังไม่มีระบบที่มีประสิทธิภาพมากพอมาควบคุมช่องทางการซื้อขายดังกล่าว ดังนั้นโบราณวัตถุที่ถูกขโมยออกมาจากสุสานถูกนำมาซื้อขายในตลาดมืด และโบราณวัตถุที่ถือเป็นสมบัติของชาติจีนจำนวนมากก็ออกสู่ต่างประเทศโดยผ่านตลาดมืดเหล่านี้นั่นเอง
แบร์รี่ ทิลล์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุโบราณของจีนกล่าวว่า นักสะสมจำนวนหนึ่งในแคนาดา เห็นว่าโบราณวัตถุมีค่าเหล่านี้มีคุณค่าเพียงการชื่นชมเช่นของประดับบ้านทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าใจคุณค่าแท้จริงที่แฝงอยู่เบื้องหลังโบราณวัตถุเหล่านี้เลย ทั้งยังไม่สามารถจำแนกของจริงออกจากของปลอม หรือแยกแยะคุณภาพดีเลว อย่างไรก็ตาม นิทรรศการนี้ได้จุดประกายให้คนจำนวนมากยิ่งขึ้นต้องการไปเสาะแสวงหาสมบัติล้ำค่าจากประเทศจีน
ทั้งนี้ ในประเทศจีนมักพบโบราณวัตถุโดยบังเอิญแทบทุกครั้งที่มีการก่อสร้างทางรถไฟหรือขุดบ่อน้ำ เช่น สุสานฮั่นหยัง ที่ฝังพระศพของจักรพรรดิฮั่นจิ่ง (B.C.188-B.C.141) ถูกขุดพบระหว่างการก่อสร้างทางด่วนสู่สนามบิน ถึงแม้จะถูกรบกวนโดยพวกหัวขโมยไปบ้างแล้ว แต่ยังคงมีเครื่องปั้นดินเผาเขียนสีและหุ่นปั้นดินเผาเขียนสีจำนวนมากหลงเหลืออยู่.
เรียบเรียงจาก ตงฟังเจ่าเป้า
“Treasures Unearthed: Chinese Archaeological Artefacts from Shang to Tang 16thC BCE – 10th C CE”