xs
xsm
sm
md
lg

จีนตื่นตัวเสกถ่านหินเป็นเคมีภัณฑ์ ทางเลือกใหม่ไม่ต้องพึ่งน้ำมัน-ก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนงานเหมืองกำลังขนถ่านหินขึ้นรถบรรทุกในมณฑลซานซี
วอลสตรีทเจอร์นัล – เป็นเวลาหลายปีแล้วที่แผ่นดินมังกรเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดบริษัทสัญชาติยุโรปและอเมริกันเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเคมี โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำและตลาดที่ขยายตัวเป็นสิ่งล่อตาล่อใจ กระทั่งวันนี้ ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมเคมีที่ใช้พลังงานเป็นพื้นฐานจะเป็นอีกแรงดึงดูดสำคัญ พูดง่ายๆ คือ ตอนนี้อุตสาหกรรมการนำถ่านหินซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาลมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเคมีภัณฑ์แทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาถีบตัวสูงอย่างต่อเนื่อง กำลังมาแรงมากในจีน

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจีนสร้างโรงงานไม่ต่ำกว่า 20 โรงสำหรับเปลี่ยนสถานะถ่านหินให้เป็นก๊าซ ที่เป็นสารเคมีประกอบที่ใช้เพื่อผลิตพลาสติกและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยโรงงานใหม่เหล่านี้อาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทชื่อดัง อาทิ เจเนอรัล อิเลคทริก และ โรยัล ดัช เชลล์

ขณะที่บริษัทเคมีฟากตะวันตกเองก็ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ ดังเช่นบริษัท เซเลนีส คอร์ป ที่ปีนี้เปิดโรงงานในจีนไป 1 แห่ง เป็นโรงงานที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่ได้จากถ่านหินมาเป็นสารเคมีประกอบในสีและสารให้ความหวาน บริษัทดาว เคมีคอล ก็จับมือกับบริษัทพลังงานจีน เสินหัว กรุ๊ป ร่วมกันศึกษาโครงการใช้ถ่านหินผลิตพลาสติก บริษัทเหมืองแร่ แองโกล อเมริกัน พีแอลซี ก็กำลังมีโครงการเปลี่ยนถ่านหินเป็นสารประกอบทางเคมีอยู่

การเริ่มต้นโครงการเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซในจีนนั้น เป็นหนทางหนึ่งของบริษัทตะวันตกในการต่อสู้เพื่อรักษาแรงแข่งขันไว้ เพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ผลิตสารเคมีซึ่งมีฐานอยู่ในยุโรปและอเมริกาเหนือต่างสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้แก่คู่แข่งในเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความต้องการสินค้าเคมีขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเองก็หันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมเปลี่ยนถ่านหินเป็นสารประกอบทางเคมีมากขึ้น อันเป็นความพยายามหันมาใช้ถ่านหินที่มีมากมายในประเทศและลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่นับวันจีนต้องนำเข้าเป็นจำนวนมากขึ้น อีกทั้งโรงงานใหม่เหล่านี้ยังมาแทนที่โรงงานเคมีเดิมที่เป็นแหล่งกำเนิดของเขม่าควันต่างๆ จนทำให้รัฐบาลจีนถูกตำหนิอย่างมากเกี่ยวกับปัญหามลภาวะทางอากาศ

การเปลี่ยนถ่านหินให้เป็นสารประกอบทางเคมีนั้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “การเปลี่ยนถ่านหินไปสู่ก๊าซ” (Gasification Technology) คือการใช้ความร้อนและแรงกดดันสลายพันธะโมเลกุล ทำให้ถ่านหินระเหิดกลายเป็นก๊าซที่สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ต่างๆ ได้ ซึ่งวิธีนี้นั้นปรากฏขึ้นนานกว่าศตวรรษแล้ว โดยประเทศเยอรมนีได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเปลี่ยนสถานะของถ่านหินให้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มันก็ไม่ใช่แรงกระตุ้นสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมเคมีโลกหันมาดำเนินธุรกิจดังกล่าว จนกระทั่งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเริ่มถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่ากลัว

ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นจ้าวถ่านหินรายใหญ่ได้เริ่มต้นจุดชนวนความสนใจสร้างโรงงานเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซในทวีป แต่การพัฒนาเป็นไปอย่างเชื่องช้า เนื่องจากความกังวลว่า โครงการดังกล่าวจะไปเพิ่มจำนวนก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าในจำนวนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (Fossil Fuels) ถ่านหินก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นพิเศษเมื่อเผาไหม้ และก๊าซนี้ก็เป็นหนึ่งในก๊าซที่ส่งผลกระทบให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม อิริก ลาร์สัน วิศวกรวิจัยจากสถาบันสิ่งแวดล้อม ปริ้นซ์ตันเชื่อว่า กระบวนการเปลี่ยนสภาพถ่านหินให้เป็นสารประกอบทางเคมี ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้อยกว่าการเผาไหม้เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่กระบวนการนี้ก็ยังขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกปนเปื้อนในชั้นบรรยากาศมากกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิต

บริษัทตะวันตกบางราย ที่กระโจนเข้าสู่สังเวียนอุตสาหกรรมถ่านหินในจีน เช่น Dow Chemical กำลังหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวอยู่ ซึ่งทางออกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้คือ การจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอัดลงสู่แหล่งใต้ดินเพื่อไปกักเก็บอย่างถาวร แต่วิธีนี้ยังเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้รับการทดสอบ และคิดว่าน่าจะมีต้นทุนสูง

แต่ทางฟากจีนนั้นโครงการเปลี่ยนสถานะถ่านหินเป็นก๊าซนั้น กำลังได้รับไฟเขียวอย่างรวดเร็วโดยปราศจากความกังวลต่อผลเสียที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้จีนถูกเล็งว่าจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหมายเลข 1 ของโลก โดยการศึกษาชี้ว่า ประมาณ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีน ถูกปล่อยในกระบวนการผลิตรองเท้าเทนนิส ของเล่น คอมพิวเตอร์ เสื้อเชิ้ต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จีนส่งออกไปยังต่างประเทศ

แม้รัฐบาลจีนยอมรับว่าประเทศมีความจำเป็นต้องลดก๊าซคาร์บอน และต้องการบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และใช้พลังงานทางเลือกใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งจีนก็ไม่ยอมมีพันธะเกี่ยวพันในการลดก๊าซคาร์บอน โดยอ้างว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการสกัดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ในด้านอุตสาหกรรมเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซนั้น ทางการจีนได้มีการถางทางให้ด้วยการอนุมัติโครงการอย่างรวดเร็ว และช่วยบริษัทต่างๆ รับประกันเงินทุน ด้วยแรงงานราคาถูกและข้อจำกัดอย่างหลวมๆ ทำให้โรงงานเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซของจีนสามารถสร้างขึ้นด้วยต้นทุนแค่ 2 ใน 3 หรือ 1 ใน 2 ของต้นทุนโครงการในสหรัฐฯ หรือยุโรป โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโรงงานเปลี่ยนสภาพถ่านหินเป็นสารประกอบทางเคมีในจีนนั้นได้ขยายศักยภาพการผลิตก๊าซของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 45 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถถูกใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นทางเคมี ตามที่สภาเทคโนโลยีการเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซระบุ จีนวางแผนโรงงานดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกใน 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการผลิตก๊าซของจีนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ขณะที่บริษัทตะวันตกบางรายที่เข้ามาทำอุตสาหกรรมเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซของจีนโต้ว่า กระบวนการเปลี่ยนถ่านหินเป็นก๊าซนั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนนี้จะแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งเป็นการง่ายขึ้นต่อการจับและจัดเก็บก๊าซใต้ดินอย่างถาวร โดยบริษัทดาว เคมีคอล อ้างว่าขณะนี้บริษัทกำลังทำการศึกษาวิธีการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการชดเชยผลกระทบต่อธรรมชาติโดยการลดการปล่อยมลพิษต่างๆ ผ่านโครงการเช่น การปลูกต้นไม้เพื่อดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ด้านบริษัทเซเลนิสกล่าวว่า บริษัทสัญญาที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกฐานปฏิบัติการของบริษัทภายในปี 2010 โดยลดลงจากปี 2005 ประมาณ 30% ขณะที่บริษัทจีนอย่างสองพี่เบิ้ม ไชน่าปิโตรเลียม แอนด์ เคมีคอล คอร์ป หรือที่รู้จักกันในนาม “ซิโนเปค” และบริษัทไชน่า เนชั่นแนล ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ปิโตรไชน่า ก็กำลังศึกษาวิธีการกักเก็บก๊าซคาร์บอนอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น