xs
xsm
sm
md
lg

อัศจรรย์ไม้คีบที่เรียกว่า “ตะเกียบ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตะเกียบเงินในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้
ผู้จัดการออนไลน์ - ตะเกียบ หรือ ไคว่จื่อ (筷子) คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวจีน และเป็นอุปกรณ์การกินหลักที่ชาวจีนใช้ได้อย่างคล่องแคล่วจนทำเอาชาวตะวันตกผู้พิสมัยการใช้ช้อน ส้อม และมีด ถึงกับอัศจรรย์ใจกับประโยชน์ของไม้ 2 อันนี้

นักวิชาการตะวันตกบางรายถึงกับยกย่องให้ “ตะเกียบ” เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมฝั่งตะวันออก เพราะไม่เพียงแต่จีนเท่านั้น ประเทศที่มีความเกี่ยวพันกับจีนอย่าง เกาหลี เวียดนาม ญี่ปุ่น และบางพื้นที่ในตะวันออกกลาง ก็ยังใช้ตะเกียบรับประทานอาหารกันอย่างแพร่หลาย ส่วนไทยนั้นแม้รับวัฒนธรรมดังกล่าวเข้ามา แต่ช้อน ส้อม ก็ยังถือเป็นอุปกรณ์การกินหลักสำหรับเรา

ส่วนความเป็นมาของสิ่งประดิษฐ์ไม้ 2 อันนี้ นักโบราณคดียังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้คิดค้นขึ้น แต่มีการบันทึกไว้ในตำรา “ชีวประวัติของจงเวยจื่อ” สมัยราชวงศ์ซาง (1,700-1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ซึ่งกล่าวอ้างถึง โจ้วอ๋อง ผู้ปกครองแผ่นดินในสมัยนั้นใช้ตะเกียบงาช้าง ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าจนถึงวันนี้วัฒนธรรมการใช้ตะเกียบน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว

ในอดีตชาวจีนเรียกตะเกียบว่า จู้ (箸) แต่ด้วยเสียงที่พ้องกับคำว่า “จู้” (住) ที่แปลว่า “หยุด” ซึ่งเป็นความหมายที่ไม่เป็นมงคลภายหลังจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า “ไคว่จื่อ” แทน โดยตะเกียบส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้นผลิตจากไม้ ไม้ไผ่ หรือพลาสติก มีบ้างที่ทำมาจากกระดูกสัตว์ งาช้าง ทอง หยก หรือเงิน (สมัยก่อนฮ่องเต้นิยมใช้ตะเกียบเงิน เพื่อตรวจสอบอาหารว่ามีพิษหรือไม่)

นอกจากนี้ ตามประเพณีดั้งเดิมตะเกียบยังเป็นสมบัติที่สตรีจีนจะนำติดตัวไปด้วยเมื่อยามออกเรือน เพราะคำว่า “ไคว่จื่อ” นั้นฟังแล้วคล้ายกับคำว่า “ไคว่ (เต๋อเอ๋อร์) จื่อ” ซึ่งแปลว่า “มีลูกชายโดยเร็ว”

วิธีจับตะเกียบอย่างถูกวิธี

หลายคนใช้ตะเกียบ “เป็น” แต่จับ “ไม่ถูก” ตามหลักของจีน วิธีจับที่ถูกต้องนั้นต้อง ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลางจับตะเกียบอันบน ส่วนนิ้วนางและนิ้วก้อยคอยประคองตะเกียบอันล่าง (ตามภาพ)

ข้อห้ามของการใช้ตะเกียบ

- ห้ามใช้ตะเกียบสั้นยาวไม่เท่ากัน เพราะคนจีนถือว่าไม่เป็นมงคล ผู้ใช้หรือญาติพี่น้องอาจถึงขั้นมีอันเป็นไป เพราะคนจีนโดยปกติเรียกตะเกียบไม่เท่ากันว่า “ยาว 3 สั้น 2” (三长两短) ซึ่งไปประจวบเหมาะกับเวลานำคนตายใส่โลงยังไม่ปิดฝา ตัวโลงจะประกอบด้วยไม้ยาว 3 ด้าน (ด้านข้างและล่าง) ไม้สั้นปิดหัวท้าย ตรงกับ “ยาว 3 สั้น 2” พอดี

- ห้ามจับตะเกียบแล้วปล่อยนิ้วชี้ยื่นออกมา คนปักกิ่งเรียกวิธีจับแบบนี้ว่า “ด่ากราด” เพราะเวลากินนิ้วชี้ชี้ใส่คนอื่นตลอดเวลา ซึ่งชาวปักกิ่งโดยทั่วไปเวลาชี้ฝ่ายตรงข้ามมักมีความหมายของการตำหนิอยู่ รวมทั้งการใช้ตะเกียบชี้คนอื่นก็เป็นเรื่องไม่สมควรทำ

- ห้ามดูดตะเกียบ เพราะไม่สุภาพ ยิ่งถ้ามีเสียงเล็ดลอดออกมาด้วยยิ่งแย่ใหญ่

- ห้ามใช้ตะเกียบเคาะจานชาม เหมือนขอทานเคาะกะลาขอข้าว

- ไม่ควรใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหารในจาน เหมือนพวกโจรคุ้ยหาสมบัติ

- ควรคีบอาหารให้มั่นมือ ไม่ควรปล่อยให้กับข้าวหล่นใส่จานอื่น

- ควรใช้ตะเกียบให้ถูกด้าน (แต่ครอบครัวจีนในไทยบางบ้านสอนลูกหลานว่า เวลาจะคีบอาหารให้คนอื่น ควรกลับตะเกียบเอาด้านที่ไม่ได้ใช้คีบให้ ซึ่งดูแล้วถูกอนามัยมากกว่าการเอาด้านที่เราคีบอาหารใส่ปาก ไปคีบอาหารให้คนอื่นต่ออีก)

- ห้ามปักตะเกียบไว้กลางชามข้าว เพราะตามธรรมเนียมของชาวปักกิ่งแล้วจะปักตะเกียบไว้บนชามข้าวต่อเมื่อเซ่นไหว้ผู้เสียชีวิตเท่านั้น
 




เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
กำลังโหลดความคิดเห็น