xs
xsm
sm
md
lg

“กดดัน” ปัญหาในโลกเงียบ เสียงสะท้อนจากเด็กหูหนวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในโลกแห่งความเงียบ เด็กที่บกพร่องทางการได้ยินไม่สามารถพูดหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ได้ เพราะนอกจากจะถูกจัดกลุ่มให้เป็นเสียงส่วนน้อยแล้ว ในบางครั้งยังถูกเพิกเฉยจากคนหมู่มาก ไม่มีใครได้ยินว่าเด็กเหล่านี้ขาดอะไร และเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดผ่านมือน้อยๆ นั้นมันก็ยากที่จะเข้าใจในความหมาย

โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่
โรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งเดียวในเขต 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีนักเรียนกว่า 400 คน กินอยู่หลับนอนในโรงเรียน 300 คน และอีก 100 คน เป็นคนพื้นที่ นักเรียนที่นี่มีทั้งหูตึงที่ต้องใช้เครื่องช่วยฟัง และประเภทหนวกสนิท แม้โรงเรียนจะไม่เรียกเก็บค่าเล่าเรียน แถมยังมีอาหารให้กินอิ่มในแต่ละวัน แต่นั่นก็ใช่ว่าจะเพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่ครูอีกหลายคนก็รอปลดเกษียณอยู่รอมร่อ

กว่า 400 ชีวิตตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.6 เริ่มเรียนรู้ภาษามือ และการสะกดนิ้วมือไทย ผสมคำใช้ฐานเสียง และเรียนรู้ตามกลุ่มสาระที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แม้ครูจะเหนื่อยกว่าสอนเด็กธรรมดาสองเท่า ทั้งความพยายามในการผลิตสื่อการสอนที่ต้องง่ายต่อการเรียนรู้ และพูดคุย การใช้ชีวิตในรั้วเดียวกันนี่เองทำให้เห็นว่าปัญหาที่มีในนักเรียนหูหนวกนั้นมีอะไรบ้าง

***เปราะบาง กดดัน สภาพจิตพื้นฐานเด็กหูหนวก

พิกุล เลียวสิริพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโสตศึกษาฯ ให้ข้อมูลว่า หลายคนคงเข้าใจว่านักเรียนหูหนวก จะอยู่กันอย่างเงียบๆ โดยที่ครูไม่เหนื่อย แต่ผิดถนัด พวกเขามีความกดดันว่ามีปัญหาในการสื่อสารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้สภาพจิตใจมีความบอบบางมาก ประกอบกับเมื่อมีเหตุมากระตุ้นให้เกิดความขัดแย้ง เช่น แย่งหนังสือ แย่งเสื้อผ้า เหตุทะเลาะจึงเกิดได้ง่าย และมีระดับความรุนแรงมากกว่าเด็กทั่วไป

กิจกรรมการฝึกควบคุมอารมณ์จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ดีเพื่อที่จะเบี่ยงเบนให้เขาออกจากโลกที่กดดัน การส่งเสริมให้ออกกำลังกาย ใช้ศิลปะตั้งแต่การวาดภาพ เล่นละคร หัตถกรรม คนที่ใจร้อนก็จะมีสมาธิมากขึ้น บางคนสามารถยึดเป็นอาชีพได้ทีเดียวเมื่อโตขึ้น

พิมลพร จันทร์สมดี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โสตศึกษาฯ บอกว่า เด็กหูหนวกจะอ่อนด้อยด้านภาษาศาสตร์ เนื่องจากเขาพูดไม่ได้ ฟังไม่ได้ ภาษามือที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน ต้นแบบมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนั้นเด็กหูหนวกจะเขียนหนังสือกลับตามรูปแบบประโยคภาษาอังกฤษ

“เด็กหูหนวกจะเรียนภาษาไทยได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษพวกเขาจะเรียนภาษาอังกฤษได้ดีกว่า”

นอกจากนี้ ปัญหาการสื่อสาร ภาษาพูด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จำกัดขีดความสามารถทางด้านภาษาศาสตร์ของเด็กหูหนวก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีคลังคำมากมายทั้งไทย เทศ ราชาศัพท์ ไม่เว้นแม้คำแสลงที่เปลี่ยนตามยุคสมัย แต่พจนานุกรมภาษามือมีคลังคำน้อยเหลือเกิน เด็กหูหนวกส่วนใหญ่จึงยากที่จะเข้าใจภาษาข่าวหนังสือพิมพ์

“เขาจะอ่านพาดหัวข่าวไม่ได้ ต้องสะกิดถามครูตลอดเวลา นี่ก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่บรรดาครูพยายามแก้ไขอยู่” แต่จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า ครู 1 คนกับตารางสอน 27 คาบเรียนต่อสัปดาห์ไม่นับกับที่จะต้องดูแลเรื่องส่วนตัว จัดการอาหารของนักเรียน เป็นภาระที่ค่อนข้างหนัก อีกทั้งไม่มีงบประมาณสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนครูจากรัฐบาล ทำให้ยังมองไม่เห็นทางออกในเรื่องดังกล่าว

***อาหารวิเศษในมื้อพิเศษ

โดยปกตินักเรียนในโสตศึกษาฯ จะมีข้าวต้มเป็นอาหารเช้า กลางวันมีกับข้าว 1 อย่าง มีโอกาสกินขนมสัปดาห์ละ 2 วัน ทำให้เด็กหลายคนดูกระตือรือร้น และดีใจเป็นพิเศษเมื่อมีผู้ใหญ่ใจดีมาเลี้ยงอาหาร...

“อาหารมื้อนี้เป็นมื้อที่แสนวิเศษสำหรับพวกผม” จรินทร์ เทียนไม้ หรือ เจต นักเรียนชั้น ม.4 เขาเป็น 1 ใน 3 จาก 400 คนที่สามารถพูดสื่อสารได้ เขารู้สึกขอบคุณผู้มีน้ำใจที่แวะเวียนมาเยี่ยม สิ่งที่ทำให้เด็กเหล่านี้รู้สึกอบอุ่นเป็นพิเศษก็เพราะ พวกเขาห่างบ้าน และพ่อแม่ สำหรับเด็กหนุ่มจากเมืองดอกคำใต้คนนี้ ย้ายมากินนอนที่เชียงใหม่ตั้งแต่ ม.1 เนื่องจากเขาไม่สามารถเรียนรู้ในโรงเรียนทั่วไปได้เท่าทันคนอื่น แต่เมื่อมาอยู่ท่ามกลางเพื่อน น้อง หูหนวก เขายังรู้สึกว่าได้ว่าโชคดีอยู่บ้างที่พอจะได้ยินคนอื่นพูดกัน

“ผมใช้เครื่องช่วยฟัง แต่ก็ต้องเรียนภาษามือไปด้วย ตอนมาที่นี่ก็ต้องเรียนภาษามือ โรงเรียนเดิมที่นครสวรรค์ผมเรียนไม่ทันเขา พอย้ายมาก็สบายใจมากขึ้น แล้วก็เรียนได้ดีขึ้นด้วย”

แม้เจตจะสามารถพูดได้ แต่การสื่อสารก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล ปากเขาก็พูดไปด้วย มือก็ทำภาษามือไปด้วย สิ่งที่เด็กหูหนวกต้องการคือครู และอาหาร แม้แต่ละมื้อพวกเขาจะกินอิ่ม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะได้รับประโยชน์จากสารอาหารเฉลี่ยวันละ 42 บาทต่อคนได้มากน้อยแค่ไหน จึงไม่น่าแปลกใจที่วันใดมีคนมาเลี้ยงอาหารกลางวัน พวกเขาจะบอกว่าอาหารจากน้ำใจนั้นเป็นมื้อที่วิเศษ

***เสียงน้ำใจที่ได้ยิน

แม้รัฐบาลจะเพิกเฉย แต่ยังมีกลุ่มรักษ์งานพัฒนากลุ่มหนึ่งได้เข้ามาทำกิจกรรมกับเด็กหูหนวกตลอดมา อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ซึ่งช่วยผลิตสื่อการสอนทุ่นแรงครูไปได้โข และนักพัฒนาขาจรที่เทียวแวะเวียนมา คราวนี้เป็นนักศึกษาสิงคโปร์

MR.HO THIAM AIK อาจารย์ผู้ควบคุมนักศึกษา วิทยาลัยสิงคโปร์ โพลีเทคนิค ซึ่งเข้ามาฝึกงานการบริการชุมชนในประเทศไทย กล่าวว่า วิทยาลัยมีความสนใจการพัฒนาชุมชนเป็นทุนอยู่แล้ว และการเลือกมาทำงานกับเด็กหูหนวกในภาคเหนือครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเด็กพิการในเขตกรุงเทพฯ จึงคิดต่อยอดโครงการมายังกลุ่มเด็กหูหนวกเป็นลำดับต่อมา

โดยกิจกรรมตลอด 15 วันที่จะทำร่วมกับครู และเด็กในโรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทรมีทั้งสิ้น 7 โครงการ คือ การอบรมเรื่องอาหาร ส่งเสริมความสามารถด้านกีฬา งานฝีมือ เทคโนโลยี การปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน งานช่าง และภาษาอังกฤษ ซึ่งมีนักเรียนสิงคโปร์ทั้งสิ้น 27 คน ร่วมทำงานด้วย

นพ.วิษณุ ประเสริฐสม ผู้บริหารเมดิแคร์ คลินิก กล่าวหลังจากที่เด็กๆ อิ่มหนำจากอาหารโดยให้กำลังใจผ่านล่ามภาษามือแก่เด็กๆ หูหนวก ว่า แม้จะมีปัญหาด้านการได้ยิน แต่ทุกคนมีมือ มีตา มีมันสมอง ไม่แพ้คนอื่น ไม่มีอะไรตัดสินว่าใครด้อยกว่าใครได้ นอกจากจิตใจของแต่ละคน คนที่ไม่สามารถได้ยินอะไรก็เป็นอนาคตของประเทศเช่นเดียวกับเยาวชนอีกหลายล้าน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนพัฒนากาย และพัฒนาหัวใจให้แข็งแรง

การอำลาของคนหูหนวก พวกเขาจะชูนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วก้อยขึ้น โดยพับนิ้วกลางและนิ้วนางไว้ สัญลักษณ์ที่บอกว่า “ฉันรักคุณ” แทนคำบอกลาว่า “ขอให้คุณโชคดี”

กำลังโหลดความคิดเห็น