xs
xsm
sm
md
lg

“ทีปกร โลจนะโกสินทร์” เจนฯ 2 ผู้ต่อยอดอาณาจักรเครื่องนอนโลตัส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ่ยชื่อแบรนด์เครื่องนอน “LOTUS” หลายคนคงคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่คนไทยมากกว่า 30 ปี แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ ผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดธุรกิจครอบครัว ที่เคยเกือบล้มละลาย เพราะไฟไหม้ คือ “เอก-ทีปกร โลจนะโกสินทร์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท Lotus Bedding Group ลูกชายคนโตของ กำธรและลีหนา โลจนะโกสินทร์ ผู้บุกเบิกกิจการที่นอนและเครื่องนอนแบรนด์ “LOTUS” ที่ครองใจคนไทยอันดับต้นๆ ของประเทศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523

เขาคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามาประคองธุรกิจครอบครัว ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาตรี จนผงาดกลายเป็นกลุ่มบริษัท Lotus Bedding Group ผู้ดำเนินธุรกิจที่นอนและเครื่องนอนชั้นนำระดับประเทศ ยังมีผลิตภัณฑ์หลากหลายครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคทุกระดับ ทั้งที่นอนและชุดเครื่องนอน อย่าง หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน แบบครบวงจรกว่า 13 แบรนด์ อาทิ Lotus Bedding, Lotus Mattress, Omazz, Midas, Dunlopillo, Bedgear, LaLaBed, Zinus, Eastman House, Malouf, Loto Mobili, Woodfield และ Restonic

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ De Hygenique ธุรกิจให้บริการดูแลและฟื้นฟูสุขอนามัยภายในบ้านแบบครบวงจร มีบริการทำความสะอาดที่นอน พรม โซฟา ผ้าม่าน รถยนต์ รวมถึงบริการพ่นฆ่าเชื้อไวรัสด้วยระบบ Fogging ภายในบ้าน และ Mattress City ศูนย์รวมที่นอนและเครื่องนอนครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาทั่วประเทศ และมีแผนเปิดสาขาเพิ่มให้ครบ 100 สาขาในอนาคต

แน่นอนว่า เบื้องหลังความสำเร็จนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แถมยังเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะนอกจากจะไม่มีเวลาให้ลังเล ก็ต้องเข้ามากอบกู้ธุรกิจที่อยู่ในภาวะโคม่า

“ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นในการเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัว ในปี 2545 ตอนนั้นเกิดวิกฤตครั้งใหญ่กับธุรกิจของครอบครัว เพราะโรงงานเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ ทำให้ธุรกิจเสียหายกว่า 80% ผมเองตอนนั้นกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด อยู่ที่ University of Illinois Chicago (UIC) สหรัฐอเมริกา พอรู้ข่าวว่าโรงงานที่บ้านเจอปัญหา ตอนนั้นอยู่ปี 4 แล้วก็เลยตัดสินใจขออาจารย์สอบก่อน 1 เดือน เพื่อที่จะกลับมาช่วยกู้วิกฤตธุรกิจของครอบครัวแบบเร่งด่วน”


ใครจะคิดว่า การตัดสินใจเดินทางกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัวในตอนนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่สมรภูมิการทำธุรกิจแบบเต็มตัว และด้วยความมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายที่จะกู้สถานการณ์ธุรกิจของครอบครัวให้กลับมาดีให้ได้โดยเร็วที่สุด ทำให้สุดท้าย ทีปกรก็ไม่ได้กลับไปรับปริญญาที่นั่นอีกเลย

“หลังจากกอบกู้สถานการณ์จนผ่านวิกฤตครั้งใหญ่มาได้ ผมก็เริ่มลงไปสำรวจตลาด ศึกษาความต้องการของลูกค้า พร้อมปรับกลยุทธ์ ปรับและเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กรใหม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และเข้าถึงความต้องการของผู้บริโภค ที่ตรงจุดตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้ธุรกิจเติบโต จากเดิมที่มีแบรนด์ Lotus เพียงแบรนด์เดียวและมีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่ถึง 3% กลายเป็นว่าปัจจุบันกลุ่มบริษัทโลตัสกลายเป็นแบรนด์ธุรกิจที่นอนและเครื่องนอนชั้นนำ ที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภค ทุกระดับ และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นถึง 60%”

เห็นผลงานแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ผู้บริหารคนเก่งมีเคล็ดลับในการทำงานอย่างไร ถึงพาธุรกิจที่เกือบล้มมาได้ไกลเบอร์นี้ ทีปกรบอกว่า เขาถือคติไม่ว่าทำงานอะไรก็ตาม จะต้องทำด้วยความตั้งใจ มีการตั้งเป้าหมายที่คิดว่าทำได้และทำให้ดีที่สุด ผนวกกับความมุ่งมั่นจนเกิดผลสำเร็จ

“หากงานใดไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ ก็จะนำเอาปัญหาและอุปสรรคเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนในการแก้ไข ปรับปรุง เพื่อใช้กับงานในโอกาสต่อไป แต่หากงานนั้นประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นกำลังใจของการทำงาน เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับองค์กรและสังคมต่อไป”

อีกสูตรสำเร็จที่ผู้บริหารคนเก่งย้ำว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ การรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นของพนักงาน ดูแลพนักงานเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ควบคู่ไปกับการสร้างโมเดลธุรกิจที่รวดเร็วทันกับยุคดิจิทัล นอกจากจะตอบโจทย์ลูกค้าด้วยช่องทางการขาย ที่ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน เพื่อให้ตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าได้รวดเร็วและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และช่วยให้องค์กรพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในทุกโอกาสที่จะเกิดขึ้นเสมอ รวมถึงสนับสนุนการปั้นเด็กรุ่นใหม่ที่ขาดโอกาสให้ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ทั้งในธุรกิจเดิมและหรือการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอีกด้วย


สำหรับวิกฤตโควิด–19 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ ทีปกรมองว่า ในช่วงโควิด–19 ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก รวมถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า ดังนั้น กลยุทธ์ในการนำทัพธุรกิจจากนี้ ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในองค์กร นอกจากจะเพื่อพัฒนาบุคลากร สินค้า และการบริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และครอบคลุมทุกกระบวนการ ทั้งในแง่การใช้ทรัพยากรคุ้มค่า การประหยัดพลังงาน และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังต้องสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องดูแลอาณาจักรธุรกิจมากมาย​ แต่หากมีเวลาว่าง ทีปกรเลือกจะใช้เวลาช่วงวันหยุดอยู่กับครอบครัว หรือไม่ก็ออกเดินทางเพื่อไปเปิดประสบการณ์ พร้อมหาความรู้ใหม่ๆ ด้านธุรกิจและเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถเชื่อมโยงความคิด และสามารถต่อยอดไปปรับใช้กับการทำงานในอนาคตในรูปแบบต่างๆ ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทีปกรบอกว่าสุขใจที่ได้ทำคือ การได้ช่วยเหลือสังคม

นอกจาก บริษัท โลตัส เบดดิ้ง กรุ๊ป และบริษัทในเครือ ทำธุรกิจโดยโฟกัสเรื่องการช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน เพราะเราเชื่อว่าการที่เราได้เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมไทย ท่ามกลางวิกฤตระดับโลก เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้การทำธุรกิจ การร่วมแรงร่วมใจของคนไทย จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมได้

“ส่วนตัวผมเองก็เช่นกัน ปกติครอบครัวจะมอบทุนการศึกษา ข้าวสาร อาหารแห้ง ให้แก่เด็กนักเรียน โรงเรียนสมณานัมบริหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทโลตัส เบดดิ้ง กรุ๊ป และบริษัทในเครือ อย่างต่อเนื่อง หรืออย่างเวลาที่ผมเห็นข่าวผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ผมมักจะพยายามยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเสมอ เพราะครอบครัวผมปลูกฝังมาตลอดว่า ถ้าเราอยากอยู่ในสังคมที่ดี เราต้องช่วยกันสร้างสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลคนไทยด้วยกัน ดังนั้น เพื่อตอบแทนสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข การที่รู้จักแบ่งปันและรับผิดชอบต่อสังคมไปด้วยกัน จะช่วยหล่อหลอมให้สังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น” ทีปกรทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น