ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่เพียงแต่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เท่านั้น หลายคนมีเวลาว่างเว้นจากการทำงาน หรือความเครียดจากการต้องเข้าสังคมต่างๆ ทำให้รู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น ได้ลองเรียนรู้ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เปิดประสบการณ์การดำเนินชีวิตที่อาจไม่เคยลองมาก่อน มีหลายรายที่มุ่งหาความสำคัญ อย่าง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดแนวทางปฏิบัติใหม่เป็นวิถีชีวิตแนวออร์แกนิคไลฟ์สไตล์ มุ่งหาธรรมชาติ เน้นแนวทางเกษตรกรรม บ้างก็ทำเพราะสนใจและสนุก แต่บางรายก็ยึดจริงจังเป็นอาชีพกันเลยทีเดียว
เริ่มจาก “ป่าน-กัญภัส ศรีณรงค์” พี่คนรองของตระกูลนักดนตรีดัง ที่เจอพิษโควิด-19 เล่นงานทำให้ต้องชักชวนสามี (แชมป์-นพพล ชยานุวัฒน์) และลูกชาย ไปปักหลักพักใจที่บ้านเขาใหญ่ และที่แห่งนี้เองที่ทำให้เธอค้นพบความชอบที่ซ่อนอยู่ในหัวใจ จนยึดมาเป็นอาชีพเสริม ด้วยการหันมาทำฟาร์มออร์แกนิคภายใต้ชื่อ Wenzel Organic Farm
เธอเล่าให้ฟังว่า “เริ่มจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว การมีโควิดทำให้โรงเรียนสอนดนตรีของเราหยุดและเปลี่ยนมาเป็นสอนออนไลน์แทน ก็เลยเลือกมาใช้ชีวิตอยู่ที่เขาใหญ่ ซึ่งตอนนั้นเราก็ว่างมากเลยมาคิดกับแฟนว่าจะทำอะไรดี พอดีมีที่อยู่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านมาก เป็นที่รกร้างทิ้งไว้เฉยๆ เราจึงเกิดความคิดที่ว่าทำออร์แกนิคฟาร์มกันดีกว่า”
แม้จะมีไอเดียบรรเจิด แต่การจะลงมือทำก็ไม่ง่ายนัก ไม่มีประสบการณ์และก็ไม่แน่ใจด้วยว่าสิ่งที่คิดทำนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ทั้งคู่เชื่อว่าการคิดแล้วลงมือทำถ้าไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ได้ชื่อว่าลองทำแล้ว ดังนั้น เธอจึงส่งเสริมให้สามีไปเรียนคอร์สระยะสั้นเกี่ยวกับการเกษตร ประกอบกับการใช้ครูพักลักจำ และใจรักมาเป็นทุน
“พอคิดว่าจะทำฟาร์มออร์แกนิค 100% มันเป็นความท้าทายขึ้นมาในชีวิตเราทันที เพราะเราได้กินของดีๆ แล้วจึงอยากรู้ว่า ถ้าไม่ใส่สารเคมีเลยมันจะเป็นไปได้ไหม เราก็เริ่มคิดกันโดยเริ่มตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ และแฟนป่านเขาก็เริ่มศึกษาจากทาง YouTube ค่อยๆ ศึกษาแล้วก็ไปเรียนเกษตรหลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับการทำปุ๋ยไส้เดือน และได้ลงมือลองทำ ลองผิดลองถูกมาตลอด 2 ปี มาวันนี้ผลผลิตก็ได้ผลิดอกออกผลให้เราได้ชื่นใจ โดยมีผักประมาณ 30-40 ชนิด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผักสวนครัว อย่าง ชะอม คะน้า กวางตุ้ง พริกสด ผักชี กล้วยน้ำหว้า ผักสลัด เบบี้คอส มะเขือเทศ เชอรี่ ฯลฯ”
เธอบอกว่าไม่ได้หวังร่ำรวยจากการมายึดอาชีพเป็นเกษตรกร เพราะต้องทำใจเรื่องผลผลิตที่บางครั้งก็ไม่ได้ดั่งใจ แต่อยากให้ลูกค้าและคนที่เธอรักทุกคนได้รับประทานผักที่ปลอดสารพิษและเป็นมิตรกับสุขภาพ “เราไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเราจะพรีออเดอร์ผักทุกวันศุกร์และวันพุธ จะส่งสินค้าทางรถแช่เย็นมาส่งที่บ้านกรุงเทพฯ เพื่อมากระจายสินค้าให้ลูกค้าถึงบ้านทุกคน เพราะอยากให้คนได้รับประทานผักที่ปลอดภัย ผักของเราไม่ได้ใช้สารเคมีเลย เราดูแลตั้งแต่ลงแปลง ซื้อเมล็ดพันธุ์ พรวนดินเองเราก็เลยมั่นใจว่าสินค้าของเราปลอดภัย ผักเก็บได้นาน อาจจะไม่สวยเป็นรูบ้างแต่มั่นใจในความเป็นออร์แกนิคแท้”
เจ้าของฟาร์มคนสวยเล่าด้วยน้ำเสียงสดใสว่า การทำฟาร์มออร์แกนิคมีความท้าทายอยู่เสมอ โดยเฉพาะ มือใหม่ที่เพิ่งเข้าสังเวียนนี้ นอกจากจะมีใจรักในธรรมชาติแล้ว ยังต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอยู่เสมอ
“ตอนแรกเราคิดว่าแค่ปลูกผักรดน้ำไปมันก็คงขึ้น แต่มันไม่ใช่ เราต้องไปปรึกษาจากผู้รู้ ยิ่งถ้าจะปลูกแบบออร์แกนิค ทำเกษตรอินทรีย์ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ดิน วิจัยสภาพแวดล้อมฟาร์ม น้ำที่จะใช้รดก็ต้องดูแล ต้องขออนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร เขาต้องมาตรวจการดำเนินงานของเรา เอาผัก เอาดิน เอาน้ำไปตรวจ และเขาจะคอยดูมาตรฐานเราตลอด และตอนนี้เป้าหมายต่อไปเราก็จะขอมาตรฐานญี่ปุ่นรับรองโดยทางญี่ปุ่นเอง อันนี้ก็จะยากอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งในอนาคตมีแผนจะส่งออกไปขายต่างประเทศค่ะ”
เกษตรกรหน้าใหม่ ฝากคำแนะสำหรับคนที่อยากปลูกผักออร์แกนิคไว้รับประทานเองแต่มีพื้นที่จำกัดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การหมั่นดูแลรักษารดน้ำพรวนดินและหาข้อมูลในการดูแลใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ
“แนะนำว่าควรปลูกผักสลัดเพราะดูแลง่าย หาซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เป็นอินทรีย์ ปลูกไว้ในบ้าน สมมุติว่าถ้าผักขึ้นกอมาก็เด็ดใบข้างล่างทานก่อน ค่อยๆ เด็ดไม่ต้องไปถอนทั้งต้น เขาก็จะค่อยค่อยโต เก็บรับประทานได้เรื่อยๆ และตอนนี้เรามีโปรเจกต์ว่าอยากจะทำผักสลัดขายเป็นต้น ให้ลูกค้านำกลับไปปลูกเองได้ด้วยค่ะ อย่างถ้าปลูกในบ้านหรือในคอนโดฯ ก็ใส่ในกระถาง หรือถาดปลูกเล็กๆ หน่อยไม่ต้องใหญ่มาก ปลูกสักสี่ห้าต้นก็สามารถเด็ดรับประทานได้แล้ว มีเคล็ดลับให้รดน้ำก่อนเด็ดนะคะ ผักจะได้ไม่ขมค่ะ”
อีกหนึ่งสาวที่สนใจเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ “แวว–ธีรวัลคุ์ ปังศรีวงศ์” ได้ปรับที่ดินในจังหวัดชลบุรีของครอบครัว ที่เคยเป็นคอกม้า มาทำ Kantus Lemon Farm ฟาร์มปลูกพืชผักผลไม้ที่ปราศจากสารเคมีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งหลังจากลองผิดถูกอยู่หลายปี ก็ได้ผลผลิตที่สมบูรณ์อย่าง เลมอนพันธุ์ยูเรก้า
และในช่วงโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างหนัก ธุรกิจเครือโรงแรมก็กระเทือนไม่น้อย เธอจึงหันมาส่งเสริมธุรกิจฟาร์มนี้อย่างจริงจัง สร้างรายได้ให้พนักงานโรงแรมที่ว่างเว้นจากงานบริการ ได้มีงานทำ ที่ฟาร์มรับสั่งแบบพรีออเดอร์ และตัดส่งให้ลูกค้าแบบสดใหม่ในวันรุ่งขึ้น อย่าง น้ำเลมอนของที่ฟาร์ม ก็คั้นสดใหม่ ไม่ใส่สารกันบูด ให้ได้ดื่มรสชาติแห่งธรรมชาติอย่างสดๆ เต็มร้อย รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เลมอนแปรรูปต่างๆ อย่าง แยม น้ำสลัดเดรสซิง ฯลฯ และมีการแชร์วิธีการนำเลมอนไปปรุงเป็นเมนูของคาวหวานต่างๆ มากมาย ผ่านทาง IG ของฟาร์ม @kantuslemonfarm
ฝั่งคุณแม่ลูกสอง “เข็ม–ธีราภา พร้อมพันธุ์ ลิ่มอติบูลย์” ก็สนุกกับการพาลูกสาวตัวน้อย ชมสวนเล็กๆ ของตนเอง พร้อมเก็บผลผลิตที่ปลูกเองทั้ง ข้าวโพด มะนาว เอากลับไปรับประทานเองและเป็นของฝากเหล่าญาติมิตร คนใกล้ชิดต่างๆ
ส่วน “โบ–ชญาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์” ก็จูงมือสามี (กฤชพล เศวตนันทน์) สลัดภาพเซเลบริตีสาวเมืองกรุง ปรับลุคเป็นแนวเรียบๆ ค้นหาความสงบของวิถีชีวิตแนวธรรมชาติ บนที่ดินไม่ไกลจากเมืองกรุง ย่านหนองจอก สร้างโคก หนอง นา และเรียนรู้วิถีเกษตรอย่างยั่งยืน เรียกว่าในอนาคตมีข้าว ปลา อาหาร พืช ผัก ผลไม้ ที่ปลูกเอง เลี้ยงเอง ได้แบบสมบูรณ์ และเตรียมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดประสบการณ์ ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองไทยให้ขยายมากขึ้น
นับเป็นการดำเนินชีวิตที่แสนสงบอยู่กับสิ่งแวดล้อมดีๆ โดยเธอก็ขวนขวายหาความรู้ด้านการเกษตรอย่างไม่หยุดหย่อน อย่างที่เคยโพสต์ไอจีเล่าให้ฟังว่าหลังจากแวะเวียนไปเยี่ยมที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงย่านหนองจอก ที่เป็นเจ้าของโคกหนองนา 133 ไร่ และทีมอาสาชาวนามหานคร เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชา แนวทางพัฒนาที่ดินของในหลวงรัชกาลที่ 9
“ถึงแม้วันนี้ได้แวะไปหาแบบแป๊บเดียวเพราะช่วงโควิด แต่ก็สุขใจมากที่มีโอกาสเจออาจารย์เก่งๆ มาสอนทำนา สอนจับเสียมขุดดิน เช้านี้อาจารย์ขุดหลุมปลูกต้นหมากไป 100 กว่าต้น ใช้เวลาไม่นาน ถึงชุดโบจะไม่พร้อม อาจารย์บอกให้ลองสักนิด รู้สึกได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของเกษตรกรไทยเลยค่ะ
อีกทั้งได้ดูการเตรียมดินเพื่อปลูกข้าวปลอดสารพิษ อาจารย์ก็แนะนำเรื่องพันธุ์ปลาที่เหมาะกับการเลี้ยงเพื่อมาทำอาหาร เมื่อเรานำที่ดินมาพัฒนาให้อุดมสมบูรณ์ เราก็จะอยู่รอดปลอดภัยมีกินมีใช้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้
ก่อนกลับยังให้กล้วยน้ำว้าออร์แกนิค และต้นโปร่งฟ้า สมุนไพรไทยที่มีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ ขอบคุณทุกคนมากๆ นะคะ ดีใจที่มีเพื่อนบ้านที่มีพลังบวกมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามเพื่อสังคมไทย อีกไม่นานเราจะมีป่าใหญ่ในกรุงเทพฯ กันแล้ว ขอเป็นจิตอาสาเพื่อพัฒนาพื้นที่สีเขียวอีกแรงนะคะ”