ท่ามกลางวิกฤตการต่อสู้กับโรคระบาด ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ความต้องการในบรราเวชภัณฑ์ต่างๆ ทั้งยารักษาโรค วัคซีน และอื่นๆ ทำให้เกิดมหาเศรษฐีขึ้นในแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะมหาเศรษฐี ‘บริษัทยา’ ที่ร่ำรวยขึ้นตามกัน แต่ขอโทษนะ... อันดับต้นๆ รายชื่อไม่ได้มาจากเจ้าของบริษัทวัคซีนเทพๆ ที่เลื่องลือกันแต่อย่างใด แต่มาจากเจ้าของบริษัทยาในจีนและเอเชียเสียเป็นส่วนใหญ่
1 เจียงเหรินเชง
ร่ำรวย: 24,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กิจการ: วัคซีน
ประเทศ: จีน
เจียงเหรินเชง ประธานบริษัทผลิตวัคซีน ฉงชิ่ง จี้เฟย ไบโอโลจิคัล (จี้เฟย) ที่เพิ่งเปิดตัววัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ของจีน ที่อาศัยเทคโนโลยี โช เซลล์ ซึ่งผลิคจากรังไข่ของหนูแฮมสเตอร์ โดยอ้างว่า มีประสิทธิภาพในการป้องการเชื้อโควิด-19 ได้ดีพอๆ กับวัคซีนแบบเอ็มอาร์เอ็นเอเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากทางการจีนไฟเขียวให้ใช้วัคซีนชนิดนี้ได้ หุ้นของบริษัทจี้เฟยก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว
เจียงเหรินเชง เกิดในปี 1953 ณ หมู่บ้านชนบทห่างไกลในกวางสี เขาเรียนจบชั้นมัธยมท่ามกลางบรรยากาศของการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน แต่ในที่สุด เจียงก็เรียบจบโรงเรียนแพทย์กุ้ยหลิน (ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัยกุ้ยหลิน) ตอนอายุ 27 และได้เริ่มเข้าทำงานในศูนย์ควบคุมโรคระบาดกวนหยาง ก่อนจะย้ายไปอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตอนอายุ 46 เขาตัดสินใจเปลี่ยนสายงานครั้งใหญ่ในชีวิต ออกมาเป็นเซลส์ขายวัคซีนที่เมืองเฉิงตุ แคว้นเสฉวน ก่อนจะเข้าซื้อกิจการบริษัทผลิตวัคซีนในฉงชิ่ง และเปลี่ยนชื่อเป็น จี้เฟย ไบโอโลจิคัล โปรดักต์ส
จี้เฟย ได้สิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นแต่เพียงผู้เดียวในจีน นอกจากนี้ พวกเขายังได้เป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายวัคซีนเอชพีวี (กันมะเร็งปากมดลูก) จากบริษัทเมิร์ค ในจีนอีกด้วย ก่อนที่จะค้นพบวัคซีนโควิด-19 ชนิดใหม่ ที่ทำให้มูลค่าหุ้นของพวกเขาพุ่งขึ้นทันที 283%
2 จงฮุ่ยฮวน
ร่ำรวย: 19,700 ล้านดอลลาร์
กิจการ: บริษัทยา
ประเทศ: จีน
จงฮุ่ยฮวน ก่อตั้งและนั่งเป็นประธานบริษัทยา ฮันโซ ฟามาซูติคัล ที่เธอเป็นเจ้าของร่วมกับลูกสาว ซันหยวน เป็นกิจการที่ทำให้อดีตครูสอนวิชาเคมีกลายเป็นมหาเศรษฐีนีที่ร่ำรวยอยู่ในแถวหน้าของโลก โดยเธอคือสตรีที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของจีน ไม่นับรวมสินสมรสที่ได้จากการแต่งงานกับมหาเศรษฐีในวงการเดียวกัน อย่าง ซันเปียวหยางอีกต่างหาก
อดีตอาจารย์เคมี ที่ผันตัวมาก่อตั้งบริษัทผลิตยาหลากหลายชนิด จนเธอและสามีได้รับฉายาว่าเป็น ‘คุณและคุณนายชวาร์ตซส์ของจีน’ โดยเฉพาะยาที่ใช้รักษาโรคในระบบประสาท มะเร็ง โรคติดเชื้อ โรคทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ และโรคเบาหวาน ฯลฯ โดยบริษัทฮันโซ ฟาร์มาซูติคัล จดทะเบียนบนเกาะบริทิช เวอร์จิน ผ่านกองทุนซันไรส์ทรัสต์ ในปี 1995
จงฮุ่ยฮวน เกิดเมื่อปี 1961 ศึกษจบทางด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยเจียงชู เคยสอนวิชาเคมีในโรงเรียนมัธยมเหลียนยุงกัง ขณะที่สามีของเธอทำงานให้กับโรงงานผลิตยาของรัฐบาลที่เมืองเดียวกัน
ในปี 1995 เลิกเป็นครู หันมาก่อตั้งบริษัทยา เจียงชู ฮันโซ ฟาร์มาชูติคัล โดยกิจการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างรายได้ถึง 4.5 ล้านดอลลาร์ในเวลา 2 ปี และในปี 2016 พวกเขาได้รับเงินลงทุนจากฮิลเฮาส์ แคปิทัล กรุ๊ป ทำให้ก่อนที่จะเข้าตลาดหุ้น พวกเขาก็ระดมทุนได้ถึง 344 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มทุนจากสิงคโปร์และจีนหลายแห่ง และปัจจุบัน ฮันโซ ฟาร์มาซูติคัล ยังคงเป็นบริษัทยาที่ทรงอิทธิพลมากในจีน
3 ซันเปียวหยาง
ร่ำรวย: 18,900 ล้านดอลลาร์
กิจการ: บริษัทยา
ประเทศ: จีน
นอกจากเขาจะมีหุ้นในบริษัทของภรรยา จงฮุ่ยฮวน อย่าง ฮันโซ ฟาร์มาซูติคัลแล้ว เขายังมีหุ้นและเป็นซีอีโอของ เจียงชู เฮงรุย เมดิซีน บริษัทยายักษ์ใหญ่ของจีนที่ร่วมถือหุ้นโดยรัฐบาลจีนอีกด้วย
ซันเปียวหยาง บริหารงานที่ เจียงชู เฮงรุย เมดิซีน มานานกว่า 30 ปี ด้วยวัย 61 เขาเตรียมที่จะลงจากตำแหน่งซีอีโอ ให้คนรุ่นหลังๆ มาบริหารงานต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เขาจะขึ้นไปนั่งในตำแหน่งประธาน ด้วยหุ้นที่เขาถือมากกว่า 1 ใน 4 ส่วน
การที่ ซันเปียวหยาง ยังคงเป็นผู้อำนวยการของบริษัท และยังเป็นประธานกรรมการบริษัทจนกระทั่งทุกวันนี้ แสดงว่า เขายังเป็นมันสมองของทีมบริหารอยู่นั่นเอง
เฮงรุย เมดิซีน ส่วนใหญ่ผลิตยาในกลุ่มรักษาโรคติดเชื้อและโรคมะเร็ง (ตีโมต่างๆ) โดยขณะนี้บริษัทมุ่งเน้นทำวิจัยและพัฒนายาโดยอาศัยยีนของมนุษย์
4 เซียงจุง-จิน
ร่ำรวย: 14,200 ล้านดอลลาร์
กิจการ: บริษัทยาชีวภาพ
ประเทศ: เกาหลีใต้
เซียงจุง-จิน คือผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทยาชีวภาพ เซลล์เตรียน ที่หลังจากเกิดโรคโควิด-19 ทำให้บริษัทอายุ 14 ปีของเขา เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว
ย้อนไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว เซียงจุง-จิน ยอมเสี่ยงในการเปิดบริษัทยาที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตยาชีวภาพแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้บริษัทของพวกเขาค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ก่อนจะมีทุนใหญ่จากสหรัฐ อย่าง เร็มซิมา มาร่วมลงทุนก็ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่สักพักใหญ่ นอกจากนี้ ในการทำวิจัยและพัฒนายาแต่ละตัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตยาจากเคมี
อย่างไรก็ตาม พอมีนักลงทุนให้ความสนใจก็ดาหน้าเข้ามาเรื่อยๆ รวมทั้ง เทมาเสก จากสิงคโปร์ และอื่นๆ ซึ่งยาชีวภาพของเซลล์เตรียน มุ่งเน้นการรักษาโรคติดเชื้อชนิดต่างๆ โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ ฯลฯ โดยซีอีโอวัย 59 เตรียมจะลดบทบาทของเขาในเซลล์เตรียนไปเปิดสตาร์ทอัพแห่งใหม่ ที่ทำงานทางด้านการตรวจผลเลือด
5 ไซรัส ภูนวาลา
ร่ำรวย: 12,700 ล้านดอลลาร์
กิจการ: ผลิตวัคซีน
ประเทศ: อินเดีย
ไซรัส ภูนวาลา ก่อตั้งสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ในปี 1966 ซึ่งปัจจุบันคือฐานการผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเมื่อฤดูร้อนปีที่ผ่านมา พวกเขาเซ็นสัญญกับออกซ์ฟอร์ด-แอสตราซีเนกา ในการผลิตวัคซีน ด้วยศักยภาพเดือนละ 100 ล้านโดส
ดร.ไซรัส เกิดในครอบครัวเจ้าของฟาร์มม้าแข่งในอินเดีย ตอนที่เขาอายุ 20 เขาก็มองเห็นแล้วว่า กีฬาแข่งม้าไม่น่าจะมีอนาคตสดใสอีกต่อไป เขาจึงหันไปลงทุนในธุรกิจแรก คือธุรกิจรถยนต์ ซึ่งแม้จะเป็นไปได้สวย แต่ก็มองเห็นว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงมากๆ
หลังจากได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับบรรดาคนในแวดวงสัตว์เลี้ยง ดร.ไซรัส ก็ปิ๊งไอเดียเรื่องวัคซีนขึ้นมา โดยเขาเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว คือ วัคซีนสำหรับม้า ก่อนที่จะมีโอกาสเตรียมงานปูทางไปสู่การผลิตวัคซีนสำหรับมนุษย์
เป้าหมายในใจของ ดร.ไซรัส ภูนวาลา ก็คือ การผลิตยาที่ช่วยรักษาชีวิต ซึ่งในปี 1974 สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียได้ผลิตวัคซีน ดีทีพี ป้องกันโรคคอตีบ ตามด้วยเซรุ่มแก้พิษงู ในปี 1981 และวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันในปี 1989 โดยในปี 1994 เขาก็เริ่มได้รับอนุญาตจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนให้กับองค์กรต่างๆ ของสหประชาชาติ อย่าง ยูนิเซฟ หรือพาโฮ
รวมทั้ง วัคซีนชนิดต่างๆ โดยในปี 1998 สถาบันเซรุ่มอินเดีย ได้ส่งออกวัคซีนชนิดต่างๆ ให้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งวัคซีนป้งอกันเชื้อโปลิโอ และอื่นๆ