โรคระบาด สงคราม การเหยียดผิว ฯลฯ โลกนี้จะมีปัญหาอะไร คงไม่ใช่เรื่องของบรรดามหาเศรษฐี เพราะตอนนี้พวกเขามุ่งมั่นที่จะออกไปนอกโลก
สเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ อาจจะเป็นชื่อที่ได้ยินบ่อยที่สุด เกี่ยวกับการสำรวจอวกาศในช่วงหลังๆ นี้ ทว่า ไม่ใช่มีเพียงซีอีโอของเทสลาเท่านั้น ที่เข้ามาจริงจังด้านการเดินทางสู่อวกาศ
ยังมีผู้ก่อตั้งแอมะซอน เจ้าของตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก เจฟฟ์ เบซอส ที่ได้ก่อตั้งบริษัทวิจัยอวกาศขึ้นมาเช่นกัน โดยได้ขายหุ้นของแอมะซอนออกไปปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อที่จะปลุกปั้น บลู ออริจิน ให้เป็นจริง
ขณะที่ชื่อของ ริชาร์ด แบรนสัน และ เวอร์จิน กาแลคติก ฝันสู่การให้บริการการเดินทางในอวกาศสุดบรรเจิด ของมหาเศรษฐีเจ้าของอาณาจักรเวอร์จินชาวอังกฤษ ก็เป็นสิ่งที่เราได้ยินมาสักระยะหนึ่งแล้ว
มหาเศรษฐีรายไหนจะทำให้ฝันสู่อวกาศเป็นจริงได้ก่อนกัน...
อีลอน มัสก์
อีลอน มัสก์ ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ ในปี 2002 ก่อนที่เขาจะขึ้นเป็นซีอีโอของเทสลาเสียอีก เรียกได้ว่า เขามีตัวตนในโลกทวิตเตอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศมานานแล้ว
อีลอน ทำให้สเปซเอ็กซ์เติบโตอย่างรวดเร็ว หลังตัดสินใจส่งกระสวยอวกาศไปดาวอังคาร ซึ่ง มาร์ส โอเอซิส ได้ขนเอาเรือนกระจกสำหรับการทดลองเพาะปลูกพืช และอุปกรณ์ในการเก็บภาพบนดาวสีแดงส่งมายังโลก โดยซีอีโอเทสลา หวังจะปลุกกระแสความสนใจสำรวจดาวอังคารของรัฐบาลสหรัฐขึ้นมาอีกครั้ง
เขาทุ่มเงินไปกับโครงการนี้ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มจากพยายามซื้อยานอวกาศเก่าๆ จากรัสเซียและที่อื่นๆ มาโมใหม่ ไปๆ มาๆ ก็พบว่า ฝันของเขาช่างเป็นงบประมาณที่บานปลายไปเรื่อยๆ เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ เพื่อที่จะพัฒนายานอวกาศที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปอวกาศ
สเปซเอ็กซ์ อาศัยฮอว์ตอร์น ในแคลิฟอร์เนียเป็นฐานวิจัยและพัฒนาทางอวกาศ ซึ่งตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาประสบความสำเร็จในการปล่อยกระสวยอวกาศหลายครั้ง ทั้งการให้บริการเชิงพาณิชย์ และทำงานให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2012 ที่สเปซเอ็กซ์ กลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศระหว่างประเทศ (ISS) และในปี 2020 ยังเป็นรายแรกที่ส่งมนุษย์ขึ้นไปบนสถานีอวกาศฯ ได้สำเร็จ หลังจากที่นาซาส่งคนออกไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งสุดท้าย ในปี 1972
สเปซเอ็กซ์ ยังร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ ด้วยการเชื่อมโยงสัญญาณดาวเทียมเป็นพันๆ ดวง กลายเป็นบริการ สตาร์ลิงก์ สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ไม่ขาดการเชื่อมต่อ ระหว่างที่ใช้บริการเดินทางในอวกาศ
อีลอน มัสก์ คิดว่า อนาคตแห่งมนุษยชาติขึ้นอยู่บนโครงการของเขาบนดาวอังคาร เขาออกมาประกาศเมื่อปีก่อนว่า จะสร้างเมืองที่มีประชากร 1 ล้านคนบนดาวอังคาร ให้สำเร็จในปี 2050 ซึ่งจะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยยานสเปซเอ็กซ์ 1,000 ลำ ในการขนคนขึ้นไป
เจฟฟ์ เบซอส
ความสนใจในเรื่องอวกาศของ เจฟฟ์ เบซอส ก็มีมานานหลายสิบปีแล้วเช่นกัน โดยเขามีความเชื่อตามวิสัยทัศน์ของนักฟิลิกส์ อย่างเจอร์ราร์ด โอ’นีล ว่า สถานอวกาศลอยฟ้าจะเป็นทางรอดของมนุษยชาติ เมื่อโลกของเราต้องถึงกาลล่มสลาย
เจฟฟ์ ก่อตั้ง บลู ออริจิน ขึ้นมาในปี 2000 เพื่อตอบสนองความเชื่อของเขา และมีวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากอีลอน คือต้องการพัฒนาให้การเดินทางไปสู่อวกาศ มีค่าใช้จ่ายแบบที่จับต้องได้ และยานอวกาศต้องใช้งานได้มากกว่าการเดินทางเพียงครั้งเดียว
บลู ออริจิน อาศัย เคนต์ ในวอชิงตันเป็นฐานวิจัยแบบลับๆ มาจนกระทั่งปี 2003 เจ้าพ่อแอมะซอนถึงจะเริ่มแพร่งพรายโปรเจกต์ในใจของเขาออกมา
หลายปีแล้วที่ บลู ออริจิน คืบหน้าในการวิจัยพัฒนาวงโคจรของกระสวยอวกาศชื่อว่า นิว เชปเพิร์ด ที่จะออกมาให้บริการนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปอวกาศ ผู้โดยสารของยาน นิว เชปเพิร์ด จะได้ชมโลกที่สวยงามจากอวกาศ ผ่านหน้าต่างกระจกบานใหญ่ และจะได้สัมผัสประสบการณ์ภาวะไร้น้ำหนักระหว่างการเดินทางด้วย
เที่ยวบินแรกของบลู ออริจิน กำหนดไว้ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ โดยที่นั่งจะขายผ่านการประมูล เพื่อนำเงินไปช่วยการกุศล
บริษัทวิจัยอวกาศของแอมะซอน ยังได้พัฒนากระสวยอวกาศขนาดใหญ่ ชื่อ นิว เกล็น เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า พร้อมๆ กับการพัฒนาโปรเจกต์ลับสุดยอด นิว อาร์มสตรอง ที่ยังไม่บอกว่าเพื่ออะไร -- แต่ละชื่อล้วนให้เกียรติต่อนักบินอวกาศในตำนานของนาซา
ในปี 2019 เจฟฟ์ เบซอส แถลงแผนการส่งยาน บลู มูน ไปดวงจันทร์ ในปี 2024 โดยบอกว่า ต้องการจะตอกย้ำว่า มนุษย์เคยไปเหยียบดวงจันทร์มาแล้วจริงๆ บลู ออริจิน พยายามที่จะขอประมูลงานส่งนักบินอวกาศของนาซาไปยังดวงจันทร์ แต่ถูกสเปซเอ็กซ์ตัดหน้าไปได้
ซีอีโอแอมะซอน ออกมาประกาศลงจากตำแหน่งในปี 2021 เพื่อที่จะทุ่มเทให้กับ บลู ออริจิน อย่างเต็มตัว
ริชาร์ด แบรนสัน
สำหรับ เวอร์จิน กาแลคติก บริษัทขนส่งทางอวกาศ ของ ริชาร์ด แบรนสัน ตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจาก สเปซเอ็กซ์ และบลู ออริจิน โดยมหาเศรษฐีชาวอังกฤษมุ่งมั่นในการเป็นบริการเพื่อการท่องเที่ยวโดยแท้ ไม่ได้คิดใหญ่ว่าอวกาศคือทางรอด หรือโลกในอนาคตของมนุษย์แต่อย่างใด
ยานอวกาศของ เวอร์จิน กาแลคติก ไม่ได้ออกแบบให้พุ่งทยานขึ้นสู่อวกาศแบบคู่แข่งทั้ง 2 บริษัทก่อนหน้า แต่จะมีเครื่องนำวิถี เรียกว่า ไวต์ไนต์ทู ที่บินขึ้นไปที่ความสูง 50,000 ฟุต ก่อนที่จะปล่อยตัวจุดระเบิด ส่งกระสวยให้เดินทางพุ่งไปในอวกาศ สู่ระดับ 300,000 ฟุต
ทัวร์อวกาศของเจ้าพ่อเวอร์จิน ยังไม่เคยให้บริการใคร แต่ขายตั๋วไปแล้วถึง 600 ที่นั่ง ในราคาใบละ 200,000 - 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะพาขึ้นไปล่องลอยอยู่ในอวกาศ บินวนไปวนมา มีบริการเลาจน์สุดหรูไว้นั่งชมโลกจากอวกาศ ซึ่งตอนแรกมีแผนจะออกเดินทางในปีนี้ ทว่า เลื่อนไปเป็นปีหน้าเรียบร้อยแล้ว
ยานอวกาศของเวอร์จิน กาแลคติก ออกแบบให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งลำ รวมทั้งแหล่งพลังงานด้วย โดยบริษัทตั้งใจจะทำให้การเดินทางไปอวกาศ เป็นมิตรต่อทั้งกระเป๋าตังค์และสิ่งแวดล้อม
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เวอร์จิน กาแลคติก เพิ่งเผยโฉม วีเอสเอส อิเมจิน ยานอวกาศรุ่นที่ 3 ของพวกเขา โดยในอนาคต ริชาร์ด แบรนสัน วาดหวังเอาไว้ว่า จะเป็นผู้จัดทัวร์อวกาศเต็มรูปแบบ การเดินทางออกนอกโลก ไปพักผ่อนในโรงแรมอวกาศสุดหรู เดินทางออกไปทำวิจัย หรือทำภารกิจสำคัญในอวกาศ จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป